นักชีววิทยาคาดคะเนมายาวนานแล้วว่า ‘วาฬ’ น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนยาวที่สุด อย่างน้อยก็ 120 ปี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้แน่ชัด จนมาถึงปี 2007 เมื่อชาวเอสกิโมในอลาสก้าล่าวาฬหัวศร (bowhead whale) ได้ตัวหนึ่ง น้ำหนักตัวประมาณ 50 ตัน แล้วพบหัวฉมวกฝังแน่นอยู่บริเวณกระดูกครีบข้าง (shoulder bone) แล้วสันนิษฐานว่าฉมวกนี้น่าจะเก่าแก่มีอายุนับ 100 ปี จึงได้แจ้งไปยังนักชีววิทยาท้องถิ่น

หัวฉมวกที่พบ

เมื่อนักชีววิทยาเห็นหัวฉมวกชิ้นนี้ก็อึ้ง เพราะว่านี่คืออาวุธที่นักล่าวาฬในเมืองนิวเบดฟอร์ด รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ ใช้กันเมื่อศตวรรษที่ 19 หัวฉมวกชิ้นนี้จึงเป็นอีกหลักฐานบ่งชัดว่า วาฬน่าจะมีอายุเฉลี่ยอย่างน้อย 115 ปี และโดยเฉพาะวาฬพันธุ์หัวศรน่าจะจัดได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุยืนยาวที่สุดบนโลก สามารถอยู่ได้ถึง 200 ปี

นักชีววิทยาได้ส่งตัวหัวฉมวกนี้ให้กับ จอห์น บ็อกสโทซ (John Bockstoce) นักประวัติศาสตร์ชีวิตวาฬ แห่งพิพิธภัณฑ์วาฬ เมืองนิวเบดฟอร์ด เพื่อวินิจฉัยหลักฐานชิ้นนี้ เมื่อบ็อกสโทซได้ทำการพิสูจน์แล้ว เขาก็แจ้งกับสื่อมวลชนว่า
“มันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่เราจะพบหลักฐานยืนยันอายุขัยของวาฬ หลักฐานชิ้นนี้มันน่าสนใจมาก”

จอห์น บ็อกสโทซ (John Bockstoce)

บ็อกสโทซบรรยายถึงหัวฉมวกชิ้นนี้ว่า มันคือชิ้นส่วนของ ‘ฉมวกหัวระเบิด’ ที่นักล่าวาฬในนิวเบดฟอร์ดนิยมใช้กันในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ในช่วงนั้นเมืองนิวเบดฟอร์ดจัดได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการล่าวาฬ นักล่าวาฬนิยมใช้ฉมวกประเภทนี้พุ่งเข้าใส่ร่างวาฬ พอส่วนหัวของหลาวปักเข้าไปในร่างวาฬ มันก็จะระเบิดออก

สก็อตต์ เคราส์ (Scott Kraus) รองประธานจากสถาบันวิจัยประจำพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในนิวอิงแลนด์ เมืองบอสตัน ผู้เคยทำการศึกษาเรื่องอาวุธที่ใช้ในการล่าวาฬมาก่อน ก็ให้ความเห็นต่อหลักฐานใหม่ชิ้นนี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่าอาวุธชิ้นนี้ถูกยิงเข้าใส่วาฬในปีไหน
“เหตุที่เรายังไม่สามารถระบุเจาะจงให้แน่ชัดได้นั้นก็เพราะ นักล่าวาฬชาวอเมริกันเคยทำอาวุธแบบนี้ใช้กันในช่วงปี 1830 แล้วก็ทำขายให้กับพวกเอสกิโมด้วย แล้วชาวเอสกิโมก็ใช้ต่อ ๆ กันมาจนถึงลูกหลานในอีก 40 ปีต่อมา”

แต่เมื่อหลาวหัวระเบิดนี้ถูกจดสิทธิบัตร ของที่ถูกเก็บไว้ในสต็อกจึงต้องรีบนำมาใช้โดยเร่งด่วน จอห์น บ็อกสโตซ จึงจำกัดระยะเวลาให้แคบลงมาอีกว่า วาฬหัวศรตัวนี้น่าจะถูกยิงในช่วงระหว่างปี 1885 – 1895 นอกจากนั้นบ็อกสโทซยังอ้างอิงหลักฐานอื่นอีกในการประเมินอายุของวาฬตัวนี้ คือแก้วตาของวาฬที่มีลักษณะขุ่นมัว อันเนื่องมาจากอายุขัยของมัน

วาฬหัวศร (bowhead whale)

วาฬหัวศรนั้นเป็นสายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในทะเลอาร์กติก ในอดีตนั้นวาฬหัวศรโดนล่าอย่างหนักจนเกือบจะสูญพันธุ์ แต่พอขึ้นศตวรรษใหม่ ความต้องการโครงกระดูกของวาฬก็ลดน้อยลงฮวบฮาบ ทำให้มีการล่าน้อยลง วาฬหัวศรจึงพ้นระดับอันตรายต่อการสูญพันธุ์ ทุกวันนี้จึงมีแค่ชาวเอสกิโมท้องถิ่นเท่านั้นที่ยังคงล่าวาฬหัวศรกันอยู่

หลังทำการวิเคราะห์เรียบร้อยแล้ว หัวฉมวกชิ้นนี้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชาวเอสกิโม ในเมืองแบร์โรว รัฐอลาสก้า

ที่จริงเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดในข่าวนี้ก็คือ วาฬหัวศรตัวนี้ที่รอดชีวิตมาได้กว่า 100 ปี และต้องทนทรมานกับหัวฉมวกที่ฝังอยู่ในร่างมายาวนาน แล้วสุดท้ายก็ต้องจบชีวิตเพราะมนุษย์

อ้างอิง อ้างอิง