ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่หลายบริษัทตระหนักถึงความสำคัญอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการบิน ก่อนหน้านี้เราเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า คนเริ่มหันมาใช้รถ EV มากขึ้นจากตัวเลขยอดจดทะเบียนกว่า 76,000 คันในปี 2023 แม้ว่าวันนี้เทคโนโลยีไฟฟ้ายังไปไม่ถึงอุตสาหกรรมการบิน แต่ก็มีความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีการต่าง ๆ เนื่องจากการบินเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างคาร์บอนไม่น้อย ล่าสุดบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอก แอร์เวย์ส หนึ่งในผู้นำสายการบินในประเทศไทย เผยทางเลือกใหม่ในการใช้น้ำมันรีไซเคิลแบบยั่งยืนในชื่อ SAF ซึ่งเป็นต้นแบบการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินต่อไปในอนาคต
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จับมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำร่องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ประเดิมเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์สเส้นทางสมุย-กรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุด และยังเป็นเส้นทางสมุยสร้างรายได้มากกว่า 50% ของบางกอกแอร์เวย์สอีกด้วย ถือเป็นต้นแบบให้โครงการ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ที่มุ่งลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการบินที่สร้างปริมาณคาร์บอนมากที่สุดในระบบ
น้ำมัน SAF คืออะไร?
ก่อนอื่นทำความรู้จักก่อนว่า น้ำมัน SAF เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเครื่องบินพาณิชย์ (Jet A-1) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว UCO (Used Cooking Oil) กากน้ำตาล ขยะชีวภาพและอื่น ๆ พูดง่าย ๆ ว่าเป็นน้ำมันรีไซเคิลจากน้ำมันเก่า ซึ่งสามารถนำไปผสมกับน้ำมัน Jet A-1 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการบินในสัดส่วนสูงสุด 50% ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมการบินปัจจุบัน
ปัจจุบันไทยยังไม่มีโรงงานที่สามารถผลิตน้ำมัน SAF นี้ได้ โดย OR ใช้วิธีการนำเข้าน้ำมัน SAF จากบริษัท Neste Oil ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศฟินแลนด์ ผ่านทางประเทศมาเลเซีย เพื่อนำมาใช้ทดสอบการเติมน้ำมันในเครื่องบิน Bangkok Airways ลำจริงเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2024
ในปี 2023 บางกอกแอร์เวย์ส สามารถลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้มากกว่า 11,321 ตัน (เท่ากับการปลูกต้นมะพร้าว 275,591 ต้น) หรือมากกว่า 200 กิโลกรัม/เที่ยวบิน ซึ่งการเติมน้ำมัน SAF ครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 1,346 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน หรือพูดง่าย ๆ ว่า ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่าเดิมถึง 6 เท่าเลยทีเดียว
Bangkok Airways ตั้งเป้าใช้น้ำมัน SAF 1%
เป้าหมายของบางกอกแอร์เวย์สตั้งใจจะนำน้ำมัน SAF มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินประมาณ 1% ของปริมาณน้ำมันทั้งหมด (บางกอกแอร์เวย์สใช้น้ำมัน Jet A-1 ประมาณ 10 ล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นปริมาณน้ำมัน SAF 100,000 ลิตรต่อเดือน) ภายในปี 2026 สอดคล้องกับมาตรการสายการบินที่มุ่งเน้นให้ทุกสายการบินใช้น้ำมัน SAF เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 1% ในทุก ๆ เส้นทางการบิน เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนของน้ำมัน SAF ยังมีราคาที่สูงกว่าน้ำมัน Jet A-1 ประมาณ 3-5 เท่าตัวเลยทีเดียว จึงอาจส่งผลกระทบต่อราคาค่าตั๋ว ที่อาจสูงขึ้นเมื่อมีการใช้น้ำมัน SAF มากขึ้นตามไปด้วย เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นนั่นเอง
บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero Carbon Emission 2050) ตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการไปสู่ Green Airport โดยมีสนามบินสมุย ซึ่งเป็นสนามบินเเห่งเเรกที่ได้รับการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินท์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในปี 2016 – 2017 ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบสนามบิน การติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV ไว้บริการผู้โดยสาร การคัดแยกขยะและลดการใช้พลาสติก การบำบัดน้ำเสีย (เพื่อเป้าหมายปล่อยน้ำเสียสู่ธรรมชาตเป็นศูนย์) ไปจนถึงนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้ภายในอาคารสนามบินต่อไป