เรา ๆ ต่างเกิดมาก็ได้รู้จัก ‘ทางม้าลาย’ กันแล้ว พ่อแม่พี่น้อง ครูอาจารย์จูงเราข้ามถนน แล้วก็แนะนำสั่งสอนเราว่า เวลาข้ามถนนจะต้องข้ามตรงบริเวณที่มีสีขาวทาเป็นลายขวางแบบนี้ ที่เรียกกันว่า ‘ทางม้าลาย’ คือสัญลักษณ์ที่ทำไว้เพื่อให้คนข้ามถนน ถ้าข้ามถนนไปอีกฝั่งตรงจุดนี้จะปลอดภัยกว่าเพราะและรถราและยานพาหานะต่าง ๆ จะต้องชะลอตัวและระมัดระวังคนที่กำลังข้ามถนนอยู่ และเป็นการใช้ถนนร่วมกันที่ถูกกฎหมายอีกด้วย นี่คือสิ่งที่สอนต่อ ๆ กันมา แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่เคยรู้ว่า ‘ทางม้าลาย’ นั้นมีจุดกำเนิดจากที่ไหน และตั้งแต่เมื่อใด ทำไมถึงเรียกว่าทางม้าลาย ประเทศอื่น ๆ เขาเรียกกันแบบนี้ไหม บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านี้แบบง่าย ๆ และรวบรัดครับ

ทางม้าลายจุดแรกในเมืองสโลฟ ประเทศอังกฤษ

ทางม้าลาย หรือสัญลักษณ์เพื่อคนข้ามถนนนั้นถือกำเนิดอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมือง สโลฟ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1951 ด้วยลวดลายที่เป็นเส้นสีขาวลายทางขวาง ผู้คนเลยเรียกขานกันว่า zebra crossing ซึ่งไทยเราก็แปลตามตัวมาตรง ๆ ว่า ‘ทางม้าลาย’ หลังมีการประกาศใช้ ทางม้าลายก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีการทำทางม้าลายกระจายกันไปทั่วในหลาย ๆ เมืองทั่วประเทศ แต่สื่อที่ทำให้ทางม้าลายเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกกลับเป็นเพราะ ปกอัลบั้ม Abbey Road ของวงดนตรี เดอะ บิทเทิลส์ ที่เป็นภาพสมาชิกทั้ง 4 กำลังเดินข้ามถนนนั่นเอง

ก่อนที่จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์

หลังจากมีคนข้ามถนนแล้วถูกรถชนตายรายแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 1899 ทางการพิจารณาแล้วว่า จะต้องมีอุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อย ๆ จึงได้เริ่มพยายามหาวิธีการว่าจะควบคุมการจราจรอย่างไรให้คนเดินถนนสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย แต่กว่าจะเห็นมาตรการความปลอดภัยที่นำออกมาใช้ก็อีกประมาณ 30 ปีต่อมา ในช่วง 1930s ในประเทศอังกฤษมีการทำเสาธงโลหะปักไว้ขอบซ้ายขวาของถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนผู้ขับขี่ว่า ณ ตำแหน่งนี้คือจุดที่จะมีคนข้ามถนน แต่ปัญหาก็คือ เสาธงที่ปักอยู่ 2 ฝั่งถนนนั้นไม่ใช่จุดที่ผู้ขับขี่จะสังเกตเห็นได้จากในระยะไกล กว่าจะเห็นก็ในระยะกระชั้นแล้ว จึงยังไม่ใช่รูปแบบที่ปลอดภัยพอสมควรนัก

จึงมีการขบคิดหาแนวทางอื่น ๆ กันต่อไป จนในช่วงปี 1940s จึงได้เริ่มทดลองใช้สีระบายลวดลายต่าง ๆ บนพื้นถนน หลายพันแห่งทั่วประเทศอังกฤษ แต่ในที่สุด ลวดลายที่ได้รับการยอมรับว่าเห็นชัดเจนที่สุดก็คือ เส้นสีขาวเป็นลายขวางทอดยาวจาก 2 ฝั่งถนน ไม่ใช่แค่เพียงเป็นลวดลายที่ผู้ขับขี่มองเห็นชัดตั้งแต่ระยะไกล แล้วทำให้ลดความเร็วได้ทัน แต่ผู้ที่กำลังเดินข้ามถนนก็มองเห็นชัดเมื่ออยู่บนพื้นถนนที่มีลวดลายทางม้าลายนี้ ทางม้าลาย หรือ Zebra crossing จึงเริ่มใช้กันอย่างเป็นทางการในปี 1951 นั่นเอง รวมไปถึงทางม้าลายบนถนนแอบบีย์ ก็เริ่มมีในช่วงเดียวกันนี่เอง ก่อนที่เดอะ บีทเทิลส์จะไปถ่ายปกอัลบั้มที่นั่นกันประมาณ 2 ทศวรรษ ปัจจุบันทางม้าลายบนถนนแอบบีย์กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอังกฤษ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

Abbey Road ในวันนี้

แม้ว่าทางม้าลายจะเป็นนวัตกรรมก้าวสำคัญเพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนเดินเท้าที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้น ‘ทางม้าลาย’ ก็ไม่ใช่นวัตกรรมแรกที่ทางการพยายามออกแบบ คิดค้นเพื่อความปลอดภัยสำหรับคนข้ามถนน แล้วก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่มีการเอาสัตว์มาตั้งเป็นชื่อของนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยเหล่านี้ แต่ชื่อ zebra crossing ก็เป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากทุก ๆ รัฐบาล ที่เรียกง่าย สื่อสารเข้าใจได้ตรงกันเพราะสอดคล้องกับลวดลายบนตัวม้าลาย ผู้ที่ตั้งชื่อนี้ก็คือ เจมส์ คัลลาฮาน (James Callaghan) เขาผู้นี้เป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษในช่วงปลายยุค 1940s และไต่เต้าไปจนถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คัลลาฮานเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกโครงการคิดค้นนวัตกรรมทางข้ามถนนเพื่อความปลอดภัย เขาได้เยี่ยมชมทางข้ามหลากรูปแบบ หลายลวดลายทั่วอังกฤษ จนสุดท้ายที่มีการเลือกลายเส้นดำขาวสลับกัน ซึ่งคัลลาฮานมองแล้วเหมือนลวดลายบนตัวม้าลายเขาจึงตั้งชื่อลวดลายนี้ว่า ‘Zebra crossing’

James Callaghan

แต่หลังจากมีการใช้ทางม้าลายกันแล้ว บางพื้นที่ก็ยังไม่หยุดพยายามที่จะออกแบบสัญลักษณ์ทางข้ามกันต่อไป ในปี 1962 เคยมีการออกแบบ ‘Panda crossing’แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมและเลิกใช้ไปในระยะเวลาอันสั้น หลังจากนั้นก็ยังมี ‘Pelican crossing’ ในออสเตรเลียก็พยายามสร้างลวดลายจำเพาะของตัวเองในชื่อ ‘Wombat crossings’ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็พยายามใช้สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศตัวเองคือ ‘Hawk crossing’แต่สุดท้ายก็คงเหลือแต่เพียง ทางม้าลาย หรือ Zebra crossing ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

pelican crossing

ส่วนทางม้าลายในประเทศไทยนั้น ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ใด แต่จะสังเกตได้ว่าจะพบเห็นทางม้าลายได้ในบริเวณชุมชน หรือหน้าสถานที่ทำการสำคัญ ๆ ถึงแม้ว่าคนเดินเท้าจะรู้ว่า ทางม้าลาย มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยต่อผู้เดินเท้า แต่คนเดินถนนอีกมากก็ยังเลือกที่จะเสี่ยงข้ามถนนนอกพื้นที่ทางม้าลาย โดยยึดถือความสะดวกเป็นหลักอยู่ดี

รู้หรือไม่ว่า ทางม้าลาย นอกจากจะเป็นจุดสังเกตร่วมกันทั้งผู้ขับขี่และผู้เดินถนนแล้ว ยังมีกฎหมายคุ้มครองผู้เดินถนนที่ข้ามถนนบนทางม้าลายอีกด้วย ว่าด้วย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท กับมาตรา 46 หากขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม และเมื่อเข้าที่คับขันหรือเขตปลอดภัย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 400 – 1,000 บาท นอกจากนี้หากผู้ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ก็จะมีความผิดเพิ่มด้วย

ขณะเดียวกันทางผู้เดินถนนไม่ข้ามถนนบนทางม้าลายก็มีความผิดเช่นกัน มาตรา 104 บัญญัติไว้ว่า ภายในระยะ 100 เมตรนับจากทางข้าม ห้ามมิให้เดินข้ามทางนอกจากทางข้าม และในมาตรา 147 ระบุว่า หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติมาตรา 104 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และหากถูกรถชน ผู้ที่ข้ามถนนโดยไม่ใช้ทางข้ามที่กำหนดก็จะมีความผิดร่วมด้วย

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง