สังคมผู้ชายไม่ว่าจะปีไหน ยุคไหน การได้ดื่มกับเพื่อนรู้ใจ นับเป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่น่ารื่นรมย์ที่สุด พอถึงช่วงวัยที่ต้องห่างกัน แต่ละคนก็ย่อมมีภาระหน้าที่ส่วนตัว อาจจะด้วยภาระครอบครัว หรือหน้าที่การงาน ก็เป็นเหตุให้ผองเพื่อนต้องมาหวนคิดถึงวันเวลาที่เคยได้ดื่ม ได้ชนแก้วกัน บางคนอาจจะเคยให้คำสัญญิงสัญญากับเพื่อนไปตอนกำลังมึน ๆ ได้ที่ ประมาณว่า
“ไม่ว่าเอ็งจะอยู่แห่งหนไหน ขอให้บอกว่าเถอะ ข้าจะตามไปดื่มกับเอ็งด้วย”
แต่เอาเข้าจริง ๆ ถ้าเพื่อนไปอยู่ต่างเมือง ไอ้ครั้นจะรักษาสัญญาเดินทางเป็นร้อย ๆ กิโลเพื่อไปชนแก้วกับเพื่อนมันก็ยังไงอยู่ แต่ระยะทางไม่ใช่ปัญหากับนาย จอห์น “ชิก” โดโนฮิว ที่สร้างวีรกรรมเล็ก ๆ แต่กลายเป็นเรื่องกล่าวขวัญกันมายาวนานตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี
ในเดือนมกราคม ปี 1968 จ่า ริก ดักแกน (Rick Duggan) กำลังนั่งเพลิน ๆ อยู่ในช่วงเวลาพักระหว่างที่ประจำการอยู่ในเวียดนาม เขาเหม่อมองไปรอบ ๆ ค่ายแล้วก็ต้องผงะเมื่อเห็น จอห์น “ชิก” โดโนฮิว (John “Chick” Donohue) เขารีบตะโกนทักไป
“ไอ้ชิกกี้ โฮลี่ ชิต มึงมาทำอะไรที่นี่ห้ะ? “
ที่ดักแกนต้องตกใจและทักไปแบบนั้นก็เพราะ โดโนฮิวนี่เป็นเพื่อนของเขาที่คบหาสนิทสนมกันมาตั้งแต่ยังเด็ก ริกแกนและโดโนฮิวเติบโตมาในย่านอินวูดด้วยกัน ในนิวยอร์ก แล้วการที่อยู่ดี ๆ โดโนฮิวโผล่มาที่จังหวัดก๋วงตริ ในเวียดนาม ซึ่งห่างจากนิวยอร์กมา 12,xxx กิโลเมตรนี่มันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแล้ว และที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น นี่คือใจกลางสนามรบในสงครามเวียดนาม มันไม่ใช่สถานที่น่าพิสมัยที่ใครอยากจะมาเดินเล่นกัน
เหตุที่ดักแกนเป็นทหารประจำการ ส่วนโดโนฮิวเป็นพลเรือนใส่เชิ้ตลายสก็อต และกางเกงยีนส์แบบสบาย ๆ ได้แบบนี้ก็เพราะ โดโนฮิวรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารในหน่วยนาวิกโยธินไปเรียบร้อยแล้วเป็นเวลา 4 ปี แล้วโดโนฮิวก็ตอบคำถามดักแกนว่าเขาโผล่มาทำไมท่ามกลางสนามรบแบบนี้
“กูเอาเบียร์ดี ๆ จากนิวยอร์กมาให้มึงกินไง”
ฟังเหมือนคำตอบล้อเล่น ประชดประชันนะ แต่เปล่าเลย นั่นคือเหตุผลจริงที่โดโนฮิวมาที่เวียดนามนี้ ซึ่งมันฟังดูเหลือเชื่อจริงนั่นล่ะ เพราะการเดินทางในยุค 60s เข้ามาในเวียดนามท่ามกลางสงครามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และราบรื่นอย่างแน่นอน ทำให้โดโนฮิวใช้เวลาเดินทางถึง 4 เดือน เพียงเพื่อต้องการมายื่นเบียร์ให้ถึงมือเพื่อนของเขาทั้ง 6 คนที่ประจำการอยู่ในเวียดนามนี้ด้วยตัวของเขาเอง เรื่องบ้า ๆ แบบนี้ ใครที่ได้ยินก็ล้วนไม่เชื่อกันทั้งนั้นล่ะ
“เดี๋ยวก่อนนะ นี่มึงกำลังบอกว่ามึงไม่ได้โดนเกณฑ์มา แต่มึงก็ยังกระเสือกกระสนมาเองยังงั้นเหรอ?”
เพื่อนทหารของดักแกนคนหนึ่งในทหารม้าที่ 1 ได้ยินเรื่องราวของโดโนฮิวแล้วถึงกับต้องถามย้ำเพื่อความแน่ใจ
ฟังเหมือนขำ ๆ หิ้วเบียร์จากนิวยอร์กมาชนขวดกับเพื่อนในเวียดนาม แต่ที่จริงแล้ว 4 เดือนในการเดินทางของโดโนฮิวนั่นทุลักทุเลเอามาก ๆ เขาต้องอาศัยติดสอยมากับเฮลิคอปเตอร์ทหารหลายลำ หลายต่อ ที่โดโนฮิวอาศัยเฮลิคอปเตอร์ทหารมาได้นั้น เพราะเขาปลอมแปลงหลักฐานและแต่งเรื่องไปว่า ดักแกนเป็นพี่ชายต่างพ่อของเขาและมีข่าวสารสำคัญจำเป็นต้องมาบอกด้วยตัวเอง แต่ที่จริงแล้วก็ไม่มีข่าวสำคัญอะไรทั้งสิ้นนั่นล่ะ มันเริ่มต้นด้วยความคิดถึงเพื่อนส่วนหนึ่งและแรงบันดาลใจอีกส่วนจากบาร์เทนเดอร์คนหนึ่งในผับแถวบ้าน
จุดเริ่มต้นของการเดินทางบันลือโลกนี้ ต้องย้อนไปในเดือนพฤศจิกายน 1967 แถวบ้านของโดโนฮิวมีผับไอริช อยู่บนถนนเชอร์แมน ชื่อร้านว่า ดอก ฟิดเดลอร์ (Doc Fiddler’s) ในช่วงนั้นผู้คนหนุ่มสาวกำลังออกไปประท้วงกันในเซ็นทรัล พาร์ก เพราะไม่เห็นชอบที่สหรัฐฯ ส่งทหารไปรบในเวียดนาม ซึ่งทุกคนในผับในวันนั้นก็กำลังจดจ่อกับทีวีในผับที่กำลังรายงานข่าวนี้ “โคโลเนล” ฉายาของบาร์เทนเดอร์ที่กำลังดูทีวีอยู่ด้วยกันก็เปรยออกมาว่า
“ฉันว่าน่าจะมีใครสักคนไปเวียดนาม ตามหาเด็กละแวกบ้านเราที่ถูกส่งไปรบที่นั่น แล้วเอาเบียร์ไปให้พวกเค้าสักคนละขวด”
โคโลเนลอาจจะพูดเล่น ๆ นั่นแหละ แต่โดโนฮิวเอาจริง เขาเอาเบียร์อเมริกันยัดใส่เต็มกระเป๋าเดินทาง คัดยี่ห้อดัง ๆ ไปอย่างเช่น Pabst Blue Ribbon และ Schlitz จากนั้นก็ไปสมัครงานเป็นเด็กเติมน้ำมันที่บริษัทเดินเรือ Drake Victory ที่มีเรือสินค้าขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ขนอาวุธยุทโธปกรณ์จากนิวยอร์กไปส่งให้กองทัพสหรัฐฯ ในเวียดนาม
2 เดือนต่อมา โดโนฮิวก็พาตัวเองมาถึงเวียดนามจนได้ เหลือระยะทางอีกแค่นิดเดียวจะไปถึงจุดหมายแล้ว แต่ติดปัญหาที่ว่าโดโนฮิวจำชื่อ – นามสกุลจริงเพื่อนทั้ง 6 คนได้ไม่หมด แล้วก็ไม่รู้อีกด้วยว่าทั้ง 6 คนนั้นถูกส่งไปประจำการที่หน่วยไหนบ้าง แต่โดโนฮิวก็ต้องมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป เขาเดินทางจากเมืองกวีเญิน ไปยังเคซาน จากตรงนี้ไปเขาต้องขอโบกรถบรรทุกไปบ้าง ติดสอยไปกับเครื่องบินทหารหรือเฮลิคอปเตอร์บ้าง แล้วในที่สุดเขาก็มาถึงไซง่อน จุดศูนย์กลางของสมรภูมิ “การรุกตรุษญวน” (Tet Offensive) หนึ่งในสมรถูมิที่นองเลือดที่สุดในสงครามสหรัฐฯ – เวียดนาม
แล้วในที่สุดโดโนฮิวก็ตามเจอเพื่อนได้ 4 คน จาก 6 คนในรายชื่อของเขา การได้ชนเบียร์กับเพื่อนเก่านั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกชวนตื้นตัน โดโนฮิวเล่าว่าเขาจำความรู้สึกได้อย่างแม่นยำ ตอนที่เห็นเพื่อน
“เปิดกระป๋องเบียร์แล้วก็ยกเบียร์ขึ้นซดอึกแรกหลังจากที่ไม่ได้สัมผัสมายาวนาน”
วีรกรรมครั้งนี้ของโดโนฮิวไม่เพียงแค่ได้นำพาเพื่อน ๆ ให้ได้หวนคืนความรู้สึกเก่า ๆ แค่นั้น แต่ยังสร้างความซาบซึ้งที่ว่าคนที่บ้านยังไม่ลืมพวกเขา ดักแกนบอกกับโดโนฮิวว่า
“การที่ได้เห็นมึงโผล่มานี่อะนะ มันรู้สึกแบบว่า โว้ ได้รู้ว่าคนที่บ้านเค้าห่วงใยพวกเราขนาดไหน”
ในปี 1968 โดโนฮิวกลับไปที่ร้านด็อก ฟิดเดลอร์ เพื่อรายงานกับโคโลเนลว่าเขาทำภารกิจสำเร็จแล้วนะ ทำเอาโคโลเนลและหลายคนในร้านอึ้งไปตาม ๆ กัน และได้ร่วมฉลองด้วยกันที่ร้าน เขากล่าวกับทุกคนว่า
“เอ้า ดื่มให้กับโคโลเนลผู้ไม่เคยดื่มในเวลาทำงานกันหน่อย เทเบียร์ให้กับตัวเองและทุกคนในนี้ด้วยนะ แล้วยกแก้วขึ้น”
ในวันนั้นโคโลเนลก็กล่าวกับทุกคนว่า
“สำหรับชิกกี้ ผู้แบกเบียร์ไปให้ไอ้หนุ่มจากบ้านเรา ด้วยความนับถือ ด้วยความภาคภูมิใจและความรัก ให้ตายเหอะวะ”
ทุกวันนี้ แก๊งเพื่อน 4 คน ที่โดโนฮิวตามตัวเจอยังมีชีวิตกันอยู่ครบ แต่ก็เข้าวัย 80 กว่ากันแล้วทั้งนั้น ทุกคนได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในภาพยนตร์สารคดีของเบียร์ Pabst Blue Ribbon เมื่อปี 2015
ในปี 2017 วีรกรรมของ จอห์น “ชิก” โดโนฮิว ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือชื่อ “The Greatest Beer Run Ever: A Memoir of Friendship, Loyalty, and War” เขียนโดยตัวโดโนฮิวเอง ร่วมกับ เจ.ที. มอลลอย แต่เรื่องราวของโดโนฮิวยังไม่จบแค่เป็นหนังสือเท่านั้น Skydance Studio ได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้ว ได้ แซก เอฟรอน (Zac Efron) มารับบทเป็น ‘ชิกกี้’ สมทบด้วย รัสเซล โครว์ (Russell Crowe) และ บิลล์ เมอเรย์ (Bill Murray) กำกับโดย ปีเตอร์ ฟาเรลลี่ (Peter Farrelly) ผู้กำกับมากฝีมือจาก Green Book และ There’s Something About Mary รับชมได้แล้ววันนี้ทาง Apple TV