ระเบิดนิวเคลียร์คืออาวุธทำลายล้างที่มีอานุภาพที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาฆ่าล้างกัน นับจากเหตุการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกใส่นางาซากิ และฮิโรชิมา ในปี 1945 เพื่อปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนั้น แม้ว่าปฏิบัติการครั้งนั้นจะยุติสงครามโลกได้ แต่ข่าวคราวความเสียหายที่ตามมา รวมถึงภาพน่าสลดหดหู่ของผู้คนบริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์ที่กินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปีนั้น ก็เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจ ส่งผลให้นานาชาติต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ปล่อยให้โลกต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกต่อไป แต่กระนั้นในวันนี้โลกเราก็ยังคงมีระเบิดนิวเคลียร์กระจายอยู่ทั่วโลกถึง 14,000 ลูก และในอดีตก็เคยมี 2 ลูกที่กองทัพสหรัฐฯ ยังเคยพลาดทำร่วงใส่ประเทศตัวเองมาแล้วด้วย ฟังแล้วไม่น่าเชื่อนะครับ อาวุธอันตรายแบบนี้ อยู่ในมือกองทัพที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก กลับทำพลาดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร มาอ่านรายละเอียดกัน

วิกฤตการณ์ที่โกลด์สโบโร

B-52G

เหตุการณ์ชวนระทึกขวัญนี้ถูกกองทัพสหรัฐฯ ปิดเป็นความลับมายาวนาน เพิ่งมาได้รับการเปิดเผยเมื่อปี 2014 โดยกองงานเอกสารของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 24 มกราคม 1961 เครื่องบิน B-52G ที่ประจำการอยู่ที่ฐานทัพอากาศซีมัวร์ จอห์นสัน ในเมืองโกลด์สโบโร ช่วงราว ๆ เที่ยงคืนของคืนวันที่ 23 เชื่อมต่อวันที่ 24 มกราคม 1961 ขณะที่เครื่องบินลอยตัวอยู่เหนือน่านฟ้านอร์ธแคโรไลนาอยู่นั้น เครื่องบินเติมน้ำมันก็มาลอยตัวเทียบเข้าใต้เครื่อง ระหว่างที่เติมน้ำมันอยู่นั้นลูกเรือเครื่องเติมน้ำมันก็แจ้งไปยังผู้บัญชาการเครื่องบิน B-52G ถังน้ำมันของเครื่องรั่วที่บริเวณปีกขวานะ ทำให้ภารกิจเติมน้ำมันต้องยกเลิกทันที ขณะนั้นภาคพื้นดินก็ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงสั่งให้เครื่อง B-52G ออกไปบินวนนอกชายฝั่งเสียก่อน จนกว่าน้ำมันที่รั่วออกมาจะหมด เพื่อเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นไว้ก่อน พอเครื่อง B-52G บินไปยังจุดที่กำหนดแล้ว ลูกเรือก็รายงานมาว่าบาดแผลที่น้ำมันรั่วดูจะเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม เมื่อน้ำมันจำนวน 17,000 กิโลกรัม หายเกลี้ยงไปในเวลาเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น พอฐานทัพซีมัวร์ จอห์นสัน ได้ยินเช่นนั้น ก็ออกคำสั่งให้เครื่อง B-52 บินกลับมาที่ฐานทัพทันที

หน้าตาของระเบิดนิวเคลียร์ M39

อันดับแรก เครื่องทำการลดระดับลงมาที่ 3,000 เมตร เพื่อเตรียมพร้อมจะลงจอดที่สนามบิน แต่สถานะเลวร้ายมากขึ้น นักบินไม่สามารถประคองเครื่องให้อยู่นิ่งได้ แล้วเริ่มเสียการควบคุม นักบินตัดสินใจอย่างเร่งด่วน บอกบรรดาลูกเรือให้รีบสละเครื่องทันที ขณะที่เครื่องอยู่ที่ระดับความสูง 2,700 เมตร ลูกเรือ 5 คนที่ดีดตัวไปพร้อมเก้าอี้นั่งและบางคนที่กระโดดร่มออกจากเครื่องถึงพื้นดินอย่างปลอดภัย มี 1 คนกระโดดร่มลงพื้นไม่สำเร็จ เสียชีวิต อีก 2 คนติดอยู่กับเครื่องบิน เสียชีวิตไปในขณะที่เครื่องพุ่งโหม่งพื้นโลก อดัม แมตต์ล็อก นักบินคนสุดท้ายที่กระโดดร่มออกจากเครื่องได้สำเร็จ เล่าว่าภาพสุดท้ายที่เขาหันไปมองหลังกระโดดออกมาจากตัวเครื่องแล้วนั้น เขาเห็นเครื่องบินดิ่งลงในลักษณะหมุนติ้วขณะอยู่ที่ความสูงราว ๆ 300 – 600 เมตรจากพื้นดิน แล้วเครื่องก็เริ่มแตกเป็นเสี่ยง ๆ เขาเห็นระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกกระเด็นออกมาจากตัวเครื่อง แรงระเบิดของเครื่องบินกินพื้นที่ราว ๆ 5 ตารางกิโลเมตร บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ฟาร์มยาสูบและฝ้าย

ระเบิดลูกแรก

ขณะที่ระเบิดนิวเคลียร์ถูกเหวี่ยงออกจากเครื่องบินนั้น แรงกระแทกรุนแรงได้ไปกระตุ้นให้กลไกในการจุดระเบิดของระเบิดลูกหนึ่งเริ่มทำงาน และทำงานไปแล้ว 3 ใน 4 ขั้นตอน นั่นคือการชาร์จไฟเข้าตัวเก็บประจุที่ใช้ในการยิง และกางร่มชูชีพขนาด 30 เมตรออกมา และร่มชูชีพก็ไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ ดึงให้ระเบิดนิวเคลียร์ลงสัมผัสพื้นโลกในลักษณะตั้งตรง ร้อยโทแจ็ก เรเวลล์ (Jack ReVelle) เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญได้รับมอบหมายให้ทำการกู้ระเบิดนิวเคลียร์ลูกนี้ เรเวลล์เล่าว่าขณะที่เขาเข้าทำการกู้นั้นพบว่า สวิตช์ที่สับไปมาระหว่าง พร้อมทำงาน/ปลอดภัย อยู่ในตำแหน่ง Safe (ปลอดภัย) ซึ่งนี่คือปราการด่านสุดท้ายที่จะจุดระเบิดแล้ว เพราะขั้นตอนก่อนหน้านั้นบนตัวระเบิดนิวเคลียร์ได้ดำเนินการไปหมดแล้ว

ดับเพลิงเครื่องบินที่ตก

เพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ออกมาอ้างในขณะนั้นว่า ไม่มีทางที่ระเบิดนิวเคลียร์จะทำงานได้ เพราะกลไกอีก 2 ระบบที่ใช้ในการจุดระเบิดยังไม่ถูกเปิดใช้งาน โฆษกกระทรวงกลาโหมก็ออกมาแถลงเช่นกันว่า ระเบิดลูกนั้นอยู่ในสถานะไม่พร้อมทำงานและไม่มีทางจะระเบิดได้

แดเนียล เอลล์สเบิร์ก (Daniel Ellsberg) อดีตนักวิเคราะห์ทางการทหาร เล่าว่าเขาได้เห็นข้อมูลลับเฉพาะระดับสูงมาแล้ว ในนั้นระบุว่าสวิตช์ พร้อมทำงาน/ปลอดภัย นั้นมีทั้งหมด 6 ตัว ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการระเบิดเองโดยอุบัติเหตุแบบนี้ แต่ในปี 2013 ผลของการบังคับใช้กฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางรัฐบาล ได้เปิดเผยรายละเอียดของเหตุการณ์นี้ว่า สวิตช์ป้องกันการจุดระเบิดเองนั้นมีทั้งหมด 4 ตัว ไม่ใช่ 6 ตัว

ระเบิดลูกที่ 2

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ร่วงหล่นสู่พื้นโดยไม่ได้กางร่มชูชีพอัตโนมัติ มันพุ่งลงด้วยความเร็ว 310 เมตรต่อวินาที พุ่งลงในพื้นโคลน ด้วยแรงกระแทกทำให้ลูกระเบิดแตกกระจายแต่ไม่เกิดการจุดระเบิด ส่วนหางจมลงไปในโคลนลึกลงไป 6 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ลูกที่สองนี้ก็อยู่ในสถานะคล้ายคลึงกับลูกแรก คือระบบจุดระเบิดบางส่วนได้เริ่มต้นทำงานไปบ้างแล้ว ตั้งแต่กระเด็นหลุดออกมานอกเครื่อง แต่โชคดีอย่างมากที่สวิตช์จุดชนวนที่ติดตั้งอยู่บนผิวนอกของระเบิดถูกกระแทกเสียหาย ระเบิดเลยไม่ทำงาน

ถ้าระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูกนี้ทำงาน

เว็บไซต์ nuclearsecrecy.com เป็นเว็บไซต์ที่ให้สมาชิกได้เข้ามาช่วยกันคำนวณอานุภาพของระเบิดนิวเคลียร์กัน ระเบิดนิวเคลียร์จากเหตุการณ์โกลด์สโบโรนั้น เป็นระเบิดแบบ M39 มีน้ำหนัก 10,000 ปอนด์ มีอานุภาพที่ 3.8 เมกาตัน เทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากินั้น มีอานุภาพเพียงแค่ 0.1 และ 0.02 เมกาตัน เท่านั้น

ได้มีการประเมินไว้ว่า ถ้าระเบิดหนึ่งในสองลูกนี้ทำงาน มันจะแผ่รังสีความร้อนออกไปในรัศมี 15 ไมล์ ในปี 1961 ก็จะมีคนตายจากระเบิดนิวเคลียร์ประมาณ 28,000 คน และบาดเจ็บสาหัสราว ๆ 26,000 คน จากจำนวนประชากร 84,000 คน ซึ่งนับเป็นอัตราส่วนประมาณ 47% ของจำนวนประชากรในวันนี้ แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดในนอร์ธแคโรไลนาวันนี้ ตัวเลขจะอยู่ที่ เสียชีวิตทันที 60,000 คนและ บาดเจ็บสาหัสมากกว่า 54,000 คน แต่นั่นก็ยังเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากเหตุระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ อย่างมาก แม้ว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งลง 2 จังหวัดนั้นจะมีขนาดเล็กกว่าเหตุที่โกลด์สโบโรมากก็ตาม เพราะว่าในเดือนสิงหาคม 1945 นั้นทั้ง 2 จังหวัดนั้นมีประชากรค่อนข้างหนาแน่น ฮิโรชิมามีประชากรราว 330,000 คน ส่วนนางาซากินั้นมีประชากรราว 250,000 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีประมาณ 90,000 คนในฮิโรชิมา และ 60,000 คนในนางาซากิ

พันตรี ริชาร์ด ราร์ดิน (Richard Rardin) นักบินร่วมหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่โกลด์สโบโร ย้อนเล่าความทรงจำในวันนั้นว่า
“ผมมองเห็นร่มชูชีพ 3 – 4 ชุด ลอยห่างออกมาจากแสงสว่างของแรงระเบิด”
“ส่วนร่มชูชีพของผมนั้นลอยไปกระแทกต้นไม้ พอผมซ่อมไฟฉายได้ผมก็เริ่มเดินออกมาจากจุดนั้น”
ที่น่าขันก็คือผู้พันราร์ดินช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย ว่าเขาเพิ่งรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่มาอย่างฉิวเฉียด
“ผมจำได้ว่าเรื่องยากที่สุดในการพาตัวเองกลับฐานก็คือผมต้องเจอกับหมาจรจัดหลายตัวตอนที่เดินอยู่บนถนน”

อ้างอิง อ้างอิง