ในวันที่คนแทบทั้งโลกต่างเข้าถึงโซเชียลมีเดียกันได้แล้ว ทุกคนก็น่าจะรู้จัก อีโมจิ กันทั้งนั้น อีโมจิ คือสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อแทนอารมณ์ เป็นภาพลายเส้นง่าย ๆ เขียนเป็นตาและปาก บนวงกลมสีเหลือง ที่ใช้กันแทบทุกแอปสนทนา Line, Facebook Messenger, Instagram, Twitter แต่รู้มั้ยครับว่าเจ้าสัญลักษณ์อีโมจินั้นได้รับการพัฒนามาจาก Smiley โลโก้หน้ายิ้ม ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1963 นู่นแล้ว

ชายผู้คิดค้นสัญลักษณ์หน้ายิ้มสีเหลืองนี้มีนามว่า ฮาร์วีย์ รอส บอล (Harvey Ross Ball) เป็นนักออกแบบกราฟิก อาศัยอยู่ในเมืองวอร์เซสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ จุดกำเนิดเรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1963 เมื่อมีบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งมาจ้างบอลให้ออกแบบสัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่ดูง่าย ๆ จุดประสงค์เพื่อจะเอาไปสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ซึ่งบอลก็ใช้เวลาคิดเพียงแค่ 10 นาทีออกมาเป็นภาพลายเส้นสีดำบนวงกลมสีเหลือง มีเพียงจุดสีดำ 2 จุด แทนดวงตา และเส้นยาวด้านล่างแทนร้อยยิ้มกว้างที่มีลักยิ้ม 2 ข้าง เขาได้รับค่าจ้างออกแบบงานนี้เป็นเงิน 45 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบอัตราเงินเฟ้อเป็นมูลค่าปัจจุบันก็ประมาณ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,5xx บาท) แล้วบริษัทประกันภัยก็นำเจ้าหน้ายิ้มสีเหลืองนี้ไปใส่ไว้บนโปสเตอร์ และทำเข็มกลัดติดหน้าอกพนักงาน พอถูกใช้ได้ไม่นานสัญลักษณ์หน้ายิ้มนี้ก็ฮิตทันที และไม่หยุดอยู่แค่ในสำนักงานบริษัทประกันภัยเสียแล้ว
“ผมเขียนวงกลมมีรอยยิ้มบนกระดาษสีเหลือง เพราะว่ามันให้ความรู้สึกสว่างสดใส เหมือนมีแสงอาทิตย์สาดส่อง”
บอลให้สัมภาษณ์กับสื่อในวันที่ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ทั้งบอลและบริษัทประกันภัยคิดช้าเกินไป ไม่มีใครคิดจะจดลิขสิทธิ์เจ้าโลโก้หน้ายิ้มสีเหลืองนี่ แม้ว่ามันจะฮิตไปทั่วโลกแล้วก็ตาม ผ่านพ้นไปจนกระทั่งปี 1971 แฟรงคลิน ลูฟรานี (Franklin Loufrani) นักข่าวชาวฝรั่งเศสที่เป็นเสือปืนไว เขานำสัญลักษณ์หน้ายิ้มสีเหลืองไปจดลิขสิทธิ์เป็นของเขาเองอย่างถูกต้องตามกฏหมายทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลยตั้งแต่แรก แล้วลูฟรานีก็ตั้งชื่อให้สัญลักษณ์นี้ว่า Smiley แล้วนับแต่นั้นไม่ว่าใคร หรือบริษัทใดที่จะใช้ประโยชน์ทางการค้าจาก Smiley จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัท The Smiley Company ทำให้ลูฟรานีรับทรัพย์อย่างอื้อซ่า เมื่อแบรนด์ระดับโลกอย่าง Levi’s และ Mars candy ต่างก็ใช้บริการของเขา


ในวันนี้ นิโคลาส ลูฟรานี ลูกชายของแฟรงคลินก็รับช่วงบริหาร The Smiley Company ต่อจากพ่อของเขา แต่ละปีบริษัทมีรายได้ในหลักร้อยล้านเหรียญ เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีแบรนด์หรูอย่าง Zara หรือ Fendi ต่างก็จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทเพื่อนำเจ้า Smiley ไปใช้บนสินค้าหรือตกแต่งร้านค้า
ขอแถมอีกสักเรื่องว่านอกเหนือจาก Smiley แล้วก็ยังมีกรณีคล้าย ๆ กันกับ “Swoosh” ที่ทุกคนรู้จักกันดีในฐานะโลโก้ของ Nike แบรนด์ผลิตภัณฑ์กีฬาระดับโลก ที่ ฟิล ไนต์ (Phil Knight) ผู้ร่วมก่อตั้ง Nike ก็จ่ายค่าจ้างให้ผู้ออกแบบโลโก้นี้เพียง 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นเอง

ย้อนไปในปี 1971 ไนต์กำลังก่อตั้งบริษัทผลิตรองเท้า และเขาต้องการโลโก้สำหรับบริษัทนี้ ไนต์เผอิญได้รู้จักกับ แคโรลีน เดวิดสัน (Carolyn Davidson) นักศึกษาหญิงสาขากราฟิดีไซเนอร์ผู้หนึ่ง ระหว่างที่เขาไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์ ซึ่งไนต์ก็บอกความต้องการกับเธอไปว่า
“อยากได้สัญลักษณ์อะไรสักอย่างที่มันกระตุ้นความรู้สึกให้อยากเคลื่อนไหว”
“2 สัปดาห์ต่อมา เธอกลับมาพร้อมกับพอร์ตโฟลิโอที่เต็มไปด้วย ลายเส้นสเก็ตช์แบบหยาบ ๆ ทั้งหมดมันเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่มาจากธีมเดียวกันคือ สายฟ้าอ้วน ๆ หรือเครื่องหมายถูกที่อ้วน ๆ ไม่มีสักอันที่ถูกใจผม แต่ผมก็ต้องเลือกออกมาสักอันนึง ที่ดูเหมือนจะใกล้กับที่ผมสื่อไปมากที่สุดแล้ว ผมก็ขอร้องให้เธอเอาแบบที่ผมเลือกนี้ไปปรับมาอีก”

2-3 สัปดาห์ต่อมา เดวิดสันก็กลับมาอีกพร้อมกับตัวเลือกที่หลากหลายที่ปรับจากตัวที่ไนต์เลือก ไนต์นำผลงานของเดวิดสันไปให้ลูกทีมช่วยกันเลือก แล้วก็มีอยู่ 1 แบบที่ลูกทีมชอบกัน ซื่งดูเหมือน “ปีก” หรือสัญลักษณ์แทนกระแสลม แต่ก็ยังไม่โดนใจไนต์เท่าใดนัก
“ลูกทีมชอบมันมากกว่าผมอีก แต่เราไม่มีเวลาแล้ว เราก็จำเป็นต้องใช้มัน”
แม้ว่า Swoosh จะไม่ถูกใจเจ้าของอย่าง ฟิล ไนต์ แต่ในวันนี้มันก็กลายเป็นหนึ่งในโลโก้ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีไปแล้ว