ถ้าพูดถึงนักรบที่มีหัวใจกล้าแกร่งที่สุด ยึดมั่นในศักดิ์ศรีที่สุด ไม่เกรงกลัวความตาย คงจะไม่มีใครเกินนักรบจากแผ่นดินอาทิตย์อุทัยอีกแล้ว ด้วยความที่ปลูกฝังในจิตสำนึกต่อกันมาอย่างยาวนานว่าศักดิ์ศรีแห่งนักรบซามูไร เป็นชาตินักรบ การตายเพื่อแผ่นดินนับเป็นความตายที่มีเกียรติและนักรบทุกผู้พึงกระทำ เชื่อว่าหลายคนต่างก็ได้รับรู้เรื่องราวการเสียสละชีวิตของเหล่านักรบซามูไรกันผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งจากนิยาย ภาพยนตร์ และบันทึกประวัติศาสตร์ นักรบเหล่านี้จะยึดถือศักดิ์ศรี และสัจจะวาจาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทำงานผิดพลาดก็จะทำการคว้านท้องตัวเองปลิดชีพ นับเป็นการปิดชีวิตตัวเองที่บ้าบิ่นที่สุด ในยุคต่อ ๆ มา การปลูกฝังเรื่องภักดีต่อแผ่นดินก็ถ่ายทอดมาถึงเหล่าทหารหาญในกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่เกรงขามกันอย่างมากในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เพราะวีรกรรม “กามิกาเซ่” การขับเครื่องบินรบพุ่งชนเรือรบ หรืออาคารฐานที่มั่นของคู่ต่อสู้ เป็นการกระทำที่ต้องแลกด้วยชีวิตของนักบินเอง

กามิกาเซ่ครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 2

‘กามิกาเซ่’ นับเป็นรูปแบบการโจมตีที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่าทหารอเมริกันพอดู เพราะในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีการโจมตีแบบกามิกาเซ่มากถึง 2,800 ครั้ง จมเรือรบอเมริกันไปได้สำเร็จ 34 ลำ เสียหายอีก 368 ลำ คร่าชีวิตทหารอเมริกันไปมากถึง 4,900 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 4,800 นาย

หนึ่งในเหล่านักรบกามิกาเซ่นั้น ก็คือ นายหทารที่มีนามว่า ฮาจิเมะ ฟูจิอิ (Hajime Fujii) เรื่องราวชีวิตและความเสียสละของฟูจิอิถูกทางกองทัพญี่ปุ่นเก็บงำเป็นความลับมาอย่างยาวนาน เพิ่งได้รับการเผยแพร่ไม่นานมานี้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้และยกย่องในวีรกรรมของเขา ไม่เพียงแต่ตัวเขาเองแต่ยังรวมไปถึงครอบครัวของเขาด้วย

ฮาจิเมะ ฟูจิอิ

ฮาจิเมะ ฟูจิอิ เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1915 ในจังหวัดอิบารากิ เป็นลูกคนโตในจำนวนพี่น้อง 7 คน เขาได้สมัครเข้าเป็นทหารบก ตลอดเวลาที่รับราชการทหาร ฟูจิอิก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่ามีทักษะการใช้ปืนกลได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ผู้บังคับบัญชาส่งตัวเขาไปรบในจีน เพราะอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังทำสงครามรุกรานจีนมาตั้งแต่ปี 1931 ทางฝ่ายจีนก็พยายามตอบโต้อย่างหนัก ซึ่งก็ส่งผลให้ฟูจิอิบาดเจ็บจากการรบในสงครามครั้งนี้ เขาโดนสะเก็ดระเบิดเข้าที่มือซ้าย ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ที่นี่ทำให้เขาเจอรักแรกพบกับ ฟูคูโกะ พยาบาลสาวสวยที่มาจากจังหวัดกันมะ

ฟูคูโกะและลูกสาว

ความรักของทั้งคู่ดำเนินไปด้วยดี ทั้งคู่ตกลงที่จะแต่งงานกัน จึงขออนุญาตทางกองทัพเพื่อกลับมาทำพิธีแต่งงานในประเทศญี่ปุ่น ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกันถึง 2 คน คือ คาซูโกะ และ ชิเอโกะ หลังจากมีครอบครัวที่อบอุ่นน่ารัก ทางกองทัพจึงเห็นใจฟูจิอิ ไม่ส่งตัวเขาไปประจำการที่จีนแล้ว แต่ส่งให้เขาไปเรียนขับเครื่องบินที่วิทยาลัยกองทัพอากาศแทน ฟูจิอิก็สำเร็จการศึกษาในปี 1943 ซึ่งเขาก็ถูกแต่งตั้งทันทีให้เป็นผู้บัญชาการประจำโรงเรียนนักบินคุมากายะ ในจังหวัดไคตามะ และยังพ่วงหน้าที่เป็นอาจารย์ด้วย เขาสอนนักเรียนทั้งในเรื่องระเบียบวินัยทหารทั้งทางกายและจิตใจ ในหลักสูตรที่ฟูจิอิสอนนั้นคือการปลูกฝังและเน้นย้ำในเรื่องความจงรักภักดีต่อประเทศชาติ ความภาคภูมิใจที่จะได้จบชีวิตด้วยวีรกรรมกามิกาเซ่ ไม่เพียงแต่กระตุ้นให้บรรดานักเรียนมีความกล้าที่จะได้ทำกามิกาเซ่แล้ว ตัวฟูจิอิยังพร่ำบอกนักเรียนของเขาอยู่บ่อยครั้งว่าตัวเขาในฐานะอาจารย์ก็พร้อมที่จะทำกามิกาเซ่ด้วยเช่นกัน

โรงเรียนนักบินคุมากายะ

แต่ปัญหาที่ไม่เอื้ออำนวยให้ฟูจิอิให้ทำอย่างที่ว่าไว้ก็เพราะแผลที่เคยโดนสะเก็ดระเบิดที่มือซ้ายของเขานั้น แม้จะหายแล้วแต่ก็ไม่คืนสภาพเดิมเป็นปกติ เขาไม่สามารถควบคุมคันบังคับเครื่องบินได้ ปัญหาข้อนี้นับวันก็เป็นเรื่องที่ฟูจิอิรู้สึกผิดติดค้างและรบกวนจิตใจเขาตลอดมา ด้วยเหตุที่นักเรียนของเขาก็จบชีวิตไปแล้วหลายคน เพราะขณะนั้นญี่ปุ่นกำลังรบอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่ตัวเขาในฐานะที่เป็นผู้ปลูกฝังความคิดเหล่านั้น กลับไม่มีโอกาสได้ทำกามิกาเซ่เพื่อประเทศชาติ และคติประจำใจของฟูจิอิก็คือ “สัจจะและการกระทำ จะต้องสอดคล้องกัน” ยิ่งทำให้เขาหมายมั่นว่าจะต้องทำกามิกาเซ่ให้ได้ตามที่เขาเคยลั่นวาจาไว้กับบรรดาลูกศิษย์

ไม่เพียงแค่พูด ฟูจิอิยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการ ขอเข้าร่วมภารกิจกามิกาเซ่ แต่ทางกองทัพพิจารณาแล้วว่า ฮาจิเมะ ฟูจิอิ เป็นทหารที่ทรงคุณค่ากับกองทัพ ทั้งการเป็นอาจารย์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชอบของทีมงานและนักเรียน บวกกับเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว มีภาระที่จะต้องดูแลลูกเมีย ซึ่งไม่ตรงคุณสมบัติของทหารที่จะทำภารกิจกามิกาเซ่ ที่มักจะเป็นคนโสดไม่มีครอบครัว แน่นอนว่าความคิดที่จะสละชีพเพื่อประเทศชาตินั้น ย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ฟูคูโกะผู้เป็นภรรยา ที่เฝ้าขอร้องให้ฟูจิอิอยู่ห่าง ๆ จากสนามรบไว้จะดีกว่า อย่างน้อยก็ให้เห็นแก่ลูกสาวทั้งสองคน ถ้าเขาตายไปใครจะดูแลลูก ๆ

ฮาจิเมะ ฟูจิอิ ตอนที่ได้รับยศเป็นเรืออากาศโท

วันเวลาผ่านไป บรรดาลูกศิษย์ของเขาก็เดินหน้าเข้าสนามรบกันมากขึ้น หลายคนได้ทำหน้าที่นักบินกามิกาเซ่ ยิ่งทำให้ฟูจิอิมีความรู้สึกแย่ลงทุกขณะ เขาพร่ำโทษตัวเองว่าเป็นอาจารย์ที่ทรยศต่อลูกศิษย์ตัวเอง เป็นจอมเสแสร้งตลบตะแลง ทำให้เขาตัดสินใจยื่นคำร้องต่อผู้บัญชาการอีกครั้ง แสดงความจำนงขอเป็นนักบินกามิกาเซ่ คำร้องครั้งที่สองถูกปฏิเสธเช่นเคย

ถึงตอนนี้ฟูจิอิมีสภาพเหมือนมีชีวิตแต่ไร้จิตใจ ส่งผลกระทบไปถึงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวด้วย และคนที่ต้องรับสภาพโดยตรงก็คือ ฟูคูโกะภรรยาของเขาเอง ฟูจิอิไม่กลับมาเป็นคนเดิมอีกต่อไป เขากลายเป็นสภาพเป็นเหมือนผีดิบ มีชีวิตแต่ไร้วิญญาณ ฟูจิอิเฝ้าพร่ำโทษตัวเองว่าเป็นคนที่ทรยศทั้งลูกศิษย์และประเทศชาติ มาถึงจุดรุนแรงที่สุดก็ตรงที่ฟูจิอิพาลโทษไปถึงภรรยาและลูก ๆ ว่าทำให้เขาเสื่อมเสียเกียรติ เป็นเหตุให้เขารับใช้ประเทศชาติด้วยชีวิตไม่ได้

แม่น้ำอารากาวะ

ฟูคูโกะจึงตัดสินใจทำเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด ในตอนเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม ปี 1944 ในวันนั้นฟูจิอิถูกส่งตัวไปประจำการที่จังหวัดคุมากายะ ฟูคูโกะแต่งองค์ทรงเครื่องในชุดกิโมโนสวยงาม แล้วก็แต่งชุดกิโมโนให้คาซูโกะลูกสาววัย 3 ขวบและ ชิเอโกะ ลูกสาวตัวน้อยวัย 1 ขวบด้วย จากนั้นเธอก็เขียนจดหมายถึงสามีว่าจากนี้ขอให้เขาได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิไม่ต้องกังวลต่อครอบครัวของเขาอีกต่อไปแล้ว เธอและลูก ๆ จะไปรอเขาล่วงหน้า

จากนั้นเธอก็นำชิเอโกะห่อตัวด้วยผ้าและมัดติดไว้กับแผ่นหลังเธอ แล้วก็จูงมือคาซูโกะเดินตรงไปยังแม่น้ำอารากาวะ ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนที่ฟูจิอิเคยสอนอยู่ ขั้นตอนสุดท้ายฟูคูโกะนำเชือกที่เตรียมมาด้วย ปลายด้านหนึ่งผูกไว้ที่ข้อมือของคาซูโกะ ปลายอีกด้านมัดไว้รอบเอวของเธอเอง จากนั้นก็กระโดดลงแม่น้ำอารากาวะที่เย็นจัด จมหายไปทั้ง 3 แม่ลูก

จดหมายที่ฮาจิเมะ ฟูจิอิ เขียนถึงลูกสาว

ตำรวจงมเจอร่าง 3 แม่ลูกในเช้าวันต่อมา ฟูจิอิถูกตามตัวมาดูร่างไร้วิญญาณของลูกและภรรยาที่นอนเรียงรายในเย็นวันนั้น ฟูจิอิเขียนจดหมายถึงคาซูโกะลูกสาวของเขาที่อยู่ต่างภพไปแล้วตอนนี้ เขาบอกเธอว่า “พ่อฝากดูแลแม่และน้องแทนพ่อด้วย แล้วพ่อจะรีบตามไปอยู่ด้วย”

อย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อเขาไม่ได้อยู่ในสถานะหัวหน้าครอบครัวอีกต่อไปแล้ว ฟูจิอิจึงเขียนคำร้องครั้งที่ 3 ถึงผู้บังคับบัญชา แจ้งความประสงค์เช่นเคยว่าขอปฏิบัติภารกิจกามิกาเซ่ แต่รอบนี้เขากระทำการ ‘ยูบิตซูเมะ’ (ตัดปลายนิ้วก้อย) แนบไปกับจดหมายคำร้องด้วย

ฝูงบินชินบุที่ 45

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1945 ฟูจิอิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการฝูงบินชินบุที่ 45 ฟูจิอิตั้งชื่อฝูงบินของเขาว่า ‘ไคชิน’ มีความหมายว่า ‘วิญญาณอันเบิกบาน’ ภารกิจสำคัญของฝูงบินไคชินคือรับมือกับ เรือพิฆาต USS Drexler และ USS Lowry ที่กำลังมุ่งหน้ามาโอกินาวา เพื่อตอบโต้ญี่ปุ่น หลังจากไปโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อ 3 วันก่อนหน้านี้

USS Drexler

ฝูงบินไคชินจำนวน 9 ลำ บินขึ้นฟ้าในรุ่งสางของวันที่ 28 พฤษภาคม แต่ละลำจะมีทหาร 2 นาย คือนักบินและพลปืน ทุกคนออกปฏิบัติภารกิจด้วยความปลื้มปีติ พอเห็นเรือพิฆาตของสหรัฐฯ อยู่ในระยะ ฝูงบินไคชินก็เปิดฉากโจมตีทันที เครื่องบินลำหนึ่งในฝูงบินไคชินถูกกระสุนจาก USS Drexler และ USS Lowry เข้าอย่างจัง จึงตัดสินใจทำกามิกาเซ่พุ่งเข้าหา Drexler ลำต่อมาตัดสินใจกามิกาเซ่เข้าหา Lowry แต่พลาด ก็เลยซ้ำเข้าที่ Drexler อีกครั้ง ลำที่สองนี้ส่งผลเสียอย่างมาก ไฟฟ้าทั้งลำเรือดับลงและเกิดไฟลุกท่วม แต่ Drexler ก็พยายามยิงตอบโต้อย่างหนักแม้ว่าเรือจะเสียหายมาก และสามารถยิงฝูงบินไคชินได้อีก 2 ลำ ซึ่งก็พุ่งตรงเข้า Drexler ทันทีที่ถูกยิง


7:03 น. เครื่องบินรบในฝูงบินไคชินรุ่น “Frances” P1Y1 bomber ยิงโจมตีได้อย่างรุนแรงเข้าเป้าส่งผลให้ Drexler ไม่สามารถยิงตอบโต้ได้อีกต่อไป จมสู่ก้นสมุทรภายในเวลาเพียงแค่ 50 วินาทีเท่านั้น การจมดิ่งอย่างรวดเร็วนี่เอง ทำให้ลูกเรือต้องจบชีวิตไปกับเรือมากถึง 158 นาย บาดเจ็บอีก 52 นาย นับเป็นการโจมตีด้วยกามิกาเซ่ ที่รุนแรงและเฉียบพลันที่สุดในประวัติศาสตร์ และหนึ่งในเครื่องบินที่ทำกามิกาเซ่ในครั้งนี้ก็คือ ฮาจิเมะ ฟูจิอิ

อ้างอิง อ้างอิง