เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ครับ ชายต้องสงสัยชาวเกาหลีเหนือผู้หนึ่งอ้างว่าเขาเป็นพลเมืองธรรมดาที่ต้องการย้ายถิ่นฐานมาอยู่ฝั่งเกาหลีใต้ เขายังเป็นอดีตนักยิมนาสติก จึงใช้ความสามารถที่มีติดตัวกระโดดข้ามรั้วกั้นเขตแนวชายแดนที่สูงถึง 3 เมตร แล้วข้ามมาฝั่งเกาหลีใต้ได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้พบตัวเขาเดินระหกระเหินอยู่ในเขตปลอดทหาร (Demilitarised Zone) ตอนช่วงเวลาประมาณ 19:00 น. เวลาท้องถิ่นในจังหวัดกังวอน ซึ่งอยู่ห่างจากแนวรั้วชายแดนมาทางใต้ประมาณ 1.5 กม.

เขตปลอดทหาร (Demilitarised Zone)

ชายผู้นี้อยู่ในวัย 20 กว่าปี อยู่ในชุดชาวบ้านธรรมดาสีน้ำเงิน ถูกเจ้าหน้าที่ป้องกันเขตแนวชายแดนรวบตัวได้ แล้วรีบนำตัวไปสอบสวนถึงจุดประสงค์ที่พยายามลักลอบเข้ามา และวิธีการที่ข้ามรั้วเข้ามา ซึ่งชาวเกาหลีเหนือผู้นี้ก็ยืนยันว่าเขาโดดข้ามรั้วได้จริง ๆ เพราะเขาเป็นนักยิมนาสติกเก่า ซึ่งทำเอาบรรดาเจ้าหน้าที่งงเป็นไก่ตาแตกว่ารั้วตั้ง 3 เมตร แล้วเขากระโดดข้ามได้อย่างไรกันแถมยังไม่ไปทำให้สัญญาณเตือนภัยดังอีกด้วย

ซึ่งถ้าพิจารณาด้วยสายตาแล้ว รูปร่างของชายเกาหลีเหนือผู้นี้ก็ร่างเล็กเพรียวบาง ดูเป็นสรีระของนักยิมนาสติกจริง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ขอให้ชายเกาหลีเหนือผู้นี้กระโดดข้ามรั้วให้ดูไม่มีการเปิดเผยว่าเขาได้ทำจริงไหม (สถิติโลกกระโดดสูงคือ ฮาเวียร์ โซโทเมเยอร์ ชาวคิวบา กระโดดได้สูง 2.45 เมตร ในปี 1993) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารเชื่อว่าเขาปีนเสารั้วแล้วกระโดดข้ามมาอีกฝั่งมากกว่า

ทหารชายแดนยังได้ไปสำรวจแนวรั้วช่วงที่ชายเกาหลีเหนือผู้นี้อ้างว่าเขากระโดดข้ามมาตรงจุดนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็รายงานว่ารั้วบริเวณนั้นมีร่องรอยเหมือนถูกเหยียบ แต่ไม่มีร่องรอยถูกตัดแต่งแต่อย่างใด

แต่เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนพร้อมข้อเท็จจริงว่า ชายผู้นี้ผ่านพรมแดนมาแล้วกว่า 14 ชั่วโมงกว่าจะถูกรวบตัวได้ แสดงถึงความบกพร่องและล่าช้าของงานทหารปกป้องเขตแนวชายแดน ทหารผู้หนึ่งแก้ต่างว่าเขาเห็นชายผู้นี้ก่อนหน้านั้นแล้ว ขณะกำลังมุดลอดรั้วลวดหนามเข้ามา ในมือยังมีอุปกรณ์ตรวจจับความร้อนด้วย เพื่อใช้ตรวจหาทุ่นระเบิด แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมกว่าจะจับตัวได้ถึงใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงจากนั้น บางคนก็กล่าวโจมตีถึงความหละหลวมของทางทหารที่ไม่มีการตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์เตือนภัยตามแนวรั้ว ขนาดว่าชายผู้นี้ผ่านเข้ามาได้ยังไม่ทำให้สัญญาณเตือนภัยดังเลย

ภายในเขตลปอดทหารยังมีทุ่นระเบิดฝังอยู่จำนวนมาก

ทำให้กองทัพบกเกาเหลีเหนือต้องออกมากล่าวขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการในเหตุบกพร่องครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็มีการสืบสวนภายในถึงความผิดพลาดในการทำงานของหน่วยนี้ ซึ่งผลการสืบสวนนั้นไม่มีการเปิดเผยกับสื่อแต่อย่างใด

ในแต่ละปีมีชาวเกาหลีเหนือนับร้อยคนพยายามหลบหนีข้ามฝั่งมาเกาหลีใต้ อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงการรวมชาติ (Ministry of Unification) จากจำนวนผู้หลบหนีกว่า 31,000 คน มีเพียงไม่กี่คนที่เลือกใช้เส้นทางมุ่งหน้ามายังเขตปลอดทหาร ผู้หลบหนีส่วนใหญ่เลือกที่จะหนีเข้าไปจีนแผ่นดินใหญ่เสียมากกว่า แล้วจึงถูกส่งต่อมายังเกาหลีใต้ในฐานะประเทศที่ 3 แม้ว่าผู้หลบหนีส่วนใหญ่จะเป็นพลเรือน แต่ก็มีทหารเกาหลีเหนือหลบหนีเช่นกันมากกว่าปีละ 700 คน

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง