การที่คนรักกันจนถึงขั้นยอมเสียสละอวัยวะส่วนหนึ่งให้แก่กันได้ แม่มอบให้ลูก สามีภรรยามอบให้กัน ก็เป็นเรื่องปกติที่มีให้พบเห็นได้บนโลกเรา เรื่องที่จะเล่านี่ก็คงจะเป็นอีกเรื่องที่ปกติดังว่า ถ้าไม่เพียงเพราะว่าชีวิตสมรสของคู่นี้ดันจบลงไม่สวย ฝ่ายสามีที่เคยบริจาคไตให้ภรรยาสุดที่รัก ก็เลยยื่นฟ้องศาลขอทวงไตคืนจากภรรยา มันก็เลยกลายเป็นเรื่องแบบว่า…………แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ?
คดีประหลาดนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2009 ในกรุงนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา และกลายเป็นข่าวทั้งหน้าหนังสือพิมพ์และบนโลกออนไลน์ที่ฮือฮาอยู่ระยะสั้น ๆ ในวันนั้น เรื่องราวของ ดร.ริชาร์ด บาทิสทา (Richard Batista) วัย 49 ปี ศัลแพทย์ทางด้านหัวใจและหลอดเลือดผู้มีชื่อเสียงในแถบลอง ไอส์แลนด์ คุณหมอริชาร์ดมีการศึกษาดี จบการศึกษาจากคอร์เนลล์ มีครอบครัวที่ดูมีอบอุ่นมีความสุข มีภรรยาที่รักและมีลูกด้วยกันถึง 3 คน ชีวิตครอบครัวมาถึงภาวะตึงเครียดในปี 2001 เมื่อ ดอว์เนลล์ บาทิสทา วัย 44 ปี ผู้เป็นภรรยาป่วยเป็นโรคไตวาย หนทางเดียวที่จะรักษาชีวิตของภรรยาผู้เป็นที่รักไว้ได้ ดร.ริชาร์ดจึงตัดสินใจบริจาคไตของตัวเองให้ดอว์เนลล์
เหมือนโชคชะตาเล่นตลก ดร.ริชาร์ดช่วยชีวิตดอว์เนลล์ไว้ได้ แต่ไม่สามารถรักษาสถานะชีวิตสมรสไว้ได้ ผ่านมาได้ 4 ปี ดอว์เนลยื่นฟ้องหย่า ส่วนคุณหมอริชาร์ดก็กล่าวหาว่าดอว์เนลล์คบชู้
“มันไม่มีอะไรที่จะเจ็บปวดไปกว่าการที่ถูกทรยศหักหลังจากคนที่คุณรักถึงขั้นยอมสละชีวิตให้ได้หรอก”
คุณหมอริชาร์ดกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ย้อนไปถึงอดีตรักของริชาร์ดกับดอว์เนลล์เสียหน่อย ทั้งคู่นี้แรกพบกันในปี 1990 ตอนนั้นคุณหมอริชาร์ดเป็นแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยแนสซอ ส่วนดอว์เนลล์นั้นมาเป็นพยาบาลฝึกหัด ทั้งคู่ตกหลุมรักกันแล้วก็ตกลงปลงใจแต่งงานกันในเดือนสิงหาคม 1990 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันถึง 3 คน ทั้งคู่รักใคร่กันดี จึงเป็นเหตุที่ว่าทำไมคุณหมอริชาร์ดถึงไม่ต้องใคร่ครวญนานเลยเมื่อตัดสินใจบริจาคไตให้กับดอว์เนลล์เพื่่อช่วยชีวิตเธอ
“เธอเป็นภรรยาของผม มันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดแล้วที่ผมจะต้องช่วยชีวิตเธอ การได้ช่วยชีวิตเธอก็เหมือนกับได้รักษาอนาคตไว้ให้กับลูก ๆ ด้วย แล้วผมก็แอบหวังไว้ในใจลึก ๆ เสมอว่าเรื่องนี้มันจะช่วยรักษาชีวิตคู่ของเราไว้ได้”
คุณหมอยังเผยอีกว่า ในช่วงนั้นชีวิตคู่ของเขาและภรรยาก็อยู่ในสถานะลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่แล้ว เหตุเพราะความตึงเครียดในครอบครัวจากอาการป่วยของดอว์เนลล์
“หลังบริจาคไตให้เธอไปแล้ว วันรุ่งขึ้นพอผมสามารถเดินได้แล้ว ผมก็เดินไปเยี่ยมเธอในห้องพักฟื้น บอกได้เลยว่าผมไม่เคยมีความรู้สึกดีเท่านี้มาก่อนแล้ว”
แล้วชีวิตคู่ของทั้งคู่ก็เป็นอันสิ้นสุด เมื่อดอว์เนลล์ยื่นฟ้องหย่าในปี 2005 ส่วนคุณหมอริชาร์ดก็แฉกลับว่าเหตุมาจากดอว์เนลล์นั้นคบชู้แล้วยังขับไล่เขาออกจากบ้านราคาหลักล้านเหรียญอีกด้วย คุณหมออ้างว่าที่เขาฟ้องร้องเธอกลับเพื่อเรียกคืนไตจากเธอนั้น เพราะต้องการแก้แค้นที่ดอว์เนลล์กีดกันไม่ให้เขาได้เจอกับลูก ๆ ทั้งสามคน ที่อายุ 8, 11 และ 14 ขวบในวันนั้นที่ถูกฟ้องหย่า
“ผมเป็นฝ่ายช่วยชีวิตเธอไว้แท้ ๆ เลยนะ การหย่ากันครั้งนี้เท่ากับฆ่าผมทั้งเป็น”
โดมินิก บาร์บารา ทนายของคุณหมอริชาร์ด ได้อ้างกับศาลว่าลูกความของเขาต้องการไตคืนในฐานะที่เป็นสินสมรส หรือไม่เช่นนั้นก็ให้ชำระคืนเป็นตัวเงิน ที่คุณหมอประเมินมูลค่าไว้ที่ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เรื่องนี้ก็เลยเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากสังคม ถึงขั้น อาร์เธอร์ แคปแลน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจริยธรรมแพทย์ต้องออกมาให้ความเห็นว่านี่เป็นคดีที่ไม่มองอย่างไรคุณหมอริชาร์ดก็ไม่มีทางชนะ ไม่ว่าจะได้ไตคืนหรือได้เงิน
“เรื่องนี้มันอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า เป็นไปไม่ได้ กับเป็นไปไม่ได้อย่างที่สุด”
โรเบิร์ต วีทช์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจริยธรรมแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เป็นอีกคนที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้
“มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะ ที่จะตีค่าอวัยวะมนุษย์”
ตามตัวบทกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า อวัยวะมนุษย์ไม่สามารถซื้อหรือขายได้ การบริจาคอวัยวะถือเป็นการมอบให้กันที่ถูกต้องตามกฎหมาย
“ตอนนี้ต้องถือว่าไตเป็นของเธอไปแล้ว การจะไปผ่าเอาไตของเธอออกมา นั่นเท่ากับว่าเธอต้องผ่านกระบวนการ dialysis (การกรองของเสียจากเลือดของคนไข้) และนั่นจะเป็นการฆ่าเธอ”
ในที่สุดศาลเมืองเคาน์ตี้ก็มีผลการพิพากษา โดย เจฟฟรีย์ กร็อบ ผู้พิพากษาคดีเกี่ยวกับการสมรส ได้ลงความเห็นว่าไตได้ถูกมอบให้กันในรูปแบบของกำนัล และการที่คุณหมอริชาร์ดเรียกเงินเป็นค่าทดแทนอวัยวะมนุษย์นั้นถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
“เราพึงพอใจกับผลการตัดสินมาก”
ดักลาส โรธคอปฟ์ ทนายของดอว์เนลล์กล่าว อวัยวะมนุษย์ไม่ใช่สินค้าที่จะซื้อหรือขายกันได้”
ถึงแม้จะไม่ได้ไตคืน แต่โดมินิก บาร์บารา ทนายของคุณหมอก็ยังมองว่าเป็นชัยชนะของทางฝั่งตนอยู่ดี เพราะผลการพิพากษายกประโยชน์ให้ทางฝั่งตนว่า การบริจาคอวัยวะสามารถนำมาคำนวณเป็นมูลค่าตอนแบ่งทรัพย์สินกันได้อยู่ดี