หอไอเฟล หรือ Tour Eiffel สิ่งก่อสร้างที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีในฐานะสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส มีความสูง 321 เมตร เทียบเท่ากับตึก 81 ชั้น ถูกสร้างขึ้นมาในปี 1889 เพื่อโปรโมตงานแสดงสินค้าโลก (Exposition universelle de Paris) ที่จัดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปีนั้น นับถึงวันนี้มีผู้คนทั่วโลกต่างแวะไปเยี่ยมชมหอไอเฟลแล้วกว่า 200 ล้านคน แต่เชื่อมั้ยละครับว่า เคยมีมิจฉาชีพระดับพระกาฬเคยติดต่อขายหอไอเฟลสำเร็จมาแล้ว แล้วยังขายได้ถึง 2 ครั้งเลยด้วย ฟังแล้วเหลือเชื่อยังกับพล็อตหนัง แต่นี่คือเรื่องจริงของ วิกเตอร์ ลัสทิก (Victor Lustig) 18 มงกุฏระดับตำนานที่โลกต้องจดจำชื่อเขาไปยาวนานเพราะเขาคือผู้สร้างคดีฉ้อโกงที่อื้อฉาวที่สุดในศตวรรษที่ 20

Victor Lustig

วิกเตอร์ ลัสทิก

วิกเตอร์เกิดเมื่อปี 1890 ในภูมิภาคโบฮีเมีย ปัจจุบันเป็นพื้นที่ในออสเตรียและฮังการี พื้นเพครอบครัวของเขาก็จัดว่ามีฐานะ แล้ววิกเตอร์ก็เป็นคนหัวดีเรียนเก่งอีกด้วย แต่เขารู้สึกว่าการทำงานกินเงินเดือนมันไม่ใช่วิถีชีวิตของเขา เงินน้อยและช้าเกินไป เขาใคร่ครวญแล้วว่าเขาน่าจะใช้พรสวรรค์ที่เขาเป็นคนฉลาดมีไหวพริบหาเงินได้มากกว่านี้ แต่เขากลับเลือกที่จะใช้มันสมองของเขาไปในวิถีทางของ “นักต้มตุ๋น”

ปี 1909 เขาตัดสินใจทิ้งเมืองโบฮีเมีย แล้วไปตั้งรกรากในปารีส เริ่มต้นงานแรกด้วยการเป็น ‘แมงดา’ อย่าเพิ่งด่วนประณามวิกเตอร์สิ ไหนบอกจะใช้มันสมองหากินไง นั่นก็ใช่ครับ เพราะอาชีพนี้ทำให้วิกเตอร์ได้รู้จักกับบรรดาเศรษฐีนีมากมาย แล้วก็ใช้เสน่ห์ล่อหลอกเงินจากหญิงกระเป๋าหนักมาได้มาก พอเก็บเงินได้พอควร วิกเตอร์ก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปหากินในนิวยอร์กดูบ้าง ที่นี่เขาเข้าเป็นสมาชิกแก๊ง ElDorado อยู่ระยะสั้น ๆ คงจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านมืดนั่นแหละ แล้วก็กลับมาอยู่ปารีสในปี 1925

หลังกลับมาอยู่ปารีสแล้ว แหล่งหากินอันโปรดปรานของวิกเตอร์ก็คือเรือสำราญสุดหรู เพราะลูกค้าบนเรือนี้ล้วนมีแต่มหาเศรษฐีทั้งนั้น วิกเตอร์จับทางถูกเกี่ยวกับรสนิยมของคนกลุ่มนี้ คือส่วนใหญ่จะชื่นชอบละครเพลงบรอดเวย์ ซึ่งเป็นรูปแบบการเสพความบันเทิงของคนในสังคมชั้นสูง และคนกลุ่มนี้ก็ปรารถนาที่จะลงทุนในธุรกิจบรอดเวย์กันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว วิกเตอร์ก็ได้ทีแอบอ้างตนเองว่าเป็นผู้อำนวยการสร้างละครเพลงบรอดเวย์ แล้วก็ชักชวนมหาเศรษฐีเหล่านี้ให้ลงทุนในการสร้างละครเพลงเรื่องใหม่ ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง

ขายหอไอเฟล

วิกเตอร์ ลัสทิก คนกลาง

จนมาถึงเดือนพฤษภาคม ปี 1925 วิกเตอร์ก็เจอช่องทางหากินใหม่โดยบังเอิญ เมื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับในปารีสลงข่าวเดียวกันว่า หอไอเฟลที่มีอายุ 36 ปีแล้ว เริ่มมีสภาพทรุดโทรม บริษัทก่อสร้างประเมินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาออกมาแพงมาก ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มใคร่ครวญว่า ‘รื้อทิ้งน่าจะถูกกว่าซ่อม’ ผู้คนส่วนใหญ่อ่านแล้วก็ผ่านไป ดำเนินชีวิตตัวเองกันต่อไป แต่ไม่ใช่สำหรับวิกเตอร์ ลัสทิก นี่คือโอกาสดีที่สุดของเขาแล้ว เหมือนกับว่ารัฐบาลฝรั่งเศสปูพรมแดงให้เขาหากินสบายเลย ว่างั้นก็ได้

เหตุหนึ่งที่วิกเตอร์คิดแผนการต้มตุ๋น แล้วหลอกเหยื่อได้สำเร็จเสมอก็เพราะเขาค่อนข้างใจเย็น ไม่ผลีผลาม ให้ความสำคัญกับขั้นตอนศึกษาข้อมูล เตรียมความพร้อม จนมั่นใจ สำหรับแผนการหลอกขายของใหญ่ระดับโลกอย่างหอไอเฟลนั้น เขาแอบอ้างตัวเองว่าเป็น รองผู้อำนวยการกระทรวงไปรษณีย์และโทรเลขฝรั่งเศส แล้วก็ร่างจดหมายมีตรากระทรวงดูน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ส่งไปหา 5 บริษัทชั้นนำของฝรั่งเศสที่ประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเศษเหล็ก เนื้อหาใจความในจดหมายยังไม่ระบุประเด็นชัดเจนนัก แต่ภาษาที่ใช้ก็ดูเป็นทางการ น่าเชื่อถือ และใจความสำคัญนั่นก็คือ วิกเตอร์เชิญให้ตัวแทนทั้ง 5 บริษัทมาพบเขาที่ในโรงแรมหรูเพื่อคุยรายละเอียดกันในธุรกิจสำคัญเร่งด่วนนี้

วิกเตอร์จัดตารางนัดพบทีละคน เขาเลี้ยงไวน์และอาหารเย็นกับแขกทั้ง 5 คนเป็นอย่างดี ก่อนจะเข้าสู่ใจความสำคัญว่า ตกลงแล้วทางรัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจที่จะรื้อหอไอเฟลทิ้ง ตามข่าวที่ได้เคยเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์ และที่เรื่องนี้เป็นดีลใหญ่ก็เพราะ เมื่อรื้อลงมาแล้วจะกลายเป็นเศษเหล็กจำนวนมหาศาลถึง 7,000 ตัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะขายให้กับผู้รับซื้อเพียงเจ้าเดียว ที่เสนอราคาซื้อสูงที่สุดเท่านั้น และในระหว่างเจรจานี้ วิกเตอร์ที่ทำการบ้านมาอย่างดี ก็ใส่ข้อมูลสมทบเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีกว่า อย่างที่รู้กันดีว่าหอไอเฟลนั้นสร้างเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่ฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเวิลด์แฟร์ เมื่อปี 1889 ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะสร้างให้เป็นการถาวรแต่แรกอยู่แล้ว ไม่แค่นั้น วิกเตอร์ยังยกคำพูดของ อาแล็กซ็องดร์ ดู (Alexandre Dumas) นักประพันธ์ชื่อดังที่ไม่ชอบหอไอเฟลนี้และเรียกมันว่า “สิ่งก่อสร้างอันน่าขยะแขยง” ซึ่งวิกเตอร์ก็คุยไปพร้อมกับใส่อารมณ์ประกอบอย่างเต็มที่ ประมาณว่าตัวเขาเองก็เสียดายหอไอเฟลอย่างสุดประดา แต่เป็นการตัดสินของผู้ใหญ่ ซึ่งเขาก็ต้องทำหน้าที่ไปอย่างช่วยไม่ได้ เพราะเขาเองก็ยอมรับว่าค่าซ่อมแซมก็แพงมากจริง ๆ แล้วเรื่องแต่งทั้งหมดบวกกับการแสดงท่าทางประกอบอย่างมืออาชีพของวิกเตอร์ก็ได้ผลชะงัด ตัวแทนทั้ง 5 บริษัทเชื่อเขาอย่างสนิทใจ

ไม่กี่วันจากนั้น วิกเตอร์ก็แจ้งผลว่าเจ้าไหนคือบริษัทที่ชนะเลิศการประมูล ซึ่งก็คือ อังเดร ปัวซง (André Poisson) เหยื่อที่วิกเตอร์พิจารณาแล้วว่าน่าจะหวานหมู กล่อมง่ายที่สุด วิกเตอร์นัดเจอกับอังเดร แจ้งข่าวดีว่าเขาคือบริษัทที่ชนะเลิศการประมูล แล้วก็ชวนคุยนั่นนี่ไปอีกครู่หนึ่ง ก่อนจะเข้าจุดสำคัญเมื่อวิกเตอร์เริ่มพรรณาถึงชีวิตการทำงานของเขา ในฐานะผู้ทำหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลในการเจรจากับบริษัทผู้รับเหมาต่าง ๆ แต่ทำไงได้นะ ตำแหน่งหน้าที่อย่างเขานี่จำเป็นมากเลย ที่ต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพงให้สมเกียรติกับตัวแทนรัฐบาล แล้วต้องพาผู้รับเหมาไปดื่มกินหรู ๆ ทั้งที่เงินเดือนที่เขาได้ก็น้อยนิด เอ่ยมาแบบนี้ ใครที่ทำหน้าที่ติดต่อธุรกิจก็รู้แล้วล่ะ ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร แล้วต้องเล่นตามน้ำอย่างไรต่อ ว่าแล้วอังเดรก็จัดเงินก้อนโตใส่ซองให้กับวิกเตอร์เพื่อเป็นค่าน้ำชาในการเร่งรัดดำเนินการให้เขา ตามเนื้อหาไม่ได้ระบุว่าวิกเตอร์ได้ไปเท่าไหร่ แต่ก็เพียงพอให้เขาบินหนีไปออสเตรียทันที แผนการสำเร็จลุล่วง วิกเตอร์ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย แต่ก็คอยเช็กข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะ ว่าแผนการต้มตุ๋นครั้งนี้ของเขากลายเป็นข่าวหรือยัง แต่ผ่านไปวันแล้ววันเล่าเรื่องราวของเขาก็เงียบฉี่ วิกเตอร์เดาถูกว่า อังเดรไม่กล้าไปแจ้งตำรวจเพราะกลัวจะอับอายว่าตัวเขานั้นโง่จนโดนหลอกเงินก้อนโตไปด้วยวิธีง่าย ๆ

วิกเตอร์ได้ใจ เขามาถูกทางแล้ว ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย แต่ได้เงินก้อนโต ผ่านไป 6 เดือน วิกเตอร์กลับมาปารีสอีกรอบ เริ่มต้นแผนการเดิมอีกครั้ง หว่านจดหมายไปอีก 5 บริษัทที่รับซื้อเศษเหล็ก แล้วเรื่องไม่น่าเชื่อก็เป็นไปได้จริง ๆ แผนการเดิมยังใช้ได้ วิกเตอร์ขายหอไอเฟลสำเร็จอีกครั้ง แต่น่าจะเป็นรอบสุดท้ายแล้ว เพราะเหยื่อรอบนี้ยอมอาย ไปแจ้งความ เรื่องราวการหลอกขายหอไอเฟลกลายเป็นข่าวดังบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ วิกเตอร์รู้ตัวเองว่าเขาอยู่ในปารีสไม่ได้แล้ว จึงบินหนีไปสหรัฐอเมริกา

ขึ้นแท่นจอมต้นตุ๋นระดับโลก

ลีฟ ชไรเบอร์ รับบทเป็น วิกเตอร์ ลัสทิก ในทีวีซีรีส์ Liev Schreiber as Victor Lustig in the TV series “Drunk history” S04E08 “Landmarks”

วิกเตอร์ในวันนี้เขาพูดได้ 5 ภาษา มี 20 ชื่อปลอม อยู่ในสถานะของจอมโกงระดับโลก เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ฉ้อฉล กลโกงมาเต็มเปี่ยม หลอกผู้คนจนหมดเนื้อประดาตัวมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นผู้ต้องหาในกว่า 40 คดี และเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรทางกฏหมายทั่วโลก แต่เขาก็ยังดำเนินชีวิตในฐานะนักต้มตุ๋นต่อไป ด้วยวิธีการใหม่ ๆ ที่เขาคิดขึ้น มีอุบายหนึ่งที่เขากวาดเงินได้มากมาย คือการขายกล่องวิเศษ ที่วิกเตอร์อวดอ้างว่า สามารถพิมพ์แบงก์ปลอมได้เหมือนจริงสุด ๆ

วีรกรรมหนึ่งของวิกเตอร์ที่ดังมาก คือเขากล้าเข้าหา อัล คาโปน (Al Capone) เจ้าพ่อมาเฟียระดับตำนาน แต่เข้าไปหาในฐานะตัวตนจริง ๆ ว่าเขาคือ วิกเตอร์ ลัสทิก 18 มงกุฏชื่อก้องโลก และเขามีอุบายใหม่ที่จะทำเงินจากกลโกงได้มากมาย และต้องการให้อัล คาโปน ร่วมลงทุนในแผนการใหญ่ครั้งนี้เป็นเงิน 50,000 เหรียญ คาโปนยอมจ่ายให้ เขานั่งจ้องเงินของคาโปนอยู่ 2 เดือนโดยไม่นำไปใช้จ่าย เพราะเกิดหวั่นว่าชีวิตเขาจะคุ้มกับเงิน 50,0000 เหรียญนี้ไหม สุดท้ายวิกเตอร์ถอดใจ เอาเงินกลับไปคืนคาโปน แล้วโกหกว่าแผนการของเขาล่ม ไม่เป็นไปอย่างที่คิด กลับกลายเป็นว่าคาโปนเกิดประทับใจ ออกปากชมว่าวิกเตอร์ซื่อสัตย์กับเขา เลยให้ทิปมาเป็นเงิน 1,000 เหรียญ

บทสุดท้ายในชีวิตจอมโกงของวิกเตอร์ จบในปี 1936 เขาโดนตำรวจรวบตัวได้สำเร็จ ศาลตัดสินให้รับโทษจำคุก 11 ปี แต่เขาก็เสียชีวิตในคุกเมื่อปี 1947 ปีสุดท้ายของการจองจำ
ระหว่างที่อยู่ในคุก วิกเตอร์ได้เขียนบัญญัติ 10 ประการ ที่เขายึดถือเหนียวแน่นในการเป็นนักต้มตุ๋นที่ประสบความสำเร็จ

1.จงเป็นผู้ฟังที่ดี สำคัญที่สุด อย่าพูดแทรก พูดเร็ว
2.อย่าแสดงอาการเบื่อหน่ายให้คู่สนทนาเห็น
3.รอคอยให้คู่สนทนาพูดเรื่องความเห็นทางการเมือง แล้วรีบแสดงว่าเห็นพ้องตามเขา
4.เหมือนข้อ 3 รอให้ผู้สนทนาพูดเรื่องมุมมองต่อศาสนา แล้วรีบแสดงว่าเห็นพ้องตามเขา
5.ลองแย็บ ๆ เรื่องใต้สะดือ แต่อย่าเยอะ นอกเสียจากเห็นว่าคู่สนทนาชอบเรื่องแบบนี้จริง ๆ
6.อย่าได้เอ่ยถึงเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย นอกเสียจากเห็นคู่สนทนากังวลเรื่องนี้จริง ๆ
7.อย่าได้แสดงความสนใจสอดรู้เรื่องส่วนตัวของคู่สนทนา เดี๋ยวเขาก็เอ่ยขึ้นมาเอง
8.อย่าได้คุยโวโอ้อวดเรื่องส่วนตัว
9.อย่าได้เป็นคนไร้ระเบียบ
10.อย่าเมา

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง