ในอดีตกาลมา โลกเรามีมนุษย์มหัศจรรย์อยู่เยอะมาก โดยเฉพาะในแวดวงกีฬา ที่สมควรหยิบมาเล่าต่อ โดยเฉพาะเธอคนนี้ ผู้มีนามว่า เบ็ตตี้ โรบินสัน (Betty Robinson) นอกจากพรสวรรค์ในการวิ่งของเธอแล้ว โชคชะตาของเธอก็ช่างหฤหรรษ์เสียจริง ถ้าไม่รู้มาก่อนว่านี่คือเรื่องจริง ก็ต้องคิดว่านี่มันคงจะเป็นเนื้อหาของหนังสักเรื่องเป็นแน่ มาติดตามเรื่องราวของเธอกันครับ

ค้นพบช้างเผือกแห่งชิคาโก้

เบ็ตตี้ โรบินสัน เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 1911 ในเมืองริเวอร์เดล ทางตอนใต้ของชิคาโก้ โรบินสันเป็นเด็กสาวที่สดใสร่าเริง เธอชอบทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบทั้งการเล่นกีตาร์ ร้องเพลง และแสดงละครเวทีของโรงเรียน โรบินสันรู้ตัวว่าเธอมีฝีเท้าที่รวดเร็ว แต่ก็ไม่ได้คิดเอาดีทางนี้อย่างจริงจัง อย่างมากก็ลงแข่งขันวิ่งเป็นครั้งคราว ที่ทางโรงเรียนหรือทางโบสถ์จัด แต่ด้วยพรสวรรค์ทางด้านฝีเท้าก็พาเธอมาถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตจนได้

ในบ่ายวันหนึ่งของปี 1928 เป็นช่วงฤดูหนาว เบ็ตตี้ โรบินสัน ในวัย 16 ปี เพิ่งเลิกเรียนที่โรงเรียนมัธยม ธอร์นทัน ทาวน์ชิป แต่ก็เมาท์มอยกับเพื่อนสาวจนทำให้เธอออกจากโรงเรียนช้ากว่าปกติ ทุกวันหลังเลิกเรียนเธอจะต้องนั่งรถไฟกลับบ้านที่อยู่ห่างออกไปอีก 2 สถานี โดยขึ้นรถไฟจากสถานีใกล้โรงเรียน แต่พอออกจากโรงเรียนมาได้เธอก็สำนึกแล้วว่าเพราะความโอ้เอ้ของเธอนั่นเอง จึงมองเห็นรถไฟก็กำลังจะออกจากสถานี บนรถไฟขบวนนั้นมี ชาร์ล ไพรซ์ (Charle Price) นั่งอยู่ ไพรซ์เป็นครูสอนวิทยาศาสตร์แต่เคยเป็นนักวิ่งเก่า เขาเลยพ่วงตำแหน่งโค้ชทีมวิ่งของโรงเรียนด้วย ไพรซ์มองออกมานอกหน้าต่างก็เห็นเด็กสาวคนหนึ่งกำลังวิ่งกระหืดกระหอบไล่ตามรถไฟ ไพรซ์ยิ้มมุมปากให้กับภาพที่เห็น แล้วก็คิดในใจว่าวิ่งอย่างไรก็ไม่ทันหรอก เธอต้องรอรถไฟขบวนต่อไปแล้วล่ะ แล้วไพรซ์ก็หันกลับมาอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ไม่กี่วินาทีจากนั้น ไพรซ์ก็ตกใจที่เห็นนักเรียนหญิงคนที่วิ่งไล่ตามรถไฟอยู่ก้าวขึ้นรถไฟมาได้ แล้วยังพุ่งตรงมานั่งข้างเขาอีกด้วย ไพรซ์รู้ทันทีว่าเขาได้เจอเพชรเม็ดงามในวงการวิ่งเข้าแล้ว ไม่รอช้ารีบชักชวนโรบินสันให้เข้าทดสอบการวิ่ง ซึ่งโรบินสันซึ่งสนใจในทุกกิจกรรมอยู่แล้ว ก็ตอบตกลงทันที

วันรุ่งขึ้น ไพรซ์ก็ให้โรบินสันทดสอบวิ่งระยะ 50 หลา แล้วก็ทึ่งกับความเร็วของเธอ แต่เพราะว่าโรงเรียนธอร์นทัน ทาวน์ชิป ในขณะนั้นยังไม่มีทีมนักวิ่งหญิง ไพรซ์จึงต้องขอให้โรบินสันเข้าร่วมฝึกกับทีมนักวิ่งชายไปก่อน หลังเข้าร่วมทีมวิ่งได้ไม่กี่สัปดาห์ ไพรซ์ก็เริ่มมั่นใจแล้วว่าสัญชาตญาณของเขาไม่ผิดพลาด เขาพาโรบินสันลงแข่งในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรระดับท้องถิ่น เป็นการแข่งขันครั้งแรกของโรบินสัน ซึ่งเธอก็เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 2 รองจาก เฮเลน ฟิลคีย์ (Helen Filkey) วัย 20 ปี ผู้ครองสถิติความเร็วที่สุดในสหรัฐฯ ขณะนั้น หลังผ่านพ้นการแข่งขันนี้ โรบินสันก็ได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันวิ่งที่จัดโดย สมาคมนักวิ่งหญิง อิลลินอยส์

การแข่งขันมีขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน เป็นครั้งที่ 2 ที่เธอต้องเจอกับคู่แข่งคนเดิม เฮเลน ฟิลคีย์ แต่รอบนี้ โรบินสันก็เอาชนะได้อย่างขาดลอย ด้วยสถิติ 12 วินาทีถ้วน แถมยังเป็นการทำลายสถิติโลกที่บันทึกไว้ที่ 12.2 วินาที เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ 12 วินาทีที่โรบินสันทำได้นั้น ยังไม่ถูกบันทึกเป็นสถิติโลกอย่างเป็นทางการ เพราะกรรมการเชื่อว่าความเร็วของเธอนั้นได้แรงลมช่วยพยุง แต่โรบินสันก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าพิสูจน์ความเร็วของเธอต่อไป เดือนต่อมาโรบินสันบินไป นวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ เพื่อคัดตัวเป็นนักกีฬาโอลิมปิก ในการทดสอบนี้ โรบินสันต้องลงแข่งทดสอบวิ่งถึง 3 ครั้ง ภายในเวลา 1 ชั่วโมง และการแข่งรอบสุดท้ายเธอก็เข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 2 แต่สุดท้ายเธอก็ได้เป็น 1 ในทีมนักกีฬาตัวจริงที่จะเป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกาไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม และช่างบังเอิญที่เป็นปีแรกเลยที่โอลิมปิก เปิดให้มีการแข่งขันกรีฑาหญิง ทั้งในแบบลู่และลาน

มีนักกีฬาหญิงที่เป็นตัวแทนสหรัฐฯ ลงชิงชัยในการวิ่งระยะ 100 เมตรถึง 4 คน แต่มีเพียง เบ็ตตี้ โรบินสัน คนเดียวเท่านั้น ที่ผ่านมาได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ ทำให้เธอต้องเจอกับคู่แข่งชาวแคนาเดียน 3 คน และเยอรมันอีก 2 คน ในสายตาของโรบินสันมีเพียง แฟนนี่ โรเซนเฟลด์ (Fanny Rosenfeld) นักวิ่งสาวแคนาเดียนวัย 24 ปีคนเดียวเท่านั้น ที่ดูจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับเธอ เพราะที่ผ่านมาโรเซนเฟลด์สร้างสถิติใหม่ในการแข่งลู่และลานมาโดยตลอด และในรอบรองชนะเลิศ ก็มีโรเซนเฟลด์นี่ละ ที่ทำสถิติไว้ที่ 12.4 วินาทีเท่ากับเธอ

ในจุดสตาร์ตนั้น โรบินสันดูสงบเยือกเย็นจนผิดปกติ ทั้งที่เธอควรจะตื่นเต้นอย่างมาก สำหรับเด็กสาววัย 16 ปี (อีก 23 วันจะถึงวันเกิดครบ 17 ปีของเธอ) ที่เพิ่งลงแข่งการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเป็นครั้งแรก แล้วยังมาถึงรอบชิงได้อีกด้วย แต่เหตุที่เธอดูนิ่งผิดปกติเช่นนั้น ก็เพราะว่าความตื่นเต้นของเธอหายไปหมดแล้ว หลังจากเธอพบความตื่นเต้นยิ่งกว่า เมื่อเพิ่งรู้ว่า เธอหยิบรองเท้ามาผิด เป็นรองเท้าข้างซ้ายมาทั้งสองข้าง จึงต้องรีบส่งทีมงานกลับไปเอารองเท้าข้างขวามาอย่างเร่งด่วน และอาจจะกลับมาไม่ทันเวลาออกสตาร์ตด้วยซ้ำ ซึ่งโรบินสันทำใจแล้วว่า ถ้ามาไม่ทันจริง ๆ เธอก็จะวิ่งทั้งเท้าเปล่านี่ละ แต่เดชะบุญที่รองเท้ามาถึงทันการณ์

ชมคลิปการวิ่งของเธอได้ทางลิงก์นี้

แต่พอถึงเวลาออกสตาร์ต นักกีฬาทุกคนอยู่ในท่านั่งคุกเข่า (บล็อกสำหรับออกตัวเริ่มใช้ในปี 1948) มีการออกสตาร์ตผิดพลาดถึง 2 ครั้ง ทำให้นักกีฬาแคนาเดียนและเยอรมันโดนตัดสิทธิ์ในการแข่งขันไปประเทศละ 1 คน เหลือผู้เข้าแข่งขันเพียง 4 คน โรบินสันได้อยู่ในเลนที่ 2 ด้านขวาถัดจากโรเซนเฟลด์ เป็นตำแหน่งที่เธอพึงพอใจอย่างมาก เพราะเธออยากจะเห็นคู่แข่งคนสำคัญอยู่ในระยะสายตาที่เธอพอชำเลืองเห็น พอเสียงปืนสตาร์ตดังขึ้น เออร์นา สไตน์เบิร์ก จากเยอรมันออกตัวได้เป็นคนแรก ถัดมาคือโรบินสัน หลังผ่านไปได้ครึ่งทาง โรบินสันก็อยู่ในตำแหน่งผู้นำ มีโรเซนเฟลด์ไล่ตามมาติด ๆ เพราะเธอออกสตาร์ตได้ไมค่อยดีนัก โรบินสันก็เร่งฝีเท้าจนสุดชีวิตสายตาจับจ้องไปที่แนวเส้นชัยเบื้องหน้า พอเข้าเส้นชัยทั้งโรบินสันและโรเซนเฟลด์ ต่างชูมือขึ้นในฐานะผู้ชนะด้วยกันทั้งคู่ ทำเอาโรเซนเฟลด์เหลือบตามองโรบินสันด้วยความเคลือบแคลงใจ ว่าแท้จริงแล้วใครคือผู้ชนะกันแน่ แต่แล้วกรรมการก็ประกาศชัยชนะให้เป็นของ เบ็ตตี้ โรบินสัน ผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยความเร็ว 12.2 วินาที เทียบเท่ากับสถิติโลกในขณะนั้น แต่ที่น่าทึ่งอย่างมากก็เพราะเธอเพิ่งหัดวิ่งจริงจังเมื่อ 5 เดือนก่อนหน้านี้เอง

วินาทีที่เข้าเส้นชัย

ทีมแคนาดากังขากับผลการตัดสิน และยื่นเรื่องร้องเรียนว่าแท้จริงแล้วโรเซนเฟลด์ควรจะเป็นผู้ชนะต่างหาก แต่คณะกรรมการก็ยืนกรานผลการตัดสินเดิมให้ เบ็ตตี้ โรบินสัน เป็นแชมป์เหรียญทองโอลิมปิก เธอกลายเป็นคนดังภายในระยะเวลาเพียงข้ามคืน หนังสือพิมพ์ Chicago Tribune ลงประกาศข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า
“สาวน้อยนิรนาม ผู้มีใบหน้าสะสวย ดวงตาสีฟ้า และผมบลอนด์ จากชิคาโก้กลายเป็นขวัญใจผู้ชมไปแล้ว หลังจากเธอวิ่งผ่านเส้นชัย คว้าเหรียญทองมาได้”

รองเท้าคู่ที่เธอวิ่งเข้าเส้นชัยในการแข่งขันโอลิมปิก 1928

60 ปีต่อมา เบ็ตตี้ โรบินสัน ได้เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอได้เหรียญทองว่า
“ฉันจำอารมณ์ความรู้สึกขณะที่ฉันวิ่งผ่านเทปแนวเส้นชัยได้เลย แต่ตอนนั้นฉันก็ยังไม่รู้หรอกว่าฉันเป็นผู้ชนะ แต่ก็คิดว่าน่าจะชนะแหละ แล้วตอนนั้นเพื่อน ๆ ฉันที่อัฒจันทร์ต่างก็กระโดดโลดเต้นกันหมดแล้วก็วิ่งกรูเข้ามาหาฉัน มากอดฉัน ตอนนั้นล่ะ ที่ฉันรู้ว่าฉันเป็นผู้ชนะแล้ว แต่ตอนที่ธงชาติอเมริกาได้ถูกชักขึ้น ตอนนั้นทำเอาฉันน้ำตาไหลเลย”

(อ่านต่อหน้า 2)

เกียรติยศที่ตามมาด้วยวิกฤตการณ์

โรบินสันเดินทางกลับมาสหรัฐอเมริกาทางเรือ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าที่นิวยอร์ก ก็มีชาวอเมริกันมากมายมารอรับเธอ มีพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ มีขบวนพาเรด มีการกล่าวสรรเสริญเธอในฐานะฮีโรโอลิมปิก มีการเลี้ยงอาหารอย่างดี เธอยังได้พบกับ เบบ รูธ ซูเปอร์สตาร์นักเบสบอลชื่อดังในยุคนั้นอีกด้วย มีเว้นช่วงพักผ่อนด้วยการพาเธอเที่ยวชมกรุงนิวยอร์ก แล้วก็มีงานเลี้ยงเฉลิมฉลองวันเกิดครบ 17 ปีให้เธอด้วย

พ่อและแม่ของเบ็ตตี้ โรบินสัน ท่ามกลางพิธีต้อนรับ

หมดพิธีต่าง ๆ ในนิวยอร์ก โรบินสันก็ได้เดินทางกลับชิคาโก้เสียที แต่ก็ยังไม่ถึงบ้าน เพราะต้องเข้าร่วมพิธีต้อนรับที่ทางเมืองชิคาโก้จัดให้เสียก่อน มีการพูดยกย่องสรรเสริญคุณงามความดี และขบวนพาเรดเช่นเคย จากนั้นเธอถึงจะได้กลับบ้านเกิดที่ริเวอร์เดล ที่นี่ก็ไม่แพ้กัน มีชาวเมืองแห่มาต้อนรับกันประมาณ 20,000 คน ในฐานะวีรสตรีของริเวอร์เดล ชาวเมืองยังน่ารักเรี่ยไรเงินกันมาซื้อนาฬิกาฝังเพชรให้เป็นของขวัญ ส่วนทางโรงเรียนธอร์นทัน ทาวน์ชิป ก็มอบรางวัลถ้วยเงินให้กับเธอในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน

หลังกระแสเห่อแชมเปี้ยนได้ซาลง โรบินสันถึงได้กลับไปเรียนในปีสุดท้ายของมัธยมปลายเสียที พอเรียนจบ โรบินสันก็ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเทิร์น ในสาขาฟิสิกส์ แต่ในใจเธอนั้น ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะเป็นโค้ชให้กับทีมชาตินักวิ่งหญิงให้ได้ทันก่อน โอลิมปิกปี 1936 แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เธอต้องรักษาตำแหน่งแชมป์ในโอลิมปิก 1932 ให้ได้เสียก่อน ระหว่างนี้เธอก็ลงวิ่งในการแข่งขันภายในประเทศไปเรื่อย ๆ ก่อน

ปี 1931

ในปี 1929 โรบินสันสร้างสถิติใหม่ในการวิ่ง 50 หลา ด้วยระยะเวลา 5.8 วินาที และ 100 หลาด้วเวลา 11.4 วินาที ในปี 1931 โรบินสันก็ทำลายสถิติโลกด้วยเวลา 6.9 วินาที ในระยะทาง 60 หลา และ 7.9 วินาทีในระยะทาง 70 หลา มองเห็นอนาคตเส้นทางอาชีพนักวิ่งที่สวยงามรออยู่ข้างหน้า แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1931

สภาพเครื่องบินเล็กที่ตก

วันนั้น โรบินสันจำได้ดีว่ามันเป็นวันที่อากาศร้อนจัดมาก เธออยากจะไปว่ายน้ำอย่างมาก แต่โค้ชก็กำชับเด็ดขาดไม่ให้เธอว่ายน้ำ เพราะจะเป็นการใช้กล้ามเนื้อผิดส่วน เธอเลยเกิดไอเดียใหม่ เมื่อรู้ว่าญาติผู้น้องของเธอมีเครื่องบินเล็กส่วนตัว ก็เลยเอ่ยปากให้ญาติพาเธอไปบินเล่นเสียหน่อย เพื่อเป็นการรับลมแก้ร้อน เครื่องบินก็เทคออฟได้อย่างปกติราบรื่นดี แต่พอไปแตะที่ระดับความสูง 600 ฟุตนั่นล่ะ โรบินสันก็เริ่มรู้สึกแล้วล่ะว่ามีอะไรผิดปกติ เสียงเครื่องเริ่มดังตะกุกตะกัก จากนั้นเครื่องก็เริ่มดิ่งเอาหัวลง แล้วก็ตกลงกระแทกพื้นในสนามหญ้า รอบข้างมีบ้านเรือนผู้คนอยู่ ชาวบ้านรีบวิ่งเข้ามารุมล้อมแล้วก็พบภาพที่น่าตกอกตกใจ ร่างของ 2 คนบนเครื่องที่อยู่ในสภาพบิดเบี้ยวผิดรูปและไม่ได้สติ โดยเฉพาะโรบินสันที่ชาวบ้านพิจารณาแล้วว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านรายหนึ่งดึงร่างเธอออกจากซากเครื่องได้ก็นำใส่กระโปรงท้ายรถ แต่ไม่ได้นำร่างเธอส่งโรงพยาบาลแต่นำไปส่งให้สัปเหร่อแทน สัปเหร่อรับร่างมาแล้วก็ตรวจสอบอาการ พบว่าเธอยังมีชีวิตอยู่จึงรีบแจ้งโรงพยาบาล สภาพของเธอปางตาย ขาทั้งสองข้างหักแหลกไม่มีชิ้นดี รวมไปถึงสะโพก และแขนด้วย อวัยวะภายในบอบช้ำ เธอได้สติแล้วก็สลบไป เป็นแบบนี้หลายรอบในช่วง 2-3 วันแรก ส่วนญาติของเธอที่เป็นเจ้าของเครื่องบินนั้น ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เขาก็รอดตาย แต่ขาซ้ายต้องถูกตัดทิ้ง

เบ็ตตี้ โรบินสัน ขณะที่นอนพักรักษาตัว

โรบินสันรักษาตัวในโรงพยาบาลต่ออีก 11 สัปดาห์ มีการฝังหมุดเหล็กเข้าไปเพื่อช่วยเชื่อมกระดูกขาของเธอที่หักหลายท่อน ส่วนสภาพบอบช้ำภายในก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ถึงตอนนี้เธอทำใจแล้วว่า เธอไม่สามารถมีส่วนร่วมใด ๆ ในโอลิมปิกปี 1932 ได้อีกแล้ว เพราะปัญหาหนักของเธอตอนนี้คือ ขาซ้ายสั้นกว่าขาขวา อย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องวิ่งเลย เอาแค่เดินเป็นปกติก็แทบเป็นไปไม่ได้ แต่ เบ็ตตี้ โรบินสัน ไม่เคยยอมแพ้ แม้เธอจะตกอยู่ในสภาพพิการก็ว่าได้ เธอประกาศอย่างมุ่งมั่นแน่วแน่ว่า “ต้องได้สิ ฉันจะพยายามกลับไปวิ่งให้ได้อีกครั้ง”

สาวน้อยผู้กลับจากความตาย

สภาพร่างกายของโรบินสันฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้ามาก เธอต้องทนทุกข์กับความเจ็บปวดมาอย่างยาวนาน แต่เธอก็แข็งแกร่งพอที่จะทนได้เพราะเคยผ่านการฝึกหนักอย่างแสนสาหัสมาแล้ว
“หมอบอกกับฉันว่า ถ้าสภาพร่างกายฉันไม่ดี ผลการรักษาก็คงไม่ออกมาดีอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้”

หลังผ่านกระบวนการทำกายภาพแล้ว โรบินสันก็พบว่าเธอสามารถกลับมาวิ่งได้อีกครั้งจริง ๆ
“มันไม่เร็วได้เหมือนแต่ก่อนหรอก แต่ฉันว่ามันก็เร็วพอที่จะวิ่งแบบทีมได้นะ”

ทีมวิ่ง 4×100 หญิง เบ็ตตี้ โรบินสัน คนขวาสุด

ว่าแล้วโรบินสันก็ตัดสินใจว่าเธอจะกลับไปโอลิมปิกอีกครั้ง ในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน เธอกลับไปเข้าค่ายฝึกซ้อมอีกครั้ง ปัญหาใหญ่ก็คือ โรบินสันไม่สามารถลงไปนั่งคุกเข่าในจุดสตาร์ตได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นลืมเรื่องการวิ่งแข่ง 100 เมตรที่เธอถนัดไปได้เลย คงเหลือแต่การวิ่งผลัดแบบ 4×100 ถ้าเธอไม่อยู่ไม้แรก เธอก็ไม่ต้องลงไปนั่งคุกเข่า

“มันต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสร้างทีมให้พร้อมในปี 1936 ฉันต้องฝึกล่วงเวลาอยู่เป็นประจำ”
แต่ด้วยความมุมานะตั้งใจอย่างมาก บวกกับทักษะและประสบการณ์ที่มีมาแต่ก่อน ก็ส่งผลให้โรบินสันได้ติดตำแหน่งตัวแทนทีมชาติจนได้ จากเด็กสาวที่อายุน้อยที่สุดที่เป็นตัวแทนทีมชาติ สู่นักวิ่งวัย 24 ปี ที่อายุมากที่สุดในทีมวิ่งผลัด

รอบนี้คู่แข่งรายสำคัญคือ ทีมนักวิ่งผลัดจากเยอรมัน ผู้เป็นเจ้าของสถิติโลก และเป็นตัวเก็งในการวิ่งครั้งนี้

https://www.youtube.com/watch?v=xKqD_h34V30&t=3s

เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น แนวโน้มที่ชัยชนะจะเป็นของทีมเยอรมันก็เด่นชัดขึ้น เบ็ตตี้ โรบินสัน อยู่ในตำแหน่งไม้ที่ 3 นักวิ่งเยอรมันทิ้งห่างเธอถึง 9 เมตร แล้วก็มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อเยอรมันส่งต่อไม้สุดท้ายให้กับ อิลเซ ดอร์ฟเฟลด์ท (Ilse Dorffeldt) ซึ่งรับไม้ได้อย่างสวยงามราบรื่น แต่แล้วระหว่างที่เปลี่ยนไม้ระหว่างมือตัวเองนั่นแหละ เธอพลาดทำไม้ร่วง กรรมการตัดสิทธิ์เธอออกจากการแข่งขันทันที ส่งผลให้ เฮเลน สตีเฟนส์ (Helen Stephens) ผู้รับไม้สุดท้ายต่อจากโรบินสันวิ่งเข้าเส้นชัยไปอย่างราบรื่น ทำให้ทีมวิ่งผลัดหญิงอเมริกันเป็นผู้ชนะเหรียญทองไปด้วยเวลา 46.9 วินาที เป็นหรียญทองสำคัญที่สุดอีกเหรียญของ เบ็ตตี้ โรบินสัน แม้ผลการแข่งขันจะเป็นที่กังขาก็ตาม แต่เบ็ตตี้ โรบินสัน ก็ยังยืนยันมั่นใจว่า ต่อให้เยอรมันไม่แพ้ฟาว์ล ยังไงทีมอเมริกันก็ยังจะชนะอยู่ดี เพราะความเร็วของ เฮเลน สตีเฟนส์ เพิ่งจะคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรหญิงปีนั้นมาหมาด ๆ
“ฉันเชื่อว่าต่อให้ทีมเยอรมันไม่ทำไม้ตก เฮเลนก็ยังเร็วกว่าอยู่ดี ยังไงเราก็ชนะ”
“ฉันบรรยายความรู้สึกตัวเองไม่ถูกเลย ฉันโชคดีเพียงใดที่ได้ร่วมทีมและได้เหรียญทองมาอีก 1 เหรียญทอง”
แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นความรู้สึกขมขื่นที่ต้องนั่งชมการวิ่งแข่ง 100 เมตรหญิง ที่เธอไม่มีโอกาสได้ลงแข่งอีกแล้ว

นักวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก

หลังจากโอลิมปิก 1936 โรบินสันก็ลาจากการแข่งขัน แต่เธอก็ยังทำงานในวงการวิ่งตลอดมา เป็นผู้จับเวลาที่ สหพันธ์กรีฑาสมัคร (Amateur Athletic Union) เป็นนักพูดในที่สาธารณะ เป็นผู้บรรยายประจำใน Women’s Athletic Association และ Girls’ Athletic Association เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนักวิ่งหญิงรุ่นใหม่ ๆ ภายหลังโรบินสันแต่งงานมีครอบครัว เธอมีลูก 2 คน แล้วย้ายไปอยู่เมือง เกลนโค ทางตอนเหนือของชิคาโก้ ที่นี่เธอได้ทำงานประจำในร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างต่อมาอีกหลายปี

แม้เธอจะเป็นนักวิ่งหญิงที่ประสบความสำเร็จระดับโลก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับประเทศ ในแต่ในบั้นปลาย เธอก็ไม่เคยคุยโตโอ้อวดถึงเหรียญทองโอลิมปิกของเธอแต่อย่างใด โรบินสันเก็บเหรียญทองของเธอไว้ในกล่องขนม แล้วใส่ไว้ในลิ้นชักอย่างดี หลานสาวของโรบินสันเล่าว่า
“เวลาคุณยายเอาเหรียญมาให้หนูดู ยายจะหยิบจับมันอย่างทะนุถนอมที่สุด”

เบ็ตตี้ โรบินสัน ในบั้นปลาย กับ 2 เหรียญทองโอลิมปิกที่เธอภาคภูมิใจ

ปี 1977 เบ็ตตี้ โรบินสัน ได้รับการจารึกชื่อเข้าสู่ หอเกียรติยศนักกรีฑาลู่และลานอเมริกัน ในการนี้เธอได้กล่าวว่า
“ฉันคิดว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักฉันแล้วล่ะ เพราะวีรกรรมของฉันมันเกิดขึ้นนานมากแล้ว ฉันแทบไม่เชื่อเลยว่าฉันจะได้รับความสนใจใยดีต่อเรื่องที่ฉันเคยทำไว้นานมาแล้ว”

แต่วันนี้ชื่อของเบ็ตตี้ โรบินสัน ก็ยังไม่ได้รับการจารึกเข้าสู่ หอเกียรติยศโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลานสาวก็เล่าว่าคุณยายของเธอไม่ได้สนใจอะไรนักที่คนรุ่นหลังจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเธอ
“แต่ในฐานะครอบครัว หนูกลับรู้สึกผิดหวังมากกว่าคุณยายอีกค่ะ”

Brooke Doire หลานสาวของเบ็ตตี้ โรบินสัน โชว์คบเพลิงที่คุณยายวิ่งเชิญในโอลิมปิก 1996

ปี 1996 เบ็ตตี้ โรบินสัน ได้รับเกียรติอีกครั้งจากคณะจัดการแข่งขันโอลิมปิก ในขณะนั้นโรบินสันวัย 84 ปี พักอยู่ในเดนเวอร์ เธอได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้วิ่งคบเพลิงโอลิมปิก แม้จะเป็นระยะทางแค่เพียงไม่กี่ช่วงตึกแต่โรบินสันก็เต็มใจกับหน้าที่นี้ แม้จะสูงวัยมากแล้ว แต่โรบินสันยืนกรานว่าเธอจะรับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ด้วยตัวเธอเอง ห้ามไม่ให้ใครมาคอยช่วยถือคบเพลิงแม้ว่ามันจะหนักมากก็ตาม ห้ามไม่ให้ใครมาคอยช่วยพยุงเธอ แล้วเธอก็ค่อย ๆ วิ่งถือคบเพลิงไปตามถนนจนสำเร็จลุล่วง

3 ปีจากการได้ทำหน้าที่ครั้งสุดท้าย เบ็ตตี้ โรบินสัน ก็จากไปในวันที่ 17 พฤษภาคม 1999 ด้วยวัย 87 ปี แพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นมะเร็งและทนทุกข์ต่ออาการอัลไซเมอร์ ต่อเนื่องมาได้ 2-3 ปีแล้ว

ความสำเร็จของ เบ็ตตี้ โรบินสัน ไม่เพียงแต่เป็นความภาคภูมิใจของเธอเองและสืบทอดมายังลูกหลาน และสหรัฐอเมริกา แต่ความสำเร็จของเธอยังถือเป็นการเบิกทางให้กับนักกีฬาหญิงทั่วทั้งโลกอีกด้วย บรูค ดอยร์ (Brooke Doire) หลานสาวของเบ็ตตี้ โรบินสัน พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“ฉันมองว่าคุณยายเป็นคนที่รักความท้าทาย เธอชอบลองในสิ่งที่แตกต่างจากเพื่อนฝูงรอบข้างเธออยู่เสมอ ฉันอยากจะให้เรื่องราวของเธอถูกบันทึกเป็นประวัติศาสตร์และส่งผลต่อนักกรีฑาหญิงทั่วโลก ยายรักในการวิ่งแล้วก็ยังต้องการให้ผู้หญิงทุกคนได้ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างเช่นที่เธอได้ทำและประสบความสำเร็จ”

Fire on the Track: Betty Robinson and the Triumph of the Early Olympic Women

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ น่าจะคิดเหมือน ๆ กันว่า เรื่องราวชีวิตของเบ็ตตี้ โรบินสัน นั้นช่างพลิกผันสุดคาดเดา เหมาะอย่างยิ่งที่จะหยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็มีผู้อำนวยการสร้างฮอลลีวูดคิดเช่นนั้นจริง ๆ เรื่องราวของเบ็ตตี้ โรบินสัน ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือก่อนในชื่อ Fire on the Track: Betty Robinson and the Triumph of the Early Olympic Women เขียนโดย โรแซนน์ มอนทิลโล ตีพิมพ์ในปี 2017 ซึ่งก็ผ่านการประมูลขายสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ และดรีมเวิร์ก บริษัทของสตีเวน สปิลเบิร์กก็เป็นผู้ชนะประมูลไป มอบหมายให้ แฟรงค์ มาร์แชล (Frank Marshall) ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังเป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งชื่อหนังไว้ด้วยแล้วว่า ‘Phoenomenon’ แต่ผ่านมาจนถึง 5 ปีแล้ว โปรเจกต์นี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง