ในสมัยโบราณแทบทุกภาษามีคำเรียกสีเริ่มต้นจากสีขาวและสีดำ แทนความสว่างและความมืด ต่อด้วยสีแดง เหลือง เขียว ซึ่งเป็นสีของดินและพืช โดยสีน้ำเงินปรากฏขึ้นมาสุดท้าย เพราะไม่ได้มีตามธรรมชาติ อีกทั้งในสมัยโบราณ ไม่ได้มีการแบ่งคำเรียกสีที่ละเอียดเหมือนสมัยนี้ เหมือนกับที่ผู้ชายไม่สามารถบอกได้ว่าสีลิปสติกของเหล่าสาว ๆ ว่าเป็นสีอะไร ซึ่งผู้หญิงจะสามารถจำแนกเฉดสีได้มากมาย เช่น สีชมพูส้ม ชมพูโอลด์โรส ชมพูพาสเทล ในขณะที่ผู้ชายกลับมองว่า ไม่ว่าจะเฉดไหนก็สีชมพูเหมือนกันทั้งนั้น
ย้อนกลับไปสมัยปู่ย่าตายายของพวกเรา สีที่หลากหลายนี้อาจจะยังมีชื่อเรียกไม่ครบ หรือสีนั้นใกล้เคียงกันมาก จนสามารถเรียกเหมารวมว่าเป็นสีเดียวกันก็เป็นไปได้ เช่นมองว่าสีฟ้า สีน้ำเงิน และสีเขียวมีความใกล้เคียงกัน จึงเรียกเป็นสีเดียวกันว่าสีเขียว ซึ่งมรดกที่ชัดเจนที่สุดของเรื่องนี้คือ “พิมพ์เขียว” หรือแบบแพลนสร้างต่างๆ ที่มาจากภาษาอังกฤษว่า Blue Print ซึ่งแทนที่จะเรียกว่าพิมพ์น้ำเงิน แต่กลับเรียกพิมพ์เขียวมาจนติดปาก
ซึ่งปัญหาระหว่างสีเขียวและสีฟ้า-น้ำเงิน ล้วนเกิดกับหลาย ๆ ประเทศ (ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น) ส่วนใหญ่จะมีความสับสนระหว่างการเรียกสี 2 สีนี้ เพราะทุกคนรู้ภาษาอังกฤษว่าสีเขียวคือ Green และสีฟ้าคือ Blue (อย่างไทยเอง Blue ก็ยังได้ทั้งสีฟ้าและสีน้ำเงิน) แต่หากลองแยกกลุ่มของภาษาทั้งหมดบนโลก ที่ใช้เรียกสีน้ำเงินและเขียวที่ต่างกัน จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ
- กลุ่มแรก คือ กลุ่มภาษาที่แยกคำเรียกสีเขียว สีฟ้าและสีน้ำเงินอย่างชัดเจน มักจะอยู่ในโซนยุโรปเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบันไทยก็ขออยู่ในข้อนี้ด้วยนะ)
- กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มภาษาที่เรียกสีเขียวและสีน้ำเงิน ด้วยคำ ๆ เดียวกัน ส่วนมากจะเป็นแถบประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีอากาศร้อนและแสงแดดแรง โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ (Ohio University) คิดว่ารังสียูวีบีในแสงแดด อาจส่งผลทำให้เลนส์ตาเสื่อมจึงมองเห็นสีน้ำเงินได้น้อยลง
- กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่เรียกสีน้ำเงินว่า สีมืด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดออกมายืนยันว่าทำไมถึงเรียกสีมืด
นี่ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นผู้ใหญ่หลายคนเรียกสีน้ำเงินเป็นสีเขียว เพราะนอกจากความใกล้เคียงระหว่าง 2 สีนี้แล้ว อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ ในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีสีน้ำเงิน และสีจริง ๆ จะมีชื่อเรียกแค่ 2 สีเท่านั้น คือ สีที่ออกโทนเย็นจะเรียกว่า สีเขียว หากสีที่ออกไปทางโทนร้อนจะเรียกว่า สีแดง ซึ่งเราจะเห็นว่าบางครั้งผู้ใหญ่หลาย ๆ คน ก็จะเรียกสีส้มว่าสีแดงด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส