เมื่อได้ยินคำว่าเจ้าหญิง เจ้าชาย หรือสมาชิกในราชวงศ์ ภาพในความคิดของเราคือ บุรุษและสตรีผู้ทรงศักดิ์ ซึ่งน่าจะมีชีวิตที่สุขสบาย เพราะมีทั้งทรัพย์สินเงินทองมหาศาล มีอาหารการกินที่ดี อาศัยอยู่ในปราสาทราชวังและมีข้ารับใช้มากมาย แต่ในความเป็นจริงนั้นบรรดาราชวงศ์ที่มีมาแทบในทุกประเทศไม่ว่าจะยุโรปหรือเอเซีย ที่สืบเชื้อสายมายาวนานนับร้อยปี ชีวิตจริงของท่านเหล่านี้ก็ไม่ได้มีชีวิตที่สวยหรูเหมือนอย่างภาพที่เราเห็นในหนังหรือละครเสมอไป ดังเช่นเรื่องราวของ ‘พระนางซีซี่’ ที่หยิบยกมาเล่านี้ ชีวิตของพระองค์ต้องสมรสกับบุรุษที่เธอไม่ได้รัก เสียใจจากเหตุที่พระโอรสของตัวเองมาฆ่าตัวตาย จนมีอาการทางจิต ทำให้พระองค์ต้องเดินทางท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ แต่สุดท้ายก็ถูกปลงพระชนม์

เอลิซาเบธ อมาลี ออยเยนี ดัชเชสในบาวาเรีย

ซีซี่ เป็นพระนามลำลองของ เอลิซาเบธ อมาลี ออยเยนี ดัชเชสในบาวาเรีย (เยอรมัน: Elisabeth Amalie Eugenie, Herzogin in Bayern) เป็นเจ้าหญิงเยอรมันจากราชวงศ์วิทเทิลส์บัคแห่งดัชชีบาวาเรีย ประสูติเมื่อปี 1837 ในเมืองมิวนิก เยอรมนี พระองค์มีพระเชษฐา 2 พระองค์ พระเชษฐภัคินี 1 พระองค์ พระอนุชา 2 พระองค์ และพระขนิษฐา 3 พระองค์

ซีซี่ทรงโปรดการขี่ม้าและปีนเขา ตามอย่างพระบิดา ดยุกแมกซิมิเลียน โจเซฟ ที่ชอบอะไรที่โลดโผน นอกจากนั้นพระองค์ยังสืบทอดแนวคิดจากพระบิดาในด้านอุดมการณ์ทางประชาธิปไตย และแนวคิดต่อต้านสงคราม ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดแปลกในหมู่ราชวงศ์ชั้นสูงในยุคนั้น ส่วนพระมารดา เจ้าหญิงลูโดวิกา ก็ปลูกฝังแนวคิดในการรักความเป็นส่วนตัวและไม่โปรดกับการออกไปทำงานสังคม ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ดูขัดกับตำแหน่งหน้าที่ในฐานะพระราชินีของเธออย่างมาก

ซีซี่ไม่ได้ใช้ชีวิตวัยสาวอยู่กับพระบิดาและพระมารดาเพราะต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสตั้งแต่พระชนมายุได้เพียง 16 ชันษาเท่านั้น แต่ด้วยภาระหน้าที่ของพระธิดาในราชวงศ์วิทเทิลส์บัค เธอจำต้องกล้ำกลืนทำตามพระประสงค์ของพระบิดาที่ต้องการให้ตระกูลได้เกี่ยวดองกับราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ระดับต้น ๆ ของยุโรป เพราะว่าพระสวามีของเธอคือ ฟรานซ์ โจเซฟ ผู้มีพระชนมายุ 23 ชันษานั้นมาจากราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ในยุโรปรองลงมาจากราชวงศ์ในรัสเซียเท่านั้น ซึ่งเดิมทีนั้นทั้ง 2 ครอบครัวได้จับคู่ให้ ฟรานซ์ โจเซฟ กับ ดัชเชสเฮเลน พระเชษฐภัคินีของซีซี่ แต่ฟรานซ์ โจเซฟ กลับตกหลุมรักซีซี่ตั้งแต่แรกเห็น

ชุดของเจ้าหญิงซีซี่ในวันอภิเษกสมรส

ในที่สุดพิธีอภิเษกสมรสก็มีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 1854 พิธีจัดอย่างยิ่งใหญ่ ประชาชนนับพันออกมารุมล้อมเต็มถนนในกรุงเวียนนา เพราะอยากจะเห็นพระพักต์ของเจ้าหญิงผู้ทรงพระเยาว์ ในระหว่างพิธีนั้น ซีซี่ประทับอยู่ในรถโค้ชที่เป็นแก้วใสมุ่งหน้าสู่พระราชวังฮอฟบูร์ก แต่พระองค์กลับไม่ได้รู้สึกปีติยินดีเลย ตลอดทางนั้นพระองค์กลับร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยความหวาดกลัวกลับชีวิตในบ้านหลังใหม่

ฟรานซ์ โจเซฟ พระสวามีของซีซี่เป็นจักรพรรดิที่ทรงงานหนัก ไร้ซึ่งอารมณ์ขันแต่ก็รักซีซี่อย่างจริงใจ ส่วนซีซี่นั้นก็ไม่คุ้นเคยกับที่อยู่และสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เข้มงวดและเต็มไปด้วยระเบียบและมารยาทมากมาย ทำให้เธอต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้มิตรสหาย แต่ถึงกระนั้นซีซี่ก็มีพระโอรส-พระธิดา ให้กับฟรานซ์ โจเซฟ ถึง 3 พระองค์ แค่เพียงในช่วง 4 ปีแรกของชีวิตสมรส มีเพียง 2 พระองค์ที่ได้เติบโตผ่านวัยทารกมาได้ เพราะอาร์ชดัชเชส โซฟี เฟรเดอริคเก้ โดโรเธีย มาเรีย โยเซฟ่า ทรงสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงสิริพระชันษาได้เพียง 2 ชันษา ทำให้ซีซี่ระทมทุกข์และไม่อยากจะออกงานสังคมใด ๆ ซึ่งพระองค์ก็ได้รับความเห็นอกเห็นใจจากพระสวามี และอาร์ชดัชเชส โซฟี พระมารดาของฟรานซ์ โจเซฟ

ถึงแม้จะเป็นเจ้าหญิงที่อมทุกข์ตลอดเวลา แต่ซีซี่ก็เป็นเจ้าหญิงที่เลอโฉมอย่างมาก ไม่ว่าพระองค์จะแปรพระราชฐานไปที่ใด ก็ได้รับความสนใจจากเหล่าพสกนิกรที่ตะลึงในความงามของพระองค์และชื่นชมกับผมสีลูกเกาลัดที่ยาวถึงข้อเท้า
“ซีซี่คือราชินีที่ดึงดูดความสนใจของเหล่าพสกนิกรได้ทั้งหมด เธอคือความสุขของพวกเขา เป็นคนโปรดของพวกเขา”
ตอนหนึ่งจากบันทึกของ อาร์ชดัชเชส โซฟี ที่เขียนถึงซีซี่

พระนางซีซี่กับเอวขนาด 19.5 นิ้วอันเลื่องลือ แม้จะมีบุตร ธิดา แล้วถึง 3 พระองค์

ซีซี่เองก็พึงพอใจในรูปโฉมของตัวเอง และจริงจังกับการรักษาภาพลักษณ์ตัวเองอย่างมาก ถ้ามีเหตุต้องออกนอกพระราชวัง พระองค์จะใช้เวลาในการแต่งพระองค์ยาวนานมาก ใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการแต่งพระเกศา และอีก 1 ชั่วโมงกับการรัดเอวให้ได้ขนาด 19.5 นิ้ว กลายเป็นว่าซีซี่เริ่มหมกมุ่นกับภาพลักษณ์ตัวเองอย่างมากถึงกับควบคุมอาหารการกินอย่างเข้มงวด และทรงโหมออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของ โรคคลั่งผอม (Anorexia) ในปัจจุบัน ในแต่ละวันพระองค์จะเสวยแค่ซุปใส ๆ เพียงชามเดียวเท่านั้น หลัง ๆ อาการคลั่งผอมของพระองค์รุนแรงขึ้น จะบริโภคแค่น้ำนมวัวดิบเท่านั้น ซึ่งพระองค์จะมีแม่วัวส่วนตัว นอกจากนั้นก็จะเสวยแค่เพียง ส้ม และไข่ พระองค์ทรงออกกำลังกาย 4 ชั่วโมงต่อวัน ด้วยการขี่ม้า ฟันดาบ พระราชดำเนินขึ้น-ลง เขาด้วยความเร็ว

ในทุก ๆ พระราชวังที่พระองค์แปรพระราชฐานไปประทับ จะมีห้องออกกำลังกายส่วนตัวของพระองค์ ในห้องนี้ก็จะมีดัมบ์เบล และห่วงสำหรับโหนตัว เรื่องราวการออกกำลังกายอย่างหักโหมจริงจังของพระองค์นั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันในพระราชวัง หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์การแพทย์ชื่อ Louise Foxcroft’s Calories and Corsets: A History of Dieting Over 2,000 Years ก็มีข้อความตอนหนึ่งจากไดอารี่ของข้ารับใช้ส่วนพระองค์ที่ได้เอ่ยถึงพระนางซีซี่ไว้ว่า

“ตอนที่ผมได้เห็นพระองค์ในห้องออกกำลังกาย พระองค์กำลังโหนตัวอยู่บนห่วง อยู่ในฉลองพระองค์ที่เป็นชุดไหมสีดำ มีชายกระโปรงยาว ตกแต่งขอบด้วยขนนกกระจอกเทศ ผมไม่เคยเห็นพระองค์ในภาพที่ดูสง่าน่าประทับใจเช่นนี้มาก่อนเลย ตอนที่พระองค์ทรงแขวนตัวอยู่บนเชือกนั้น พระองค์ดูช่างน่าตราตรึงใจมาก ช่างเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอะไรสักอย่างระหว่าง งู กับ นก นี่แหละ”

ฟรานซ์ โจเซฟ และ พระนางซีซี่

ในปี 1862 ซีซี่เริ่มหลุดพ้นจากภาวะตึงเครียด พระองค์พยายามใช้เวลานับจากนี้อยู่ให้ห่างจากพระราชวังฮอฟบูร์ก ที่เปรียบเสมือนคุกคุมขังสำหรับพระองค์เสียมากกว่าบ้าน พระองค์ชอบที่จะเสด็จไปท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างเช่น กรีซ, อังกฤษ, ไอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และฮังการี

“ฉันอยากที่จะไปนั่นมานี่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่ฉันได้มองเห็นเรือลอยลำออกไปในทะเลกว้าง ฉันปรารถนาอย่างที่สุดที่จะอยู่บนเรือลำนั้น”
จากบันทึกตอนหนึ่งของซีซี่

ปี 1867 ฮังการรีถูกรวมเข้าสู่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian empire) ฟรานซ์ โจเซฟ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งฮังการี และซีซีก็ได้ขึ้นเป็นพระราชินี พระองค์ทรงสนใจความเป็นไปในฮังการีเป็นพิเศษมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ซีซี่มองว่าชาวฮังกาเรียนสมควรจะได้มีชีวิตที่มีอิสระและได้รับความเคารพมากกว่าที่เป็นอยู่นี่ ซึ่งพระองค์ก็แอบร่วมมือกับ กีอูลา แอนดราสซี่ (Gyula Andrássy) เพื่อนสนิทที่เป็นนักการเมืองในฮังการี เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิวัติในฮังการีเมื่อปี 1848 พระองค์ยังแอบแทรกซึมเข้าไปในสภาฮังการี ด้วยการส่งคนของพระองค์เองเข้าไปเป็นสมาชิกในสภาฮังการี

จนเมื่อพระองค์ได้เป็นพระราชินีของฮังการี พระองค์จึงได้มอบชีวิตที่เป็นอิสระให้แก่พสกนิกรในแบบที่ประชาชนไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน และพระองค์ยังมีบทบาทในเหตุการประนีประนอมระหว่างออสเตรีย-ฮังการี ปี 1867 ทำให้ฟรานซ์ โจเซฟ พระสวามีได้มีเวลาว่างมากขึ้น ในช่วงนี้ซีซี่จึงได้ตั้งครรภ์บุตรคนที่ 4 และซีซี่ก็เป็นพระราชินีผู้เป็นที่รักของประชาชนชาวฮังการีอย่างมาก

พระนางซีซี่ผู้มีพระเกศายาวและสวยงาม

แต่พระองค์ก็ยังไม่หยุดพระราชกรณียกิจเพียงเท่านี้ ซีซี่พึงพอใจกับบทบาทของ ‘ผู้บรรเทาทุกข์’ ในสายตาของประชาชนฮังกาเรียน บ่อยครั้งที่พระองค์ปรากฏตัวมาที่โรงพยาบาลโดยไม่บอกกล่าว มีแค่เพียงนางสนองพระโอษฐ์ติดตามมาด้วยแค่นั้น การที่พระราชินีผู้สูงศักดิ์มาโรงพยาบาลในวอร์ดผู้ป่วยหนักแล้วกุมมือคนไข้ที่ใกล้จะตายแล้วถามไถ่ถึงความต้องการของคนไข้แบบนี้นั้น สร้างความตื่นตะลึงและประทับใจให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

แมรี่ เฟซเททิคส์ นางสนองพระโอษฐ์ได้มีบันทึกถึงพระองค์ไว้ว่า
“ดังกับนางฟ้าผู้เปี่ยมเมตตามาทรงโปรด พระองค์พระราชดำเนินจากเตียงหนึ่งไปอีกเตียงหนึ่ง ฉันได้เห็นน้ำตาของเหล่าคนไข้ไหลอาบแก้ม”

พระองค์สนใจในวิทยาการรักษาคนไข้ที่มีอาการทางจิตรูปแบบใหม่ ๆ ถึงกับเสนอไอเดียว่าอยากจะเปิดโรงพยาบาลจิตเวชของพระองค์เอง

เหมือนว่าชีวิตของพระนางซีซี่จะทรงดำเนินไปอย่างราบรื่นแล้ว แต่ก็เปล่า ในปี 1880 ซีซี่ก็เริ่มมีอาการทางจิตชัดเจนมากขึ้น แมรี่ วาเอลรี่ พระธิดาองค์สุดท้องได้เขียนบันทึกไว้ว่า เห็นพระมารดาทรงพระสรวลเหมือนคนเสียสติอยู่ในอ่างอาบน้ำ ในช่วงนั้นเองพระนางซีซี่ก็ชอบเอ่ยกับพระสวามีฟรานซ์ โจเซฟ ว่าอยากจะกระทำการอัตวินิบาตกรรมอยู่หลายครั้ง แม้พระนางซีซี่จะทรงรู้ตัวว่ามีอาการทางจิต แต่พระองค์ก็เลือกจะใช้วิธีการบำบัดทางไสยศาสตร์ด้วยการเข้าหาคนทรงและสื่อสารกับวิญญาณ

ปี 1889 มีเหตุให้อาการของพระนางซีซี่จะต้องทรุดหนักลงกว่าเดิม เมื่อมีผู้พบร่าง เจ้าชายรูดอล์ฟ พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวของพระนางซีซี่ เสียชีวิตอยู่เคียงข้าง แมรี่ เวทเซรา สาวคนรัก ในกระท่อมล่าสัตว์

ทั้งรูดอล์ฟและเวทเซราได้เขียนจดหมายก่อนตายไว้ แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อความในจดหมาย และยังคงเป็นปริศนาจวบจนทุกวันนี้ มีข่าวลือ 2 เรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของคู่นี้ เรื่องแรกกล่าวว่าเวทเซราวางยาพิษเจ้าชายรูดอล์ฟก่อนจะฆ่าตัวตายตาม อีกเรื่องกล่าวว่า เจ้าชายรูดอล์ฟยิงเวทเซราก่อนยิงตัวเองตาม แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอันใด ก็ลงเอยด้วยการเสียพระทัยอย่างที่สุดของพระนางซีซี่อยู่ดี

“กระสุนของรูดอล์ฟได้พรากศรัทธาของฉันสูญสิ้นไปแล้ว”
พระนางซีซี่กล่าวกลับ แมรี่ วาเลรี

ที่พระองค์กล่าวเช่นนี้ เพราะการจากไปของรูดอล์ฟนั้น ไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงในครอบครัวเท่านั้น แต่เพราะรูดอล์ฟคือพระราชโอรสเพียงองค์เดียว ที่จะเป็นรัชทายาทสืบตำแหน่งกษัตริย์ต่อจาก ฟรานซ์ โจเซฟ และในเมื่อรูดอล์ฟจากไปโดยไม่มีทายาทสืบทอด ตำแหน่งรัชทายาทก็จะต้องโยกย้ายไปยัง อาร์ชดุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ พระราชโอรสองค์โต ของ อาร์ชดุก คาร์ล ลุดวิก พระเชษฐาของฟรานซ์ โจเซฟ และนั่นคือจุดแตกหักของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1

พระนางซีซี่ในฉลองพระองค์ดำ

เมื่อตกอยู่ในอาการซึมเศร้าอย่างหนัก น้ำหนักตัวของพระนางก็ลดฮวบอย่างมาก พระนางฉลองพระองค์ในสีดำตลอดเวลา และเริ่มออกเดินทางไปทั่วโลกอย่างไร้จุดหมาย พระนางซีซีไปปักหลักอยู่ในแอฟริกาเหนือ และปฏิเสธการอารักขาจากทางการ ด้วยความมุ่งหวังในใจเพียงว่า
“ฉันจะเดินทางไปทั่วโลก จนกว่าฉันจะจมดิ่งและลืมทุกสิ่งทุกอย่างได้”
เมื่อพระชนมายุได้ 51 ชันษา พระนางซีซี่ก็ไปสักรูปสมอเรือที่ต้นแขน”

ชีวิตของพระนางซีซี่มาถึงจุดสิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน 1898 ขณะนั้นพระองค์เสด็จมาเที่ยวกรุงเจนีวา ภายใต้พระนามแฝง ในวันเดียวกันนั้น ลุยจิ ลูเชนี (Luigi Lucheni) นักอนาธิปไตยหัวรุนแรงชาวอิตาเลียนก็อยู่ในเมืองนั้นด้วย ลุยจิมาที่สวิตเซอร์แลนด์เพราะมีเป้าหมายจะลอบสังหาร เจ้าชายอ็องรีแห่งออร์เลอ็อง (Henri of Orléans) เพื่อเป็นการประท้วงต่อต้านการปกครองแบบชนชั้น (เป็นความพยายามที่ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 3 ทศวรรษตั้งแต่ปี 1880 เริ่มด้วยการสังหารพระเจ้าซาร์ แห่งรัสเซีย, ลอบสังหารประธานาธิบดีอเมริกา, 2 นายกรัฐมนตรีสเปน, ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ กษัตริย์อิตาเลียน)

แต่แล้วแผนการลอบสังหารของลุยจิก็ผิดพลาด เมื่อเจ้าชายอ็องรียกเลิกแผนการเดินทาง ก็พอดีกับที่ลุยจิได้ยินข่าวเล็ดลอดมาว่าพระนางซีซีทรงใช้พระนามแฝงมาพักอยู่ที่กรุงเจนีวานี้ แล้วลุยจิก็เจอพระนางซีซี่ขณะที่พระองค์กำลังเดินอยู่บริเวณท่าเรือกำลังเตรียมจะขึ้นเรือ ลุยจิไม่รอช้าพุ่งตรงเข้าหาพระนางซีซี่แล้วใช้ไขควงสามเหลี่ยมแทงเข้าที่หน้าอก แล้วก็รีบผละจากไป แรกทีเดียวพระองค์คิดว่าตัวเองโดนคนร้ายชก พอลุกขึ้นมายืนได้ ก็ยังเดินต่อไปขึ้นเรือ แต่พอเรือออกได้ไม่นาน พระนางก็ล้มฟุบลง แพทย์ได้รีบเข้ามาช่วยเหลือแต่ก็ไม่ทันการ พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยอาการเสียเลือดภายใน

จะว่าไป เหตุการณ์รุนแรงในชีวิตที่พระนางซีซี่ได้เผชิญมาตลอดชีวิตก็ได้ทำลายหัวใจของพระองค์จนแหลกสลายเสียตั้งแต่ก่อนถูกฆาตกรรมแล้ว ดังตอนหนึ่งในบันทึกของพระองค์ว่า
“ฉันรัก ฉันมีชีวิต ฉันเดินทางไปทั่วโลก แต่ฉันก็ไม่เคยไปถึงจุดที่ฉันโหยหามาตลอด”

ทีมงานตั้งใจกับเสื้อผ้าหน้าผมให้เหมือนจริงมาก

โรมี่ ชไนเดอร์ ในบทพระนางซีซี่

ด้วยความที่พระองค์เป็นเป็นที่รักของประชาชนทั้งในฮังการี และออสเตรีย เรื่องราวของพระองค์จึงถูกขับขานจากรุ่นสู่รุ่น จนในปี 1955 ออสเตรียก็สร้างหนังชีวประวัติของพระองค์ในชื่อ ‘Sissi’ ได้ดาราสาวสวย โรมี่ ชไนเดอร์ (Romy Schneider) มารับบทเป็นพระนางซีซี่ ด้วยเหตุที่พระนางจริงจังในภาพลักษณ์และฉลองพระองค์หนังจึงให้ความสำคัญกับงานส่วนนี้อย่างมาก และถ่ายทอดภาพของพระองค์มาได้งดงาม หนังได้รับความนิยมอย่างมากและประสบความสำเร็จ จนมีการสร้างภาคต่อตามมาอีก 2 ภาค

SISI (2021)

เมื่อปี 2020 ก็มีมินิซีรีส์สัญชาติเยอรมัน 6 ตอนจบ ในชื่อ ‘Sisi and Franz’ สตรีมมิงทาง Netflix และในปีนี้ก็จะมีทีวีซีรีส์เรื่องยาวในชื่อ ‘Sisi’ สร้างโดยทีมผู้สร้างเยอรมันเช่นเคย แต่ยังอยู่ในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง