‘มหกรรมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 18 ประจำปี 1964’ ‘โตเกียวโอลิมปิก 1964’ (Tokyo Olympics 1964) นั้นถือเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญสำหรับประเทศญี่ปุ่น เพราะนอกจากว่าจะเป็นการจัดแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และครั้งแรกในทวีปเอเชียแล้ว ยังถือเป็นการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นนั้นกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ย่อยยับของบ้านเมือง และการเสียเอกราชไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ในที่สุดญี่ปุ่นก็ได้รับการเลือกให้เป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหมายในการเร่งเดินหน้าพัฒนาทรัพยากรพื้นฐานของประเทศให้ทันสมัยในสายตาชาวโลก จากภาพลักษณ์เมืองที่แสนจะเสื่อมโทรมจากขยะและมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมในโตเกียว
และถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ‘รถไฟชิงคังเซ็น’ รถไฟความเร็วสูงที่มีการเปิดตัว 9 วันก่อนพิธีเปิดโอลิมปิก หรืออีกสิ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่ามาจากโอลิมปิกครั้งนี้ก็คือ ‘อาหารแช่แข็ง’ หรือ ‘Frozen food’ นั่นเอง ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพครั้งแรก นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนโตเกียวให้สะอาดและทันสมัยแล้ว ยังต้องเตรียมต้อนรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่กว่า 7,000 คนอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีการเตรียมอาหารให้เพียงพอสำหรับหมู่บ้านโอลิมปิกด้วย แถมนักกีฬาก็จำเป็นต้องได้รับแคลอรีต่อวันมากเป็น 2 เท่าของคนทั่วไปอีกต่างหาก
เจ้าหน้าที่เตรียมอาหารจึงจำเป็นจะต้องเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารต่อวันเป็นจำนวนมหาศาล อาทิ เนื้อสัตว์ประมาณ 15 ตัน ผักประมาณ 6 ตัน ไข่ 29,000 ฟองต่อวัน เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า การจะต้องไปซื้ออาหารสดมาทำอาหารแบบวันต่อวันก็อาจทำให้เกิดกระทบในด้านต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้เอง เชฟ ‘โนะบุโอะ มุระกะมิ’ (Nobuo Murakami) Executive Chef ด้านอาหารฝรั่งเศสแห่งโรงแรมอิมพีเรียล (Imperial Hotel) หนึ่งในหัวหน้าเชฟที่ดูแลโรงอาหารในหมู่บ้านโอลิมปิก ที่ได้มีโอกาสไปดูงานในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งก่อนที่จัดขึ้นที่ประเทศอิตาลีในปี 1964 มุระกะมิในเวลานั้นเห็นว่า การนำเอาวิธีการทำอาหารแช่แข็งมาประยุกต์ใช้ในโอลิมปิก จะช่วยให้สามารถจัดเก็บวัตถุดิบได้เป็นจำนวนมาก และไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารมาตุนคราวละมาก ๆ จนอาจทำให้ราคาสูงขี้นจากการขาดแคลน
เทคโนโลยีการทำอาหารแช่แข็ง ซึ่งใช้การลดอุณหภูมิน้ำในอาหารลงจนถึงจุดเยือกแข็ง เพื่อหยุดปฏิกิริยาทางเคมี และหยุดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารภายใต้อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ในเวลานั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าตู้เย็นอุตสาหกรรมในเวลานั้นสามารถทำความเย็นได้มากสุดแค่ -15 องศาเซลเซียส เชฟมุระกะมิในเวลานั้นจึงได้ร่วมมือกับบริษัทห้องเย็น ‘นิปปง ไรโซะ’ (Nippon Reizo Co. ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Nichirei’) ในการวิจัยคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็งขึ้นเพื่อให้เก็บรักษาอาหารไว้ได้อย่างยาวนาน เก็บไว้ได้ในอุณหภูมิของตู้เย็นอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือต้องมีคุณภาพและรสชาติใกล้เคียงอาหารสดให้ได้
หลังจากการทำงานร่วมกัน ในที่สุด เชฟมุระกะมิก็ประสบความสำเร็จในการแช่แข็งอาหารชนิดต่าง ๆ ด้วยการคิดค้นวิธีการแช่แข็งวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นผักที่แช่แข็งได้ยากเช่นผักโขม ที่ต้องต้มก่อนหนึ่งนาที ก่อนจะนำไปแช่ในน้ำเย็นแล้วจึงนำไปแช่แข็ง ส่วนเนื้อตุ๋นต้องถูกแช่แข็งอย่างรวดเร็วหลังปรุงรส รวมทั้งมันฝรั่งแช่แข็ง ที่เขาค้นพบว่า เมื่อเอามาต้มในน้ำเดือดอีกครั้ง นอกจากจะไม่สูญเสียเนื้อสัมผัสแล้ว ยังมีรสชาติที่ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
นอกจากนั้นแม้แต่ข้าว ราเม็งปรุงสำเร็จ ปลา หรือซูชิ ก็สามารถแช่แข็งได้โดยที่แทบไม่เสียรูปทรง รสชาติ และคุณค่าทางอาหาร อีกทั้งอาหารแช่แข็งยังช่วยลดระยะเวลาการจัดเตรียมและจัดแต่งอาหารในหมู่บ้านโอลิมปิกลงได้อย่างมาก
และเพื่อเป็นการยืนยันว่า การเสิร์ฟอาหารแช่แข็งในหมู่บ้านโอลิมปิกนั้นเป็นไปได้ ทีมงานของเชฟมุระกะมิจึงได้จัดงานเลี้ยงเล็ก ๆ ในหมู่บ้านโอลิมปิกขึ้นในปี 1963 โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูง และนาย ‘เอซะกุ ซาโตะ’ (Eisaku Sato) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบการดูแลการจัดแข่งขันโอลิมปิกเข้าร่วมด้วย โดยได้มีการเสิร์ฟเมนูทั้งเนื้อย่าง ผัก กุ้งล็อบสเตอร์ ที่ส่วนหนึ่งเป็นอาหารแช่แข็งให้แก่ผู้จัดเลี้ยงโดยไม่บอกล่วงหน้า พบว่าแขกในงานนั้นรวมถึงนายซาโตะ ต่างเพลิดเพลินกับอาหารต่าง ๆ โดยที่แยกความแตกต่างแทบไม่ออกว่าอันไหนเป็นอาหารสด อันไหนเป็นอาหารแช่แข็ง
หลังการแข่งขันโอลิมปิกจบลง รัฐบาลญี่ปุ่นจีึงได้เริ่มต้นนโยบายในการพัฒนาการแช่แข็งอาหาร เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบอาหารของประเทศเอาไว้ด้วยวิธีการแช่เยือกแข็ง และมีการคิดค้นเทคโนโลยีการแช่แข็งอาหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารภายในประเทศให้ดีขึ้น
จึงนับได้ว่า โตเกียวโอลิมปิก ปี 1964 คือเหตุการณ์ที่ทำให้อาหารแช่แข็งกลายเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป และกลายมาเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นที่เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส