เป็นเรื่องประหลาดที่พบว่า แม่พังพอนที่อยู่ในฝูงเดียวกัน จะคลอดลูกพร้อม ๆ กันในคืนเดียว พอเป็นเช่นนี้แม่พังพอนก็จะไม่รู้ว่าลูกพังพอนตัวไหนคือลูกของตน ลักษณะเช่นนี้ก็ให้เกิดการเลี้ยงดูแบบเสมอภาค จากผลการศึกษาล่าสุดโดย แฮร์รี่ มาร์แชล (Harry Marshall) อาจารย์ทางด้านสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโรแฮมป์ทัน (University of Roehampton) แห่งกรุงลอนดอน ผู้ร่วมคนคว้าในเรื่องนี้ และได้เผยแพร่ผลการศึกษาเรื่องนี้ใน journal Nature Communications เมื่อเดือนมิถุนายน 2021
“ตามธรรมชาติโดยทัวไป พ่อแม่จะต้องรักและหวงแหนลูกของตัวเอง แต่ในฝูงพังพอนนั้น แม่พังพอนจะคลอดลูกในคืนเดียวกันหมด สันนิษฐานว่าเป็นเพราะวิวัฒนาการของสายพันธุ์สัตว์ที่เป็นไปเพื่อปกป้องลูก ๆ ของพังพอนจากสัตว์นักล่า ก่อให้เกิด สถานการณ์ที่แปลกประหลาดเช่นนี้ เพราะแม่พังพอนจะไม่รู้ว่าตัวไหนคือลูกของตัวเอง ก็เลยไม่สามารถดูแลเอาใจหาอาหารให้ลูกตัวเองเป็นพิเศษได้”
มีการอธิบายเพิ่มเติมถึงปรากฏการณ์นี้ในนิตยสารทางวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2010 ที่แม่พังพอนทุกตัวมักจะคลอดลูกในคืนเดียวกันนั้นก็เพื่อความมั่นใจว่าลูก ๆ ของตัวเองจะรอดปลอดภัย นั่นก็เพราะสัญชาตญาณที่โหดร้ายของบรรดาแม่พังพอน จากการศึกษาพบว่ามีแม่พังพอนประมาณ 30% ในฝูงเดียวกันที่คลอดลูกมาก่อนล่วงหน้า 1 – 2 วันก่อนตัวอื่น ๆ แม่พังพอนตัวอื่น ๆ จะฆ่าลูกพังพอนที่เกิดมาก่อนเหล่านี้”
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสังคมแห่งความเท่าเทียมในฝูงพังพอน แม่พังพอนไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกแข่งขันในกลุ่มลูกพังพอนเกิดใหม่ แม่พังพอนที่คลอดลูกออกมาก่อนตัวอื่นในฝูง จะต้องออกไปหาอาหารมาป้อนลูกน้อยของตัวเอง แม่พังพอนตัวอื่นก็จะอาศัยช่วงเวลานี้ฆ่าลูกพังพอนเหล่านั้นซะ
“แต่ถ้าลูกพังพอนที่เกิดในคืนเดียวกันตามปรกติ แม่พังพอนทุกตัวก็จะออกไปหาอาหารพร้อมกันหมด ไม่มีแม่พังพอนตัวไหนที่ยังอยู่ในฝูงเพื่อฆ่าลูกพังพอนตัวอื่น”
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม่พังพอนก็จะดูแลลูก ๆ พังพอนทุกตัวอย่างทัดเทียมกัน โดยเฉลี่ยแล้วแม่พังพอนในแต่ละฝูงจะคลอดลูกพร้อมกันประมาณ 20 ตัว และโอกาสที่จะรอดชีวิตทั้งหมดก็สูงมาก
กลุ่มนักวิจัยพังพอน ยังทำการทดลองเพิ่มเติมกับพังพอน 7 ฝูง ทั้งในแอฟริกา และอูกันดา ในการทดลองนี้นักวิจัยได้แบ่งกลุ่มแม่พังพอนที่ตั้งท้องออกเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน กลุ่มหนึ่งนักวิจัยจะให้กินไข่ต้ม 50 กรัมต่อเนื่องทุกวันจนคลอด ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้ให้อาหารใดเป็นพิเศษ เมื่อแม่พังพอนคลอดลูกออกมาจะสังเกตเห็นได้ชัดว่า แม่พังพอนกลุ่มที่ได้กินไข่ต้มทุกวัน จะให้กำเนิดลูกที่ตัวใหญ่กว่าแม่ที่ไม่ได้กินไข่ต้ม บรรดาแม่ ๆ พังพอนจะสังเกตเห็นขนาดที่แตกต่างกันของลูกพังพอนเกิดใหม่ ลูกพังพอนที่ตัวเล็กกว่าจะได้รับการดูแลให้อาหารมากกว่าเป็นพิเศษ วันเวลาผ่านไปไม่นาน ลูกพังพอนก็จะตัวเท่ากันหมดจนสังเกตความแตกต่างได้ยากแล้ว
“การศึกษาของเราชี้ชัดว่าความเสมอภาคสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมของสัตว์โลก เห็นได้ชัดว่าแนวความคิดนี้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มมนุษย์เรา”
แม่ ๆ พังพอนจะให้นมลูกพังพอนในรังที่อยู่ใต้ดินเป็นเวลายาวนานนับเดือน ระยะเวลาให้นมนี้จะไม่มีการแบ่งแยกว่าแม่ใครลูกใคร ลูกพังพอนจะดูดนมแม่พังพอนตัวไหนก็ได้ พอผ่านไป 1 เดือนลูกพังพอนจะเริ่มผุดออกมาจากรังใต้ดินมาเดินเล่นบนพื้นดิน ตอนนี้แม่พังพอนจะทำหน้าที่ปกป้องอารักขาลูกพังพอนแบบตัวต่อตัว ผู้ทำหน้าที่ดูแลจะเป็นพ่อพังพอนหรือแม่พังพอนก็ได้ ลูกพังพอนจะได้รับการดูแลจากพังพอนที่โตเต็มวัยไปประมาณ 90 วัน หลังจากนั้นพวกมันก็จะเริ่มหาอาหารเองได้แล้ว
นับว่าระเบียบสังคมของพังพอนนั้นเป็นแปลกประหลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นรูปแบบที่เสมอภาคทัดเทียมกันดีจริง