วันนี้ไต้หวันได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของเอเซีย ไม่แพ้เกาหลีและญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว ไต้หวันมีแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีอย่างเช่น ASUS, Acer และ Synnex และยังเป็นผู้ผลิต Semiconductor ให้กับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง กูเกิล, ไอบีเอ็ม และไมโครซอฟท์ แต่ด้วยความที่เป็นชนชาติเก่าแก่ในเอเซีย ก็เลยมีความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบร่ำโบราณแล้วยังคงยึดถือกันอยู่ในปัจจุบัน เราก็เลยได้เห็นวัฒนธรรมลูกผสมแบบแปลก ๆ ในฐานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีแต่ก็ยังมีความเชื่อกันในเรื่องโชครางของขลัง กลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในแวดวงเทคโนโลยีไต้หวัน เครื่องรางที่ว่านี้หาใช่พระเครื่อง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากวัดแต่อย่างใด แต่มันคือขนมขบเคี้ยวที่ขายกันตามมินิมาร์ตยี่ห้อ KUAIKUAI
Kuaikuai (乖乖) เป็นขนมขบเคี้ยวรสมะพร้าว-เนย สำหรับกินเล่นของไต้หวัน ราคาที่เห็นขายออนไลน์กันอยู่ที่ซองละประมาณ 50 บาท แต่ไม่ว่า Kuaikuai จะมีรสชาติอย่างไร อร่อยขนาดไหน ก็ไม่มีใครซื้อเจ้าขนมซองสีเขียวนี้มากินกัน เพราะในวันนี้ Kuaikuai กลายเป็นเครื่องรางนำโชคของผู้คนในแวดวงไอทีกันไปแล้ว คล้าย ๆ กับแฟนต้าน้ำแดงในบ้านเรานั่นล่ะ ที่จุดประสงค์หลักไม่ได้ซื้อมากิน แต่ซื้อมาไหว้นางกวัก ศาลเจ้าที่ ส่วนคนไต้หวันก็ซื้อ Kuaikuai มาเพื่อใช้ปกปักรักษาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์กัน เพราะเชื่อว่า KUAIKUAI มีพลานุภาพแฝงช่วยให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทำงานราบรื่น
ความเชื่อในเรื่องซองขนม Kuaikuai นั้น เริ่มต้นจากกลุ่มคนเล็ก ๆ แล้วก็ค่อย ๆ แนะนำต่อกันจนขยายตัวเป็นวัฒนธรรมของไต้หวัน ถึงขนาดว่า WIKIPEDIA ยังมีบทความเรื่อง “Kuaikuai culture” (乖乖文化)
“มันไม่เคยเกเรอีกเลย และนั่นคือเหตุผลที่เราใช้มันมาตลอด”
วิศวกรคอมพิวเตอร์ประจำหนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้ ไทมส์ กล่าว
ภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทนั้นปรับอากาศจนเย็นจัด ภายในห้องมีคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์กว่าสิบเครื่องตั้งเรียงเป็นทิวแถว และมีซอง Kuaikuai นับสิบซองหลากหลายขนาด วางอยู่บนคีย์บอร์ดบ้าง วางอยู่บนคอมพิวเตอร์บ้าง
“ทุกคนในอุตสาหกรรมไอทีต่างก็ทำแบบนี้กัน เพื่อคุ้มครองระบบเทคโนโลยีของเรา โดยเฉพาะเซิร์ฟเวอร์และฮาร์ดดิสก์ ที่เราทำก็แค่คอยสังเกตวันหมดอายุแล้วก็เปลี่ยนซองใหม่แค่นั้น”
วิศวกรคนเดิมกล่าว
Academia Sinica สถาบันวิจัยชั้นนำของไต้หวัน ก็ยังมีซอง KuaiKuai วางไว้ในห้องแล็บในสถาบัน พยาบาลในหลาย ๆ โรงพยาบาล ก็เอาซอง KuaiKuai แปะเทปกาวติดเครื่องช่วยหายใจบ้าง เครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วยบ้าง เพื่อความมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะไม่เสียกลางคัน แม้กระทั่งในพิพิธภัณฑ์ก็ยังเห็นซอง KuaiKuai วางไว้ใกล้ ๆ ระบบกระจายเสียง
ไซมอน ชาง (Simon Chang) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ก็ยังใช้ซอง KuaiKuai ในการหาเสียงด้วย เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าเขาจะโชคดีเพราะมี KuaiKuaiช่วยเหลือ
“KuaiKuai ต้องการให้ผมลงชิงตำแหน่ง”
แต่แล้ว ไซมอน ชาง ก็ถอนตัวไปเสียก่อน เราเลยไม่ได้เห็นว่า KuaiKuai ช่วยเขาได้จริงไหม
เห็นได้ว่าวัฒนธรรม KuaiKuai ได้แทรกซึมไปทุกวงการไม่เพียงแต่ในแวดวงการเมือง ในแวดวงตำรวจก็ยังเชื่อถือศรัทธาใน KuaiKuai ที่สถานีตำรวจไน่ฮู ก็มี KuaiKuai ซองใหญ่ห้อยไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งบอกว่า
“มันช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายและปกปักรักษาพวกเราได้”
วัฒนธรรม KuaiKuai ยังแผ่ขยายไปถึงเทคโนโลยีระดับชาติเลยด้วย เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2017 ไต้หวันทำการปล่อย Formosat-5 ดาวเทียมดวงแรกที่ไต้หวันสร้างขึ้นมาเองด้วยความภาคภูมิใจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคก็ยังนำซอง KuaiKuai มาวางไว้ที่ฐานยิงจรวด Falcon 9 ที่จะนำดาวเทียมออกสู่อวกาศ ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยให้ปฏิบัติการราบรื่น
ถ้าอ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้ว่า แล้วเจ้าขนม KuaiKuai ซองละไม่กี่บาทนี่กลายมาเป็นเครื่องรางของขลังระดับชาติไปได้อย่างไร เช่นเดียวกับความเชื่ออื่น ๆ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ไม่มีใครระบุที่มาได้อย่างชัดเจน แม้แต่ ไอรีน เลียว (Irene Liao 廖宇綺) ผู้จัดการทั่วไปของ KuaiKuai ที่สืบทอดกิจการจากคุณปู่ของเธอที่ก่อตั้งบริษัทมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
“ไม่มีใครอธิบายได้หรอกค่ะ เพราะเอาจริง ๆ ก็ไม่มีใครรู้หรอก ฉันเองยังต้องกูเกิลหาเลย แล้วก็เจอข้อมูลว่ามีนักเรียนคนหนึ่งกำลังทำเธียสิส แล้วคอมพิวเตอร์ของเขาก็เสีย เขาก็เลยปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ลองเอาซอง KuaiKuai วางไว้บนคอมพิวเตอร์ดู แล้วกลายเป็นว่ามันกลับมาทำงานได้เป็นปกติ แล้วเขาก็ทำงานได้จนเสร็จ”
ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของ KuaiKuai นั้นก็เหมือนความเชื่อพื้นบ้านที่มีหลายที่มา อย่างเรื่องหนึ่งที่ถือว่าใหม่ที่สุด มาจากบทความในหนังสือพิมพ์ ยูไนเต็ด เดลีนิวส์ เมื่อปี 2008 เล่าว่า วิศวกรผู้ออกแบบตู้เอทีเอ็มคนหนึ่งวางซอง KuaiKuai ไว้บนตู้เอทีเอ็มแล้วตู้ก็ทำงานราบรื่น อีกเรื่องหนึ่งก็มาจากวิศวกรประจำหนังสือพิมพ์ ลิเบอร์ตี้ ไทมส์ เล่าว่าวัฒนธรรม KuaiKuai นั้นต้องนับย้อนไปหลายทศวรรษ เมื่อปู่ของเขาเคยใช้ซอง KuaiKuai กับเครื่องคิดเลขแล้วได้ผล
ความเชื่อถือศรัทธาใน KuaiKuai นั้นยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ มาเสริมอีกด้วย อย่างแรกที่ชาวไต้หวันมองว่า KuaiKuai นั้นมีความเป็นมงคลก็เพราะชื่อยี่ห้อ KuaiKuai นี้แหละ เพราะไปพ้องเสียงกับคำว่า Guai หรือ 乖 เป็นคำที่ชาวไต้หวันคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก แปลได้ว่า “จงว่านอนสอนง่าย” ถ้าเด็กเล็กร้องไห้งอแงในที่สาธารณะ พ่อแม่ก็จะจุ๊ปากแล้วบอกว่า “guai guai” หรือหมาเห่าเสียงดัง เจ้าของก็จะดุเป็นเสียงสั้น ๆ ว่า “guai”
อีกองค์ประกอบหนึ่งก็คือสีเขียวของซองขนม ที่ชาวไต้หวันเชื่อถือกันว่าจะต้องเป็นซองสีเขียวเท่านั้นถึงจะศักดิ์สิทธิ์ เพราะเกี่ยวกับ ‘ความรู้สึก’ เนื่องจากสีเขียวนั้นเป็นสีสากลที่ใช้กับ ไฟจราจร ในจังหวะที่ให้รถวิ่งได้ การนำซอง KuaiKuai สีเขียวมาวางไว้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ก็หมายความว่า ให้เครื่องทำงานไปอย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด ส่วน KuaiKuai ซองเหลือง ซองแดง อย่าเอามาวางใกล้คอมพิวเตอร์เป็นอันขาด แต่ถึงอย่างนั้นด้วยความเป็นขนมยี่้ห้อ KuaiKuai ซองเหลืองและแดง ก็ยังคงได้รับความเชื่อถือศรัทธาเช่นกัน แต่มีประสิทธิผลในด้านอื่นเช่นเรื่องความรัก และความมั่งมี
ว่าแต่ มีใครสั่งเข้ามาทำตลาดในบ้านเราบ้างมั้ยนะ