การมีเพื่อนดีเปรียบได้กับการมีบ้านเป็นวิมาน แต่ถ้ามีเพื่อนบ้านที่สร้างความรำคาญ ก่อกวนเป็นประจำนี่ก็เปรียบได้เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออะพาร์ตเมนต์ที่ต้องใช้กำแพงห้องร่วมกับเพื่อนบ้าน อย่างกรณีข่าวที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของเพื่อนบ้านที่อยู่ร่วมแฟลต ในเมืองลาสปีเซีย ประเทศอิตาลี

สามี-ภรรยาคู่หนึ่งที่อยู่ร่วมกันในแฟลตห้องหนึ่ง ต่างต้องนอนสะดุ้งตื่นแทบทุกคืน เมื่อเพื่อนบ้านห้องติดกันเปลี่ยนชักโครกตัวใหม่ เมื่อกดน้ำแต่ละครั้งก็มีเสียงดังมากจนข้ามห้องมาทำให้ สามี-ภรรยาคู่นี้ต้องสะดุ้งตื่นกันทุกครั้งที่เพื่อนบ้านกดชักโครก เพราะกำแพงห้องนอนของทั้งคู่นั้นอยู่ติดกับห้องน้ำของเพื่อนบ้านพอดิบพอดี เมื่อความอดทนถึงขีดจำกัด คู่สามี-ภรรยาจึงฟ้องตำรวจขอความเห็นใจให้มาช่วยจัดการปัญหาให้ที ตำรวจก็พยายามประนีประนอม แนะนำให้คู่สามี-ภรรยาลองย้ายเตียงนอนไปอีกด้านหนึ่งใหม่ แต่ทั้งคู่ก็ให้เหตุผลว่าห้องนอนของพวกเขานั้นคับแคบเกินกว่าที่ย้ายอะไรได้

เมื่อแต่ละฝ่ายยอมความกันไม่ได้ เรื่องราวจึงต้องไปตกลงกันในชั้นศาล คดีเสียงชักโครกรบกวนนี้จึงเริ่มต้นขึ้นในปี 2003 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินคดีนี้อย่างรวดเร็ว ด้วยการ ‘ไม่รับร้องทุกข์’ จากสามี-ภรรยา คู่นี้ แน่นอนว่าทั้งคู่ไม่ยินดีกับการตัดสินของศาลชั้นต้น ทั้งคู่เดินหน้าต่อทันทีด้วยการยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์ในเมืองเจนัว รอบนี้ได้ผล ศาลอุทธรณ์รับเรื่อง ซ้ำยังสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่พิพาทระหว่าง 2 ครอบครัวนี้ ผู้พิพากษาพิจารณาจากรายงานการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่แล้วตัดสินว่า ชักโครกของเพื่อนบ้านนั้นส่งเสียงดังเกินไปจริง และ “เป็นผลร้ายต่อคุณภาพชีวิตของเพื่อนบ้าน”

ศาลฎีกาอิตาลี

พอผลการตัดสินของศาลอุทธรณ์ออกมาแบบนี้ ก็กลับเป็นฝ่ายของ 4 พี่น้องที่เป็นเจ้าของชักโครกเจ้าปัญหาที่เป็นฝ่ายไม่พอใจคำตัดสินของผู้พิพากษาบ้างละ 4 พี่น้องไม่ยอมแพ้ ไม่ละความพยายามที่จะเอาชนะ จึงพากันไปร้องเรียนที่ศาลสูงในกรุงโรม กว่าจะมาถึงตรงจุดนี้ เรื่องราวก็ยืดเยื้อมาถึง 19 ปีแล้ว แต่สุดท้ายแล้ว 4 พี่น้องก็ต้องผิดหวังซ้ำสอง เมื่อผู้พิพากษาศาลสูงพิจารณาใช้หลักการพิจารณาด้วยการอ้างอิงตัวบทบัญญัติของ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (The European Court of Human Rights) ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากต่อ “การเคารพต่อชีวิตส่วนตัวของทุกคนและทุกครอบครัว” ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วรู้สึกเห็นใจที่คู่สามี-ภรรยาต้องทนทุกข์ต่อเสียงรบกวนจากชักโครกของ 4 พี่น้องมาเป็นเวลายาวนาน ศาลยังมองว่าเสียงรบกวนจากชักโครกนั้น “เป็นการละเมิดสิทธิในการพักผ่อนนอนหลับของผู้อื่น” แค่นั้นยังไม่พอ ผู้พิพากษายังเล่นแรงด้วยการสั่งปรับ 4 พี่น้องเป็นเงิน 500 ยูโรต่อปี (18,657.76 บาท) แล้วยังนับย้อนหลังไปถึงปี 2003 ที่เป็นจุดเริ่มต้นคดีความรวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 9,500 ยูโร ตีเป็นเงินไทยก็ 354,486.45 บาท แล้วต้องย้ายชักโครกออกไปจากตำแหน่งเดิมอีกด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะสงสัยในจุดเดียวกันว่า ทำไมแค่คดีพิพาทระหว่างเพื่อนบ้านต้องกินเวลายาวนานถึง 19 ปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า กระบวนการทางศาลในประเทศอิตาลีนั้น มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดในประเทศสหภาพยุโรป เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า กระบวนการพิจารณาคดีของอิตาลีนั้นคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้าที่สุดแล้ว คดีความทั่วไปนั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 500 วัน กว่าจะมาถึงการไต่สวนครั้งแรก ถ้าไปถึงศาลอุทธรณ์ต้องใช้เวลาเกือบ 800 วัน แต่ถ้าจะไปถึงศาลฎีกาต้องใช้เวลาเกือบ 1,300 วัน อย่างน้อยบ้านเราก็ยังมีเรื่องกระบวนการทางศาลนี่แหละนะ ที่เอาไว้คุยอวดได้ว่ารวดเร็วกว่าอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม : นอนฟังไป อย่าบ่น ฝรั่งเศสออกกฏหมายปกป้อง เสียงไก่ขัน ถือเป็น”มรดกทางประสาทสัมผัส”

อ้างอิง อ้างอิง