จำนวนเดือนทั้ง 12 เดือนบนปฏิทิน แบ่งออกเป็นเดือนที่มี 31 วัน (ที่ลงท้ายด้วย ‘คม’) 7 เดือน และเดือนที่มี 30 วัน (ที่ลงท้ายด้วย ‘ยน’) 4 เดือน และเดือนที่ไม่เหมือนใครเลยคือ กุมภาพันธ์ ที่มีเพียง 28 วัน (หรือ 29 วัน) รวม 365 วันในหนึ่งปี (หรือ 366 วัน ในปีอธิกสุรทินซึ่งเวียนมาทุก ๆ 4 ปี) ถ้ามองดูเผิน ๆ จะเห็นหลักการว่า เดือนที่มี 31 วัน สลับกับเดือนที่มี 30 วัน แต่หลายคนคงสงสัยว่าทำไม ‘กรกฎาคม’ และ ‘สิงหาคม’ ถึงเป็น 2 เดือนที่มี 31 วันติดกัน
หากจะเล่าเรื่องนี้ต้องย้อนความกลับไปตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่ปฏิทินที่ชาวโรมันใช้ในตอนนั้นมีเพียง 10 เดือน โดยให้เดือนมีนาคมเป็นเดือนแรก (เพราะชาวโรมันให้ความเคารพ Mars เทพเจ้าแห่งสงคราม) โดยในแต่ละเดือนจะมี 30 และ 31 วันสลับกันไป จนถึงเดือนสุดท้ายคือเดือนธันวาคม รวมจำนวนวันทั้งหมด 304 วัน
แต่เมื่อชาวโรมันใช้ปฏิทินนี้ไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มสังเกตว่าฤดูกาลไม่ตรงตามปฏิทิน จนมาถึงสมัยกษัตริย์นูมา ปอมปิเลียส (Numa Pompilius) ช่วงราว 700 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงกำหนดให้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 2 เดือน คือเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์เข้าไป โดยกำหนดให้เดือนมกราคมมี 31 วัน และเดือนกุมภาพันธ์มี 30 วัน จำนวนวันในหนึ่งปีจึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 355 วัน
ปฏิทินนี้ถูกใช้มาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในสมัยกษัตริย์จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ช่วงราว 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงได้มีการปรับปฏิทินใหม่ที่เรียกว่า ‘ปฏิทินจูเลียน’ (Julian Calendar) โดยปรับให้เดือนมีนาคม มี 31 วัน (จากเดิม 30 วัน) และเดือนต่อไปมี 30 วันสลับไปเรื่อย ๆ จนมาถึงเดือนสุดท้ายกุมภาพันธ์ ที่ให้มีเพียง 29 วัน รวมเป็น 365 วัน แต่ถ้าปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินซึ่งมี 366 วัน (ทุก ๆ สี่ปี) เดือนกุมภาพันธ์จะมี 30 วัน
จากนั้นเมื่อกษัตริย์ออกัสตัส ซีซาร์ (Augustus Caesar) บุตรบุญธรรมของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน เขาต้องการให้มีชื่อตัวเองในปฏิทินด้วย จึงเปลี่ยนชื่อเดือนสิงหาคมจากเซกติลิส (Sextillis) ให้เป็นออกัส (August) ทีนี้เดิมทีเดือนสิงหาคมมี 30 วัน (มิถุนายน 30, กรกฎาคม 31, สิงหาคม 30, กันยายน 31) แต่ออกัสตัสไม่ต้องการให้เดือนของตนเองมีจำนวนวันน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม (July) ที่ตั้งชื่อขึ้นเพื่อจูเลียส (Julius) บิดาบุญธรรม จึงดำริให้ทั้งเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม มี 31 วันเท่ากัน และไปลดจำนวนวันในเดือนกุมภาพันธ์ให้เหลือเพียง 28 วันในปีปกติสุรทิน และ 29 วันในปีอธิกสุรทินนั่นเอง
แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะทำให้เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน มี 31 วันติดกันสามเดือน จึงปรับใหม่ให้กันยายนมี 30 วัน ตุลาคมมี 31 วัน พฤศจิกายนมี 30 วัน และนั่นทำให้ธันวาคมและมกราคม เป็นอีกสองเดือนที่มี 31 วันต่อกัน (ในสมัยก่อนที่เริ่มต้นนับมีนาคมเป็นเดือนแรก)
ปฏิทินนี้ถูกเรียกว่า ‘ปฏิทินเกรกอเรียน’ (Gregorian Calendar) ที่ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส