ใครจะไปคิดนะว่าหอยทากตัวหนึ่ง จะสามารถมีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วกับเจ้าเจเรมี่ ที่เป็นข่าวไปทั่วโลก เหตุก็เพราะว่าความแปลกอันเป็นเอกลัษณ์เฉพาะของมัน ถ้าเราสังเกตเปลือกหอยทากดี ๆ (เรียกว่าเปลือกนะครับไม่ใช่กระดอง) บนเปลือกนั้นจะมีขดก้นหอย เช่นเดียวกับหอยชนิดอื่น ๆ แต่ว่าหอยทากปกติทั่วไปแล้วจะมีขดก้นหอยที่วนไปทางขวา หรือวนตามเข็มนาฬิกานั่นละ แล้วตุ่มที่เป็นลายก้นหอยนี้จะนูนออกมาด้านขวาของเปลือก แต่สำหรับเจ้าเจเรมี่นั้น เปลือกของมันมีขดก้นหอยวนทวนเข็มนาฬิกา แล้วตุ่มก้นหอยก็นูนออกมาทางด้านซ้าย และนั่นเป็นสาเหตุให้เจเรมี่เป็นดาราดังบนหลาย ๆ สื่อในช่วงปี 2017
ซึ่งเจ้าเจเรมี่ก็เป็นหอยทากที่คืบคลานอยู่ตามสวนทั่วไปนี่ล่ะ ถึงแม้มัันจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างจากหอยทากทั่วไป แต่ถ้ามาคืบคลานอยู่ในสวนแถวบ้านเราก็คงไม่มีใครสังเกตเห็นหรอก แต่เผอิญว่าเจ้าเจเรมี่ไปกระดืบ อยู่บนกองปุ๋ยหมัก ในสวนหลังบ้านของนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งจาก พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงลอนดอน นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้สังเกตเห็นความประหลาดของเจเรมี่ก็เลยนำตัวมันไปส่งให้ แองกัส เดวิสัน (Angus Davison) นักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ที่ประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ซึ่งกำลังศึกษาเกี่ยวกับหอยทากอยู่พอดี
ดร.เดวิสันสนใจกับลักษณะพิเศษของเจเรมี่อย่างมาก เพราะใคร่รู้ว่าที่เจเรมี่เกิดมามีเปลือกวนซ้ายนี่เป็นเพราะพันธุกรรม หรือว่าโชคร้ายเกิดมามีพัฒนาการที่ผิดพลาด ที่ต้องบอกว่าโชคร้ายก็เพราะว่า การที่เจเรมี่มีเปลือกที่วนในทิศทางตรงกันข้ามกับหอยทากปกติทั่วไปแล้ว มันจะไม่สามารถผสมพันธุ์กับหอยทากปกติทั่วไปที่มีเปลือกวนขวาได้ ดร.เดวิสันเลยเกิดปิ๊งไอเดีย เขาใช้สื่อโซเชียลประกาศหาคู่ให้เจเรมี่ ที่เป็นหอยทากที่มีเปลือกวนซ้ายเหมือนกัน ต้องอธิบายเพิ่มเติมนะครับ การหาคู่ให้หอยทาก ไม่ต้องระบุเพศ เพราะหอยทากเป็นสัตว์ที่มีสองเพศในตัวเดียวกัน
สื่อมวลชนหลายสำนักได้ไปเห็น ดร.เดวิสันประกาศหาคู่ให้หอยทาก เห็นว่าน่าสนใจดี เลยพากันแชร์ไปทำข่าว แล้วสานต่อด้วยแฮชแท็กว่า #snaillove ได้ผลอย่างหนัก เรื่องราวของเจเรมี่กลายเป็นไวรัล ถึงขั้นมีศิลปินสาวแต่งเพลงให้เจเรมี่แล้วปล่อยลงบนยูทูบ
การที่เจเรมี่กลายเป็นไวรัลก็ส่งผลดี เพราะใช้เวลาไม่นานนัก ดร.เดวิสันก็ได้รับการติดต่อจากทั่วสารทิศว่าพบหอยทากที่มีเปลือกวนซ้ายเหมือนเจเรมี่อีก 6 ตัว แล้วก็มี 2 ตัวถูกส่งมายังมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เพื่อจุดประสงค์ให้ผสมพันธุ์กับเจเรมี่ แล้ว ดร.เดวิสัน จะได้ทำการศึกษาต่อเพื่อหาข้อสรุปถึงสาเหตุของพันธุกรรมที่ผิดธรรมชาติเช่นนี้ หอยทากวนซ้ายที่ส่งมา 2 ตัวคือ Lefty มาจากอิปสวิช ประเทศอังกฤษนี่แหละ และอีกตัวชื่อ Tomeu มาไกลจาก มาจอร์กา ประเทศสเปน การมาถึงของหอยทากพันธุ์หายากนับเป็นความปีติของ ดร.เดวิสัน และทีมงาน ที่เหมือนทำภารกิจหาคู่ให้เจเรมี่ผู้น่าสงสารได้สำเร็จ แต่แล้วผลที่ออกมาก็เหมือนหนังคอมเมดี้ ที่มีเนื้อหาหักมุม เพราะเมื่อนำ Lefty กับ Tomeu มาใส่ในตู้รวมกับเจเรมี่ แล้ว Lefty กับ Tomeu ก็ดันผสมพันธุ์กันเองซะงั้น แล้วก็ออกลูกหลานมาเยาะเย้ยเจเรมี่อีก 300 ตัว
เดือนกุมภาพันธ์ 2017 เจเรมี่เริ่มมีอาการนิ่งเฉย ทีมที่ดูแลเลยเอาเจเรมี่ไปพักในตู้เย็น แล้วสลับให้ออกมาอยู่ในตู้เป็นครั้งคราว เป็นเช่นนี้มาจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม Tomeu ก็คลอดลูกครอกใหม่ออกมาประมาณ 4 โหลได้ ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจแล้ว เชื่อว่าบางส่วนน่าจะเป็นลูกของเจเรมี่ ดร.เดวิสัน จึงไปสำรวจอาการของเจเรมี่ในตู้เย็นแล้วก็พบว่ามันตายไปประมาณ 2 วันแล้ว
“ผมควรจะได้เอาร่างของเจเรมี่เก็บไว้ในช่องฟรีซตั้งแต่มันตายใหม่ ๆ เพื่อเก็บรักษาดีเอ็นเอของมันไว้ ผมเชื่อว่าทุกคนที่ได้ทราบข่าวนี้ก็คงจะรู้สึกเสียดายที่จะไม่มีเจเรมี่ให้เห็นอีกต่อไปแล้ว แต่ผมก็เก็บร่างมันไม่ทัน มันเป็นความผิดพลาดจริง ๆ”
เมื่อร่างของเจเมรี่เริ่มเน่าเปื่อยแล้ว การวิเคราะพันธุกรรมจึงเป็นไปได้ยาก นั่นคือเหตุผลของ ดร.เดวิสัน
สาเหตุการตายของเจเรมี่ก็คืออายุขัย หอยทากจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี ส่วนเปลือกหอยของเจเรมี่จะถูกเก็บรักษาไว้ที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เพื่อใช้ในการสอนนักศึกษาต่อไป
ส่วนบรรดาทายาทของเจเรมี่ที่ถือกำเนิดมานั้น ล้วนมีเปลือกวนขวาเหมือนหอยทากปกติ นั่นพอยืนยันได้ว่าลักษณะเฉพาะของเปลือกหอยในทิศทางผิดปกตินั้น จะปรากฏให้เห็นในทายาทที่สืบทอดมากกว่าหนึ่งรุ่นไปแล้ว แล้วถ้าเมื่อใดทายาทของเจเรมี่ที่มีเปลือกวนซ้ายปรากฏให้เห็น ดร.เดวิสันก็จะได้พบยีนต้นตอที่ทำให้เกิดร่างกายที่กลับด้าน แล้วการศึกษาในเรื่องนี้ก็จะขยายผลมาถึงกรณีเช่นเดียวกันในสัตว์ประเภทอื่น ๆ รวมถึงมนุษย์เราด้วย ที่บางคนก็เกิดมามีอวัยวะภายในกลับด้านที่เรียกว่าโรค situs inversus ที่จะมีกรณีเช่นนี้ 1 ต่อ 10,000 คน มีคนดัง ๆ ที่มีอาการเช่นนี้คือ เอ็นริเก้ อิกเกลเซียส, แคทเธอรีน โอ’ฮารา และ ดอนนี่ ออสมอนด์