อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 บนโลกเรานี้ ด้วยจำนวนประชากรในปัจจุบันอยู่ที่ 1,380 ล้านคน รองจากประเทศจีนที่ 1,402 ล้านคน เมื่อจำนวนประชากรที่มีจำนวนมาก ปัญหาอันดับต้น ๆ ก็คือความยากจน และที่ตามมาก็คือธุรกิจค้ามนุษย์ ทั้งที่นำไปค้าเป็นแรงงานเถื่อน และบังคับให้เข้าสู่ธุรกิจค้ากาม จากการสำรวจเมื่อปี 2016 มีเด็กตกเป็นเหยื่อของธุรกิจค้ามนุษย์ประมาณ 135,000 ราย มาจนถึงปี 2020 มีคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในอินเดียสูงถึง 6,616 คดี ในจำนวนเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์นี้ 95% จะถูกส่งเข้าสู่ธุรกิจค้ากาม นับเป็นปัญหาที่มีมาช้านานในอินเดีย และยากต่อการควบคุม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีชายชาวอินเดียที่ไม่นั่งรอให้ทางการยื่นมือเข้ามาจัดการ แต่เขาขอลุกขึ้นมาลงมือแก้ไขปัญหานี้ด้วยตัวเอง รู้จักกับเขาคนนี้ครับ อาจีต สิงห์ (Ajeet Singh)

อาจีต สิงห์ เป็นผู้ก่อตั้งองค์การกูเรีย (Guria) องก์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อต่อต้านกระบวนการค้ามนุษย์และบังคับขืนใจให้เป็นโสเภณี ซึ่งปัจจุบันได้ช่วยชีวิตเด็กหญิงไว้นับพันคนแล้ว

เริ่มต้นช่วยเหลือเหยื่อตั้งแต่ตัวเขาอายุได้เพียง 18 ปี

Ajeet Singh

เมื่อตอนที่อาจีตอายุ 18 ปีนั้น เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย วันหนึ่งเขาได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ที่ญาติพี่น้องเขาจัดขึ้น ในงานนี้มีการโชว์เต้นระบำหน้าท้อง เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับแขกที่มาร่วมงาน บรรดาผู้ชายที่มาร่วมงานพอเมาแล้วก็เริ่มแตะเนื้อต้องตัวเธอ ซึ่งอาจีตเห็นแล้วรู้สึกอึดอัดกับภาพที่เธอถูกผู้ชายรุมล้อมทำแบบนั้น นั่นคือมุมมองจากสายตาของอาจีตในวัย 18 ปี ที่หารู้ไม่ว่า นักเต้นระบำหน้าท้องในวันนั้นล้วนแล้วแต่พ่วงอาชีพโสเภณีด้วยกันทั้งนั้น แล้วแขกชายที่มาร่วมงานก็รู้เช่นนั้น ถึงได้กล้าเข้าไปแตะต้องตัวเธอ

“ผมรู้สึกแย่มาก ๆ กับการที่ผู้คนทำกิริยามารยาทกับเธอแบบนั้น ผมจึงรออยู่ที่นั่นทั้งคืนจนงานเลิก เพื่อที่จะได้คุยกับเธอ”
อาจีต สิงห์ เล่าในระหว่างเข้าร่วมประชุมเรื่องการค้าท้าในยุคปัจจุบัน จัดโดยมูลนิธิ Thomson Reuters

อาจีตเต็มเปี่ยมไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่อยากจะช่วยเหลือเธอจากการถูกผู้ชายรุมล้อมอย่างไม่ให้เกียรติ แต่แล้วเขาก็ได้รับรู้สภาพความเป็นจริงว่านั่นคืออาชีพของเธอ นอกจากเป็นนักเต้นระบำหน้าท้องแล้วเธอก็ยังเป็นโสเภณี ด้วยเหตุจำเป็นที่จะต้องหาเลี้ยงลูกทั้ง 3 คนของเธอ พอได้รับรู้เช่นนั้น อาจีตยิ่งเห็นใจเธอมากขึ้นไปอีก และเสนอตัวที่จะช่วยอุปการะลูก ๆ ทั้งสามของเธอเอง

“ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า จะเป็นอย่างไรนะถ้าผมจะรับเลี้ยงลูกของเธอไว้ และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้น”

อาจีตใช้เวลาว่างจากการเรียนหนังสือ มาสอนเด็ก ๆ ทั้งสามคน นั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้หนูน้อยทั้งสามได้มีการศึกษา ได้มีความรู้พื้นฐาน และที่สำคัญได้หลุดพ้นจากวงอุบาทว์ อาจีตหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการยื่นมือเข้ามาช่วยของเขาจะช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้กับเด็ก ๆ

ก่อตั้งองค์กรกูเรีย

ได้รับรางวัล Icon Award 2020

หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี อาจีตก็ทำตามปนิธานของเขาได้เป็นรูปเป็นร่างเด่นชัด ด้วยการก่อตั้งองค์กรกูเรีย ในปี 1993 จุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับกระบวนการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้หญิงและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจการค้ามนุษย์ และโสเภณีเด็ก และยุติการสืบต่ออาชีพโสเภณีจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก

องค์กรกูเรียของอาจีตสามารถช่วยเหลือชีวิตเด็กและผู้หญิงมาได้แล้ว 2,470 คน ทุกคนได้หลุดพ้นจากการถูกใช้บังคับค้ากาม และจากการถูกใช้เป็นแรงงานทาส ในจำนวนนี้มี 150 คนได้ถูกรับอุปการะจากครอบครัวใจบุญ

ในเว็บไซต์ของ Guria ยังระบุไว้ว่าองค์กรได้ให้การศึกษาและฝึกอาชีพให้กับเด็ก ๆ มาแล้ว 5,400 คน ในจำนวนนี้มี 460 คนได้เข้าเรียนในโรงเรียน รวมแล้วมีเด็กที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรกูเรียมากถึง 6,800 คน

องค์การสหประชาชาติประเมินแล้วว่า ในอินเดียมีโสเภณีมากถึง 660,000 คน มากสุดเป็นอันดับ 2 รองจาก คองโก ที่มีประมาณ 2,900,000 คน องค์การสหประชาชาติยังประเมินต่ออีกว่า ในอนาคตอันใกล้ อินดียมีแนวโน้มที่จะมีแรงงานทาสสูงถึง 8,000,000 คน ทำให้ประเทศอินเดียยิ่งมีชื่อเสียงด้านลบในเรื่องของการใช้ความโหดร้ายรุนแรง และทำร้ายทุบตรีสตรีเพศ

อาจีตเองยังเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า ปัจจุบันน่าจะยังคงมีผู้หญิงตกอยู่ในธุรกิจค้ากามอีกกว่า 3 ล้านคน และในจำนวนนี้มี 40% ที่เป็นโสเภณีเด็ก ซึ่ง 75% นั้นมาจากกระบวนการค้ามนุษย์

ต่อสู้กับกระบวนการค้ามนุษย์ไม่ใช่งานง่าย

อาจีต สิงห์ และภรรยา สันทวานา มันจู (Santwana Manju)

นับเป็นเรื่องดีสำหรับ อาจีต สิงห์ ที่ได้ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากอย่าง สันทวานา มันจู (Santwana Manju) มาช่วยเขาบริหารองค์กรกูเรีย ที่ปัจจุบันมีสมาชิกองค์กรจำนวน 36 คน ในการต่อสู้กับกระบวนการค้ามนุษย์นั้น กูเรียจะต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกทลายซ่องและช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ถูกบังคับค้ากามออกมา และยังเร่งรัดใช้กฏหมายดำเนินการกับอาชญากรค้ามนุษย์

แน่นอนว่าการอุทิศตัวเป็นแนวหน้าในการเผชิญหน้ากับกลุ่มคนนอกกฏหมายแบบนี้ เท่ากับอาจีตและภรรยา รวมถึงสมาชิกองค์กรต้องเผชิญกับอันตรายถึงชีวิต พวกเขาต้องเผชิญมาแล้วทั้งถูกทำร้ายร่างกาย การถูกขู่เอาชีวิต แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าทำภารกิจอย่างเคย

“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โลกเราไม่ได้ต้องการองค์กรการกุศลแต่อย่างใด แต่เราต้องการความยุติธรรมที่จะผดุงให้ผองเราได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น”
คำขวัญบนเว็บไซต์ของกูเรีย

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง