รู้ไหมว่าโลกเรามีแมลงต่าง ๆ มากกว่า 10 ล้านสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีรูปแบบการดำเนินชีวิตในธรรมชาติแตกต่างกันไป บางชนิดก็วิถีชีวิตการสืบพันธุ์ การหาอาการ การล่าเหยื่อ หรือการป้องกันตัวที่น่าประหลาดใจ และด้วยจำนวนที่มาก ทำให้มีการค้นพบเรื่องราวที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่เนือง ๆ และบางเรื่องก็เป็นปริศนาที่น่าค้นหาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นเรื่องราวการล่าแมลงสาบของ Emerald cockroach wasp
Emerald cockroach wasp หรือ Jewel wasp มีชื่อไทยว่า ต่อสาบมรกต หรือ ต่อมณีรัตน์ พบได้มากในภูมิภาคร้อนชื้นเช่น แอฟริกา, หมู่เกาะแปซิฟิก และ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย ที่ต่อพันธุ์นี้ได้ชื่อว่า ต่อสาบมรกต ก็เพราะสีสันอันสวยงามของมัน ผิวภายนอกมีสีเขียว-น้ำเงิน เงาวับสะดุดตา แต่บริเวณขาหลัง 2 คู่ จะมีสีแดงตัดกับสีส่วนลำตัว ตัวเมียจะมีขนาดโดยเฉลี่ย 2.2 เซ็นติเมตร ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเกินเท่าตัว ตัวเมียจะตัวใหญ่กว่าและมีเหล็กไนที่ส่วนปลายปล้องท้ายลำตัว เหมือนอย่างแมลงจำพวก แตน และผึ้ง
ชื่อเสียงของต่อสาบมรกต รวมถึงคำว่า “สาบ” ที่อยู่ในชื่อกลางของมัน ก็มาจากวิธีการจัดการกับแมลงสาบที่เป็นเอกลักษณ์จำเพาะของสายพันธุ์นี้ ที่เจาะจงจัดการเฉพาะแมลงสาบตามบ้านด้วยวิธีการที่สุดอำมหิต ถ้าได้รู้ว่าชะตากรรมของแมลงสาบพวกนี้หลังตกเป็นเหยื่อของต่อสาบมรกตแล้วละก็ จากที่เราเคยรังเกียจเจ้าแมลงสาบพวกนี้ อาจจะรู้สึกสงสารมันขึ้นมาก็ได้ และด้วยวิธีการที่ต่อสาบมรกตจัดการแปลงร่างให้แมลงสาบกลายเป็นซอมบี้ได้นั้น ก็เป็นเรื่องราวน่าพิศวงที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาหาคำตอบมานับทศวรรษ
ต่อสาบมรกตจะเป็นต่อที่ไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง แต่จะอยู่ตัวเดียวเป็นเอกเทศและสร้างรังเฉพาะของตัวเอง เมื่อถึงคราวที่ตัวเมียต้องวางไข่มันจะออกจากรัง ด้วยภารกิจเดียวคือ ตามหาแมลงสาบบ้าน เมื่อเจอเป้าหมายแล้วมันจะพุ่งเข้าจู่โจมด้วยการต่อย หรือยิงพิษเข้าใส่ร่างแมลงสาบ 2 ครั้ง หลังจากพิษออกฤทธิ์แล้ว แมลงสาบจะกลายสภาพเป็นซอมบี้ นั่นก็คือสูญเสียความสามารถในการควบคุมร่างตัวเอง ขั้นตอนต่อไปของต่อสาบมรกตคือกัดหนวดทั้งสองเส้นของแมลงสาบให้ขาดออก ดื่มเลือดแมลงสาบเพื่อเพิ่มพลังให้ตัวเอง ขั้นตอนสุดท้าย ต่อจะงับเข้าที่โคนหนวดแมลงสาบ แล้วเดินถอยหลังมุ่งสู่รังตัวเอง แมลงสาบสูญเสียการควบคุมแต่ยังสามารถเดินได้ปรกติ ก็เดินตามทิศทางที่ต่อเป็นฝ่ายควบคุมมุ่งสู่รังของต่อที่จะเป็นจุดจบอันน่าสยดสยองของมัน
เมื่อมาถึงรังแล้วต่อจะเริ่มวางไข่ไว้ที่บริเวณหน้าท้องของแมลงสาบที่นอนแน่นิ่ง ผ่านไป 3-4 วันตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ เมื่อตัวอ่อนออกจากไข่มา ก็จะทำอย่างเดียวคือการกินอาหาร นั่นก็คือร่างของแมลงสาบนั่นเอง ที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นพื้นที่วางไข่และเป็นอาหารให้ตัวอ่อนพร้อมสรรพ ตัวอ่อนจะกัดกินเนื้อบริเวณหน้าท้องแมลงสาบแล้วก็เจาะเข้าไปกินอวัยวะภายในต่อไป ที่น่าสยดสยองก็คือ แมลงสาบนอนนิ่ง ๆ ให้ตัวอ่อนกินร่างนั้น มันยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถกระดิกกระเดี้ยได้ เมื่อกินอิ่มจนครบวงจรแรกของการเจริญเติบโตแล้ว ตัวอ่อนก็สร้างดักแด้ฝังตัวอยู่ภายในร่างแมลงสาบนั่นเอง ถึงตอนนี้แมลงสาบก็จบชีวิตไปเรียบร้อยแล้วเป็นการตายที่ทรมานที่สุด นับตั้งแต่วันที่ตัวอ่อนฟักตัวออกจากไข่แล้วเริ่มเขมือบร่างแมลงสาบจนเป็นดักแด้และฟักตัวอีกครั้งเป็น ต่อแมลงสาบที่โตเต็มวัยนั้น รวมแล้ว 8 วัน
ดูขั้นตอนได้จากคลิปนี้
นักวิทยาศาสตร์เผยผลการวิเคราะห์โดยละเอียด
เหล่านักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจการควบคุมร่างแมลงสาบของต่อสาบมรกตมาตั้งแต่ปี 1940s แล้ว แต่เพิ่งจะคลี่คลายได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้คือ เฟรดเดอริก ไลเบอร์แซต (Frederic Libersat) และทีมงานจากมหาวิทยาลัย เบ็น กูเรียน (Ben Gurion University) ประเทศอิสราเอล
อย่างที่เล่าไปข้างต้นนั้น ก่อนที่จะควบคุมแมลงสาบได้นั้น ตัวต่อจะต้องปล่อยพิษใส่แมลงสาบถึง 2 ครั้งให้ได้เสียก่อน ซึ่งพิษที่ปล่อยไปแต่ละครั้งก็มีคุณสมบัติในการควบคุมที่แตกต่างกันด้วย
ปล่อยพิษครั้งแรก : พิษจะเข้าควบคุมเนื้อเยื่อประสาทบริเวณทรวงอกของแมลงสาบ พิษที่ต่อยใส่ครั้งแรกนี้จะประกอบไปด้วย 1.กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก (gamma-Aminobutyric acid) 2.เทารีน (Taurine) 3.อะลานีน (Alanine) กรดแกมมาอะมิโนบิวทีริก เป็นสารที่ไปยับยั้งหลักการสื่อสารในระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนเทารีนและอะลานีนนั้นจะทำให้ขาหน้าทั้งสองข้างของแมลงสาบเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ ผลก็คือแมลงสาบจะหยุดนิ่งหมดสิทธิ์ที่จะหนีไปไหนได้อีก
ปล่อยพิษครั้งที่สอง : รอบนี้แมลงสาบไม่ดิ้นไม่ขัดขืนแล้ว ต่อสาบมรกตก็สามารถเจาะจงปล่อยพิษเข้าที่ส่วนหัวแมลงสาบได้อย่างถนัด หลังจากโดนยิงพิษใส่ครั้งที่สองแล้วนี่ละ แมลงสาบก็กลายสภาพเป็นซอมบี้อย่างชัดเจน พิษที่ปล่อยใส่ในรอบสองนี้มีชื่อว่า “neurotoxic cocktail” จะไปปิดกั้นปลายระบบประสาท ไม่ให้รับสาร octopamine เป็นสารสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาท มีผลควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะการเดิน
ไลเบอร์แซต ได้ทำการทดลองให้ดูด้วยการ นำแมลงสาบมาฉีดสารประกอบ octopamine เข้าร่าง จะเห็นได้ชัดว่าแมลงสาบที่ได้รับสารจะขยันเดินมากขึ้น
อีกตัวหนึ่งนำมาฉีดสารเคมีที่ไปปิดกั้นระบบประสาทไม่ให้รับสาร octopamine ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแมลงสาบเริ่มสูญเสียประสิทธิภาพในการเดิน สภาพคล้ายกับแมลงสาบที่โดนต่อสาบมรกตต่อย
ไลเบอร์แซตยังแสดงให้ดูอีกว่า แมลงสาบที่กลายร่างเป็นซอมบี้ไปแล้วนั้น ถ้าได้รับสารกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทให้รับสาร octopamine ได้ ก็จะกลับมาเดินได้อย่างปรกติ
ไลเบอร์แซตและทีมงานยังทำการค้นคว้าในระดับต่อไป ด้วยการนำแมลงสาบในสภาพที่โดนต่อสาบมรกตปล่อยพิษใส่แล้วไปวางในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเป็นอันตรายต่อตัวแมลงสาบ เพื่อสังเกตสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ไลเบอร์แซตทดลองด้วยการเอาไฟฟ้าจี้ หรือเทน้ำใส่แมลงสาบ ซึ่งมันก็ไม่มีทีท่าจะหนีไปไหน ไลเบอร์แซตจึงทำการทดสอบต่อ ด้วยการลงลึกไปที่สมรรถนะกล้ามเนื้อของแมลงสาบ ก็พบว่าอยู่ในสภาพปรกติ จึงสรุปได้ว่าพิษของต่อสาบมรกตนั้นไปควบคุมสภาวะการตัดสินใจของแมลงสาบไม่ได้ไปควบคุมความสามารถในการเดิน
แม้ว่ารูปแบบการสืบพันธุ์ของต่อสาบมรกตจะดูโหดร้ายอำมหิต แต่นี่ก็คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่สร้างสรรค์ให้แมลงตัวเล็ก ๆ อย่างต่อสาบมรกตมีพิษสงในการควบคุมแมลงที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าอย่างแมลงสาบได้ เพราะถ้าไม่มีพิษดังกล่าวนี้ ต่อสาบมรกตที่ไม่ได้มีพละกำลังมหาศาลอย่างมดที่สามารถแบกเหยื่อที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวเองหลายเท่าได้ ก็จะไม่สามารถลากแมลงสาบกลับไปรังได้ ก็เท่ากับยุติวงโคจรชีวิตมันไปโดยสิ้นเชิง
แต่ที่เล่ามาก็ไม่ได้หมายความว่า แมลงสาบทุกตัวจะเป็นเป้านิ่งให้ต่อแมลงสาบพุ่งมาปล่อยพิษใส่ได้ง่าย ๆ หรอกนะ ถึงแม้ภาพลักษณ์ของแมลงสาบจะเป็นแมลงสาบที่ดูไร้พิษสง ไม่มีทั้งเขี้ยวทั้งเหล็กไน แต่ผู้เขียนเองก็เพิ่ง่รู้ว่าขาหลังของแมลงสาบที่มีหนามนั่นล่ะ อาวุธไว้ต่อกรกับแมลงหรือสัตว์ที่เป็นภัยต่อมัน ซึ่งต่อแมลงสาบที่เข้าไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าก็โดนขาหลังแมลงสาบดีดปลิวเอาได้ง่าย ๆ ดูคลิปนี้เลย