แอโรฟลอต (Aeroflot) เป็นสายการบินประจำชาติของสหภาพโซเวียต จนถึงปี 1991 สหภาพโซเวียตก็เกิดการสลายตัว เป็นการบีบบังคับให้แอโรฟลอตต้องกลายสภาพเป็นสายการบินพาณิชย์เต็มตัว และโดดเข้าสู่การแข่งขันในธุรกิจสายการบิน แต่ที่ผ่านมานั้น แอโรฟลอตก็มีชื่อเสียงไม่ดีนักทั้งในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย, คุณภาพของลูกเรือ, การซ่อมบำรุง และคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อต้องแข่งกับสายการบินอื่น ๆ แอโรฟลอตจึงจำเป็นต้องหันมาใช้เครื่องบินของทางฝั่งตะวันตก เพราะลำพังเครื่องบินที่ผลิตในรัสเซียเองขณะนั้นคุณภาพยังห่างไกลอยู่มาก

ด้วยเหตุนี้แอโรฟลอตจึงตัดสินใจเช่าเครื่องบินแอร์บัส A310 มาจำนวน 5 ลำ และหนึ่งในนั้นก็คือ แอโรฟลอต ไฟลต์ 593 ที่จะต้องบินจากมอสโกไปฮ่องกง ในวันที่ 23 มีนาคม 1994 ไฟลต์นี้มีกัปตันชื่อ แอนดรีย์ ดานิลอฟ (Andrey Danilov) มีชั่วโมงบินกับ แอร์บัส 310 มาแล้ว 950 ชั่วโมง ส่วน อิกอร์ พิสคาร์ยอฟ (Igor Piskaryov) นั้นก็มีชั่วโมงบินค่อนข้างสูง แต่ยังไม่ถึง 500 ชั่วโมง

ในวันนั้นวงการบินยังไม่มีกฏห้องนักบิน (Sterile Cockpit Rule) ไม่ได้เกี่ยวกับภาวะปลอดเชื้อแต่อย่างใด แต่หมายถึงกฏที่เข้มงวดในห้องนักบิน ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาหลังจากโศกนาฏกรรม 9/11 กำหนดให้ Cockpit หรือห้องนักบินเป็นพื้นที่หวงห้ามอย่างเด็ดขาด จะเข้าได้แต่นักบินและผู้ช่วยนักบินเท่านั้น แอร์โฮสเตสจะเข้าได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลสมควรเท่านั้น หลังจากออกกฏนี้มาเพื่อบังคับใช้ร่วมกัน ก็ได้รับความเห็นชอบจากสายการบินส่วนใหญ่ เพราะเห็นชอบว่าบุคคลภายนอกไม่ควรจะทำกิจกรรมใด ๆ หรือชวนสนทนา ซึ่งอาจเป็นการรบกวนสมาธินักบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ทำการเทกออฟ และแลนดิ้ง

พื้นที่เกิดเหตุเครื่องบินตก

แต่ก่อนที่จะมีกฏห้องนักบินออกมานั้น สไตล์การทำงานของแอโรฟลอตนั้นเป็นไปอย่างผ่อนคลายเอามาก ๆ และเป็นสาเหตุให้ แอโรฟลอต ไฟลต์ 593 ต้องโหม่งโลก นั่นก็เพราะมาตรการที่สุดจะผ่อนคลายเป็นกันเองนี่แหละ แม้ขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่กลางอากาศ นักบินผู้ช่วยอาวุโสนามว่า ยาโรสลาฟ เคอร์ดินสกี้ (Yaroslav Kudrinsky) ก็นึกอยากจะอวดลูกว่าพ่อทำงานอะไร ถึงกับพา เอลดาร์ ลูกชายวัย 15 ปี และ ยานา ลูกสาววัย 13 ปี เข้ามานั่งเล่นในห้องนักบิน คุณพ่อยังออกปากชวนให้เอลดาร์มานั่งบนเก้าอี้นักบินตัวซ้ายและจับคันบังคับเครื่อง แต่ก็เตือนลูกชายว่าไปจับอะไรอย่างอื่นนะ แต่เอลดาร์ก็ไม่ได้สนใจที่พ่อห้ามแม่แต่น้อย เอลดาร์กดไปที่ปุ่มปลดการทำงานของระบบออโต้ไพลอต ทำให้เครื่องเสียการทรงตัว เครื่องบินเอียงข้างทันที ผู้ช่วยนักบินพิสคาร์ยอฟพยายามเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ เขาไล่เอลดาร์ออกไปจากเก้าอี้นักบิน แต่ยิ่งแก้สถานการณ์ก็ดูจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่คุ้นเคยของระบบเตือนภัย เพราะแอร์บัสใช้แสงไฟเตือนภัยในกรณีมีเหตุขัดข้อง และเหตุสำคัญต่าง ๆ แต่เครื่องบินเมดอินรัสเซียนั้นแจ้งเตือนภัยด้วยสัญญาณเสียง ทำให้นักบินทั้งสองสูญเสียเวลาอันมีค่าไปมาก กว่าจะรู้สึกตื่นตัวต่อสัญญาณแจ้งด้วยแสดงไฟ ซึ่งระหว่างนั้นเครื่องบินก็อยู่ในลักษณะเชิดหัวขึ้น ปักหัวลงสลับกันไปมา พอสัญญาณเตือนครั้งสุดท้ายทำงานนั่นก็คือจุดวิกฤตสุดเกินจะแก้ไขอะไรได้แล้ว ผลก็คือ เครื่องบินตกกระแทกพื้นโลก บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาคุซเน็ตสค์อาลาตาอู เวลา 00:58 น. เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าไปยังบริเวณที่เครื่องตกได้เนื่องจากหิมะที่ตกทับถมหนาบนพื้น กล่องดำของเที่ยวบินที่ 593 ถูกพบในวันต่อมา ผู้โดยสารและลูกเรือบนเที่ยวบินที่ 593 เสียชีวิตทั้งหมด 75 คน

อ้างอิง อ้างอิง