ในช่วง 2 วันนี้ หลายคนคงได้เห็นภาพข่าวชาวอัฟกันจำนวนมากหนีตายออกจากประเทศ หลังกองกำลังตาลีบันเข้ายึดอำนาจได้สำเร็จ ภาพอันน่าสะเทือนใจคือมีผู้หนีตายอย่างน้อย 3 รายที่แอบเกาะไปกับเครื่องบินทหารสหรัฐฯ แล้วต้องร่วงหล่นลงสู่พื้นดินเบื้องล่าง นี่ไม่ใช่ภาพเหตุการณ์ปกติที่จะพบเห็นได้บนโลกเราในทุกวันนี้ ครั้งสุดท้ายที่เคยมีข่าวเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ ก็ต้องย้อนไปในอดีตเมื่อ 51 ปีก่อนนู่นเลย เหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 1970 ผู้เคราะห์ร้ายมีนามว่า คีธ แซปส์ฟอร์ด (Keith Sapsford) เด็กชายชาวออสเตรเลียนวัย 14 ปี แอบเล็ดลอดเข้าไปในลานบินของสนามบินซิดนีย์ได้สำเร็จ แล้วก็ปีนไปซ่อนตัวในเครื่องบินที่กำลังจะมุ่งหน้าไปกรุงโตเกียว และนั่นคือการตัดสินใจที่ผิดพลาดเป็นครั้งสุดท้ายของหนูน้อยคีธ ที่เขาไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว

คีธ แซปส์ฟอร์ด หนุ่มน้อยผู้รักการเผชิญโลกกว้าง

คีธ แซปส์ฟอร์ด เกิดเมื่อปี 1956 เขาเติบโตมาในย่านแรนด์วิก แถบชานเมืองของนครซิดนีย์ พ่อของเขาคือ ชาร์ล แซปส์ฟอร์ด เป็นวิศวกรเครื่องยนต์และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ชาร์ลรู้จักนิสัยของคีธ ลูกชายของเขาดี ชาร์ลบอกว่าคีธเป็นเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็น เป็นเด็กที่ไม่ชอบอยู่กับที่ กระตือรือร้นที่อยากจะไปท่องเที่ยวตลอดเวลา ซึ่งพ่อและแม่ก็ตามใจคีธพอควร พาคีธไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยครั้งมาก พอกลับมาถึงบ้านที่แรนด์วิก คีธก็เริ่มยอมรับความจริงไม่ได้ว่าการท่องเที่ยวของเขาได้จบลงแล้ว เขาไม่อยากที่จะอยู่กับบ้านในออสเตรเลีย ถึงตรงนี้พ่อกับแม่เล็งเห็นแล้วว่าควรจะพอกันทีกับการตามใจคีธ แล้วตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้ระเบียบวินัยเข้ามาจัดการกับคีธ เพราะหวังว่าลูกชายจะได้เติบโตเข้าที่เข้าทางแบบเด็กทั่วไปเสียที แล้วพ่อกับแม่ก็เจอว่าใกล้บ้านนั้นมีโรงเรียนแคธอลิก ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษกับการจัดการเด็กที่มีปัญหา ทั้งพ่อกับแม่จึงเห็นพ้องกันว่านี่คือแนวทางที่เหมาะที่สุดกับคีธ

สนามบินซิดนีย์ในยุค 70s

แต่โรงเรียนแคธอลิกนี้อาจจะควบคุมจัดการเด็กทั่วไปได้ แต่ไม่ใช่กับคีธ หลังจากเขาเข้าไปอยู่ในโรงเรียนนี้ได้เพียง 2 สัปดาห์ คีธก็สามารถหลบหนีออกจากโรงเรียนได้อย่างง่ายดาย ด้วยความมุ่งหวังเดิม ๆ ที่จะออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ถึงรอบนี้พ่อกับแม่จะไม่พาไป เขาก็จะไปด้วยตัวของเขาเอง และที่เดียวที่จะพาเขาออกไปจากออสเตรเลียได้ นั่นก็คือสนามบิน ข้อสงสัยเดียวที่ไม่มีใครตอบได้ก็คือ คีธรู้หรือไม่ว่าเครื่องบินลำที่เขาแอบปีนเข้าไปทางช่องเก็บล้อนั้น จะมุ่งหน้าไปโตเกียว หรือเขาคิดแค่เพียงว่าจะแอบเข้าเครื่องบินลำไหนไปก็ได้

เด็กชายผู้ร่วงหล่นจากฟากฟ้า

ภาพเต็ม ๆ วินาทีที่ร่างของคีธ แซปส์ฟอร์ด ร่วงจากเครื่องบิน

หลังหนีออกจากโรงเรียนมาได้ ไม่มีใครรู้ว่าคีธไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน แต่หลังจากนั้น 2 วันเขาถึงไปอยู่ที่สนามบินซิดนีย์ ต้องเข้าใจก่อนว่าระบบระเบียบควบคุมความปลอดภัยในยุคเมื่อ 50 ปีก่อนนั้น ไม่ได้เข้มงวดเหมือนทุกวันนี้ นั่นจึงเป็นเหตุให้คีธแอบเข้าไปถึงลานบินได้โดยง่าย พอไปถึงลานบินแล้ว คีธก็มองเห็นเครื่องบิน DC-8 ลำหนึ่งอยู่ในสถานะเตรียมพร้อมจะบินออก เห็นช่องที่ใต้ท้องเครื่องบินสำหรับเก็บล้อเปิดอยู่ คีธจึงปีนเข้าไปซ่อนตัวในช่องนั้น คีธซุกตัวรออยู่ในนั้นประมาณ 2-3 ชั่วโมงได้กว่าที่เครื่องบินจะเริ่มบินขึ้น ด้วยแผนการที่คิดง่าย ๆ แบบเด็กชายคนหนึ่ง เขาจะแอบซ่อนตัวอยู่ในนี้จนเครื่องบินถึงจุดหมายปลายทาง แล้วช่องนี้เปิดออกอีกครั้ง เขาก็จะแอบออกไปโดยไม่มีใครเห็น เหมือนตอนที่เขาเข้ามา แต่โลกความเป็นจริงมันไม่สวยหรูแบบนั้น ขั้นตอนที่คีธไม่เคยรู้มาก่อนเลยก็คือ เมื่อเครื่องบินยกตัวพ้นจากลานบินแล้ว ช่องเก็บล้อก็ถูกเปิดออกอีกครั้ง เพื่อจะเก็บล้อกลับเข้าที่ในช่องนี้ และนี่คือวินาทีที่ชะตาชีวิตของคีธได้จบสิ้นลง พอช่องนี้เปิดออก ร่างของคีธก็ร่วงลงสู่พื้นดิน 60 เมตรเบื้องล่าง ร่างของเขากระแทกพื้น เสียชีวิตทันที

เครื่องบินรุ่น DC-8

“ลูกชายผมต้องการเพียงอย่างเดียวนั่นก็คืออกไปดูโลกกว้าง เขาคันมือคันเท้าอยู่ตลอดเวลา เขาคิดอยู่อย่างเดียวว่าชีวิตเขาจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อได้เห็นว่าคนทั่วโลกเค้ามีชีวิตความเป็นอยู่กันอย่างไร”
ชาร์ล แซปส์ฟอร์ด เล่าถึงลูกชาย

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ก็ทำการตรวจสอบเครื่องบินลำที่คีธแอบซ่อนตัว แล้วก็พบหลักฐานมากมายว่าคีธมาซ่อนตัวอยู่ในช่องเก็บล้อทั้งรอยนิ้วมือ รอยเท้า และเส้นด้ายจากเสื้อผ้าของคีธ ผู้เชี่ยวชาญการบินยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เป็นไปไม่ได้ที่เด็กชายจะมีชีวิตไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ต่อให้เขาไม่ร่วงหล่นลงมาเสียชีวิต คีธก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้อยู่ดี เพราะถ้าเขาไม่หนาวตายจากอากาศที่ลดต่ำจนถึงจุดเยือกแข็งเพราะวันนั้นคีธสวมแค่กางเกงขาสั้นและเสื้อยืดแขนสั้น หรือไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องขาดออกซิเจนตายอยู่ดี

หลังเหตุการณ์

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบช่องเก็บล้อ ที่คีธแอบซ่อนตัว

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง จอห์น กิปลิน (John Gilpin) ช่างภาพสมัครเล่นผู้พิศมัยการถ่ายภาพเครื่องบิน ก็เดินเตร็ดเตร่อยู่ที่สนามบินซิดนีย์ด้วย ในวันนั้นเขาวางแผนไว้ว่าจะถ่ายภาพเครื่องบินให้ได้มุมสวย ๆ สักลำ สองลำ เขาก็แหงนกล้องขึ้นฟ้า บันทึกภาพเครื่องบินในขณะเหินขึ้นฟ้า หรือร่อนลงจอดโบราณ กิปลินไม่รู้หรอกว่าเขาได้บันทึกภาพที่กลายเป็นหนึ่งในภาพสะเทือนใจระดับโลกไปแล้ว

ผ่านไปได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ กิปลินถึงได้อัดภาพถ่ายของเขาออกมาดู ระหว่างที่ดูภาพที่ตัวเองถ่ายอยู่นั้น เขาก็สังเกตเห็นว่ามีร่างของเด็กชายลอยอยู่กลางอากาศ ในทิศทางที่เอาเท้าชี้ลงพื้น ส่วนแขนกางออกกว้างในทีว่าพยายามจะคว้าหาที่ยึดเหนี่ยวไว้ ภาพนั้นถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง กลายเป็นอีกภาพคลาสสิกที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนับแต่นั้น

องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (The U.S. Federal Aviation Authority) ได้เผยแพร่บันทึกสำคัญในวงการบินออกมาเมื่อปี 2015 ว่าพบผู้รอดชีวิตเพียงรายเดียว จาก 4 รายที่พยายามแอบซ่อนตัวมาในเครื่องบิน และรายที่รอดชีวิตมาได้นั้นก็เพราะเขาซ่อนตัวมาในเครื่องบินที่บินระยะสั้น และบินในระดับเพดานบินต่ำ

ในปี 2015 ก็มีเหตุการณ์ผู้ชาย 2 คนแอบซ่อนมาในเครื่องบิน ไฟลต์จากกรุงโยฮันเนสเบิร์ก มุ่งหน้าไปลอนดอน ผลปรากฏว่ารอดชีวิต 1 เสียชีวิต 1 แต่รายที่รอดก็รอดมาในสภาพปางตาย เคราะห์ดีที่ได้รับการช่วยเหลือชีวิตทัน
ส่วนในปี 2000 ก็มีผู้แอบซ่อนมาในเครื่องบินไฟลต์ที่มาจากตาฮิติ มุ่งหน้ากรุงลอสแองเจลิส รายนี้รอดชีวิตแต่ก็อยู่ในสภาพอุณหภูมิร่างกายลดต่ำถึงขั้นรุนแรง

สถิติโดยรวมบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่ปี 1947 ถึง 2012 มีคนแอบซ่อนมาในช่องเก็บล้อเครื่องบินมาแล้วถึง 96 คน ในจำนวน 85 เที่ยวบิน เสียชีวิตไป 73 คน รอดชีวิตมาได้เพียง 23 คน

อ้างอิง