เราได้ข่าวมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก ล้วนแล้วแต่อุทิศเวลาและทรัพย์สินเงินทองของตัวเองเพื่อการกุศลมามากมาย ตัวอย่างเช่น บิล เกตต์ ที่เกษียณตัวเองจากงานบริหารไมโครซอฟท์ มาทุ่มเทให้กับงานมูลนิธิการกุศลของตัวเอง อีกคนก็ วอร์เร็น บัฟเฟต์ อุทิศทรัพย์สินกว่าครึ่งหนึ่งของเขาเพื่อการกุศลเช่นกัน แต่ทั้งหมดที่เคยเห็นมาก็ยังไม่มีใครใจกว้างเท่ากับเขาผู้นี้ ชัก ฟีนีย์ ผู้ที่มอบทรัพย์สินทั้งหมดที่ตัวเองหาได้มาตลอดชีวิตมูลค่า 8,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 258,000 ล้านบาท) ให้กับการกุศลทั้งหมด

ชัก ฟีนีย์

เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้ยินชื่อของ ชัก ฟีนีย์ (Chuck Feeney) กันมาก่อน เขาเป็นมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชจากเมืองเฟอร์มานาก์ (Fermanagh) ร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในชื่อ Duty Free Shoppers (DFS) น่าจะเป็นแบรนด์ที่คุ้นตาหลายคนเวลาเดินทางไปต่างประเทศเพราะบริษัทนี้ดำเนินกิจการมา 40 ปีแล้ว มี 420 สาขา ใน 11 สนามบินทั่วโลก

Duty Free Shoppers (DFS)

ชัก ฟีนีย์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจในเรื่องการกุศลอย่างมาก เขาแอบตั้งองค์กรการกุศล The Atlantic Philanthropies มาตั้งแต่ปี 1982 แล้วโดยไม่บอกให้ผู้ร่วมหุ้นในบริษัทรู้ แล้วก็โอนเงินปันผลของตัวเองจากบริษัทไปให้กับองค์กรเสมอมา โดยมีปนิธานที่แน่วแน่กว่ามหาเศรษฐีทุกคนบนโลกนี้ว่า “สุดท้ายจะต้องไม่เหลือสักเหรียญเดียว…………ให้ไปทั้งหมด”

ตลอด 38 ปี องค์กร The Atlantic Philanthropies ได้บริจาคเงิน 8,000 ล้านเหรียญของฟีนีย์ไปกับอะไรบ้าง
ก็อย่างเช่นโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่บริจาคไปทั้งหมด 3,700 ล้านเหรียญ รายใหญ่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่ได้ไป 1,000 ล้านเหรียญ ฟีนีย์ให้กับคอร์เนลมากก็เพราะเขามีความทรงจำดี ๆ กับที่นี่ เพราะเขาเคยเป็นทหารอากาศอเมริกันในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสาร แล้วถูกส่งตัวไปรบในสงครามเกาหลี พอปลดประจำการเขาก็ได้สิทธิพิเศษในฐานะทหารผ่านศึก ได้เข้าเรียนฟรีที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เขายังเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ไลเมอร์ริก ในไอร์แลนด์ด้วย
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้รับเงินบริจาคไป 870 ล้านเหรียญ และ 1,900 ล้านเหรียญไปกับโครงการต่าง ๆ ในประเทศยากจน

และแล้วในเดือนกันยายน ปี 2020 ชัก ฟีนีย์ ในวัย 89 ปี ก็ไปถึงเป้าหมายที่เขาวางไว้ นั่นคือองค์กร The Atlantic Philanthropies ได้ใช้เงินของเขาบริจาคไปเพื่อการกุศลจนหมดสิ้นแล้ว ฟีนีย์เซ็นซื่อลงนามในเอกสาร “ปิด” The Atlantic Philanthropies อย่างเป็นทางการ เพราะได้ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว

ชัก ฟีนีย์ ในวันนี้มีสุขภาพร่างกายที่ไม่สู้ดีนัก ตามประสาคนสูงวัยทั่วไป แต่เขาก็มีความสุขเพราะ
“ภารกิจของผมเสร็จสมบูรณ์ภายใต้การกำกับดูแลของผมเอง”
เขาไม่เหลือแม้แต่บ้านพักอาศัยของตัวเอง ต้องไปเช่าอะพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ อยู่ในซานฟรานซิสโก แล้วฟีนีย์ยังส่งข้อความไปถึงบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลก ที่มักจะทำพินัยกรรมว่าจะบริจาคทรัพย์สินเงินทองส่วนหนึ่งให้กับการกุศลเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ว่า
“สำหรับบางคนที่ยังลังเลอยู่ว่าจะบริจาคเงินให้กับการกุศลตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ดีไหม ลองดูสิ แล้วคุณจะชอบ”
ฟีนีย์มีคำพูดติดปากที่ชอบพูดกับคนรอบข้างอยู่บ่อยครั้งว่า
“ความมั่งมีมันนำพามาซึ่งความรับผิดชอบ พวกคนรวยทั้งหลายควรจะมีสำนึกรับผิดชอบในตัวเอง ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบในการใช้ทรัพย์สินเงินทองของตัวเองออกมาช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมโลกซะ หรือไม่ก็ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ บนโลกนี้เพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต”

คริสโตเฟอร์ เอชสลี (ซ้าย) ชัก ฟีนีย์ (กลาง) และ เฮลกา ภรรยาคนที่

คริสโตเฟอร์ เอชสลี (Christopher Oechsli) ประธานบริหารของ The Atlantic Philanthropies เล่าถึงตัว ชัก ฟีนีย์ ว่า นายของเขาคนนี้ไม่เคยพยายามอบรมให้พนักงานของเขาจะต้องคิดตามแบบเขา
“แต่เขามักจะเกาหัวแล้วก็พูดว่า ‘คนเราจะต้องมีเรือยอชต์สักกี่ลำกัน จะต้องใช้รองเท้าสักกี่คู่ถึงจะพอ คิดว่าไอ้ของสะสมอวดรวยพวกนี้มันจะมีประโยชน์อะไร ลองมองย้อนกลับมาดูตัวเองสิ ก็จะมองเห็นแต่ความอยากมีอยากได้ที่ไม่รู้จบ”

ครั้งหนึ่งฟีนีย์เคยชักชวน เจฟ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินมูลค่า 186,000 ล้านเหรียญ ว่า
“ลองเลือกปัญหาระดับโลกสักเรื่องทีคุณสนใจดูสิ แล้วก็ลงเงินของคุณไปกับมันแล้วก็ลงไปจัดการดู”
ที่ชัก ฟีนีย์ มีทัศนคติเช่นนี้เพราะเขาได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจาก แอนดรูว์ คาร์เนกี ผู้เขียนหนังสือ The Gospel of Wealth ของ แอนดรูว์ คาร์เนกี ที่มีประโยคหนึ่งในหนังสือกล่าวไว้ว่า “มหาเศรษฐีควรเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับคนจน”

“ผมรู้สึกเห็นใจคนที่มีชีวิตยากไร้เสมอ แล้วโลกเราก็เต็มไปด้วยคนที่ไม่มีอันจะกิน”

เพราะฟีนีย์มีทัศนคติเช่นนี้มาตลอด ทำให้เขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ เขาไม่มีบ้านไม่มีรถของตัวเอง แล้วใช้รองเท้าเพียงคู่เดียว เวลาบินไปไหนมาไหนก็จะโดยสารชั้นประหยัดเสมอ ในขณะที่สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ก็จะนั่งชั้นธุรกิจกันหมดแม้จะไปเครื่องบินลำเดียวกันก็ตาม

ชก ฟีนีย์ และ เฮลกา ภรรยาของเขา บินมาทำการกุศลในเวียดนาม

คริสโตเฟอร์ เอชสลี เป็นพนักงานที่รู้จักฟีนีย์เจ้านายของเขาดี เพราะทำงานกันมากว่า 30 ปี เขาบอกว่าฟีนีย์ก็เคยลองใช้ชีวิตหรูหราแบบมหาเศรษฐีมาแล้วนะ แต่เขารู้สึกว่าไม่เหมาะกับตัวเขา
“เขาเคยมีบ้านหรู ๆ นะ แล้วก็มีของดี ๆ เต็มบ้านไปหมด เขาเคยลองอยู่แบบนั้นมาแล้วแต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวตนของเขา ตอนนี้เขาก็เลือกที่จะไม่มีบ้าน ไม่มีรถ ถ้าเคยได้ยินมาว่าเขาใช้ชีวิตแบบสมถะมาก ๆ เรื่องนี้่จริงเลยล่ะ เขาใช้นาฬิกาคาสิโอเรือนละ 10 เหรียญแค่นั้น แล้วเวลาไปทำงานก็เอาเอกสารใส่ในถุงพลาสติก เขาชอบที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ และนี่ล่ะตัวตนจริง ๆ ของชักเลยล่ะ”

แน่นอนว่าเมื่อตัวตนของ ชัก ฟีนีย์ เป็นคนสมถะถึงเพียงนี้ เขาก็พยายามสั่งสอนลูกสาว 4 คนและลูกชาย 4 คน ให้ไม่หลงระเริงไปกับเงินทองมากมาย ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ฟีนีย์ก็ให้ลูก ๆ ของเขาไปทำงานเป็นแม่บ้านในโรงแรม ชัก ฟีนีย์ หย่าขาดจาก แดเนียล ภรรยาคนแรกในปี 1993 เธอได้เงินไป 100 ล้านเหรียญ และอสังหาริมทรัพย์ไปทั้งหมด ชักแต่งงานใหม่กับ เฮลกา อดีตเลขาส่วนตัวของเขาในปีถัดมา

ชัก ฟีนีย์ และ บิล เกตส์

ความใจบุญสุนทานของชัก ฟีนีย์ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับ บิล เกตส์ และ วอร์เร็น บัฟเฟต์ ร่วมกันก่อตั้งองค์กร the Giving Pledge องค์กรที่รณรงค์ให้เศรษฐีบริจาคทรัพย์ของตนโดยมากเพื่อการกุศล ชื่อขององค์กรมีความหมายถึง คำสัญญาของบุคคลและครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดในโลกที่จะอุทิศทรัพย์สมบัติโดยมากของตนให้แก่การกุศล ไม่ว่าจะเป็นในช่วงยังมีชีวิตอยู่หรือเมื่อถึงแก่กรรมไปแล้ว

ซึ่ง บิล เกตส์ ก็กล่าวยกย่องฟีนีย์ว่าเป็นผู้บุกเบิกแนวทางในการทำกุศลให้เขาดำเนินตาม
“ผมจำได้ว่าเคยเจอเขาก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ the Giving Pledge วันนั้นเขาบอกกับผมว่า เราควรกระตุ้นให้ผู้คนบริจาคเงินไม่ใช่แค่ 50% นะ แต่ต้องมากเท่าที่จะให้ได้ในขณะที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ ผมว่าไม่มีใครเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ไปกว่าชักแล้ว หลายคนบอกผมว่าชักก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาเช่นกัน มันเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ”

ส่วนวอร์เร็น บัฟเฟต์ ก็กล่าวถึงชัก ฟีนีย์ว่า “เขาเป็นวีรบุรุษของผมและบิล เกตส์ และเขาควรจะเป็นวีรบุรุษของทุก ๆ คนด้วย”

อ้างอิง