หลังจากเกิดอุบัติเหตุรถบัสไฟไหม้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 23 คน จากเหตุยางระเบิดและเป็นเหตุให้ก๊าซ NGV รั่วไหล จนทำให้เกิดเพลิงรุกไหม้อย่างรวดเร็ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ซึ่งเหตุแนวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนหลายคนเริ่มสงสัยแล้วว่ารถโดยสารหรือรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV นั้นปลอดภัยจริงหรือ แล้วก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ทั่วไปมีอยู่กี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร วันนี้แบไต๋ให้ฟังครับ
LPG vs NGV
ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ก๊าซ LPG และก๊าซ NGV
ก๊าซ LPG หรือ Liquefied Petroleum Gas หรือที่คนไทยเรียกกันว่าก๊าซหุงต้ม ได้มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน (ดีเซลและเบนซิน) มีส่วนประกอบของโพรเทน 70% และบิวเทน 30% เป็นก๊าซที่มีลักษณะเป็นของเหลว ระเหยง่าย ไม่มีสีและกลิ่น แต่มีการเติมกลิ่นฉุนเข้าไปเพื่อให้คนสามารถรับรู้ได้เมื่อมีการรั่วซึม
ก๊าซ LPG มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ น้ำหนักมากกว่าก๊าซทั่วไปในอากาศ ทำให้ก๊าซ LPG เวลารั่วออกมาจะลอยตัวต่ำ มีโอกาสติดไฟได้ มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ประมาณ 480 องศาเซสเซียส ให้ค่าความร้อนที่ 26,595 BTU/ลิตร แรงดันอยู่ที่ 100-130 PSI หรือประมาณ 4-6 บาร์ ราคาก๊าซ LPG ในตลาดวันนี้อยู่ที่ประมาณ 15 บาท/กิโลกรัม
และก๊าซอีกชนิดคือ NGV หรือ Natural Gas Vehicle หรือก๊าซ CNG (Compressed Natural Gas) ซึ่งเป็นก๊าซชนิดเดียวกันที่นำมาใช้สำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ เกิดจากการทับถมของฟอสซิลและได้จากการขุดเจาะเช่นเดียวกับน้ำมันและถ่านหิน มีส่วนประกอบของมีเทนเป็นหลัก แตกต่างจาก LPG
ก๊าซ NGV มีลักษณะเป็นก๊าซ (เนื่องจากการทำให้เป็นของเหลวต้องใช้อุณหภูมิต่ำถึง -160°C ซึ่งทำได้ยากในทางปฏิบัติ) ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่น้ำหนักเบากว่าก๊าซทั่วไป เมื่อมีการรั่วซึมออกมา โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่โล่งแทบจะลอยขึ้นชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการเติมกลิ่นฉุนเข้าไปเหมือนก๊าซ LPG แต่อย่างในกรณีที่รถบัสไฟไหม้ สาเหตุมาจากก๊าซ NGV ลอยขึ้นไปอัดอยู่ภายใน ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วนั่นเอง
มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ประมาณ 650 องศาเซลเซียส ให้ค่าความร้อนอยู่ที่ 35,947 BTU/กิโลกรัม มีแรงดันสูงกว่า LPG หลายเท่าตัวที่ 2,200-3,000 PSI หรือประมาณ 20 บาร์ ส่วนราคาก๊าซ NGV ในตลาดวันนี้อยู่ที่ประมาณ 18 บาท/กิโลกรัม
หากพิจารณาจากตัวเลขแล้วก็คงพอทราบว่า ก๊าซ NGV มีอุณหภูมิและค่าความร้อนที่สูงกว่าก๊าซ LPG เกือบเท่าตัว แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่สามารถชี้วัดความอันตรายได้มากกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการเก็บรักษา การตรวจสอบสภาพการเก็บรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่นอกเหนือการควบคุม ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้งานของแต่ละคนนั่นเอง
แล้วรถก๊าซ NGV ยังน่าใช้อยู่ไหม?
ขออนุญาตอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ bt ที่ได้คุยกับคุณนันทชัย โลหะโรจน์วิเชียร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์และเรื่องระบบเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (ใครอยากอ่านเต็มๆ เชิญได้) คุณนันทชัย เล่าว่า
คนส่วนใหญ่ที่ใช้รถก๊าซ NGV ต้องการที่จะลดค่าใช้จ่ายของราคาเชื้อเพลิง โดยปกติแล้วสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 40-50% ถ้าถามถึงความน่าใช้ รถก๊าซ NGV ก็ยังน่าใช้อยู่ โดยเฉพาะรถเล็กที่จะติดตั้งถังเพียง 1 ใบ หากเกิดอะไรขึ้นมาการเอาตัวรอดจะง่ายกว่าในกรณีรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ต้องติดตั้งถังก๊าซ 8-10 ใบ และอย่างที่บอกไปข้างต้นว่าตัวถังมีมาตรฐานความปลอดภัยอยู่แล้ว อย่างในกรณีนี้ผมคิดว่าคนขับต้องมีเซนส์มีสติมากกว่านี้หากเกิดความผิดปกติ เช่นมีควัน ควรจอดรถในที่โล่งและให้เด็ก ๆ ออกมาจากรถโดยเร็ว เพราะไฟมันลามเร็วมาก หากคนออกมาได้ก่อนถึงแม้รถจะไหม้หมด ความเสียหายก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้คุณนันทชัย ยังให้คำแนะนำเรื่องความปลอดภัย ก่อนเดินทางด้วยรถโดยสาร ควรมีการแนะนำวิธีรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เช่นเดียวกับการเดินทางโดยเครื่องบิน ที่มีพนักงานแนะนำวิธีการใช้ท่อหายใจฉุกเฉินหรือเสื้อชูชีพ หรือในโรงภาพยนตร์ที่บอกทางหนีไฟ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ในบางประเทศ การนั่งรถบัสต้องคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนรถจะออกเดินทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เดินตรวจสอบก่อนทุกครั้ง ซึ่งถือเป็นมาตรการที่เข้มงวดเรื่องความปลอดภัย ในประเทศไทยเอง แม้ว่าคนขับรถโดยสารอาจไม่บังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัย แต่การดูแลชีวิตของตนเองไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียเวลาแต่อย่างใด
และควรมีการแนะนำผู้โดยสารเรื่องการใช้งานประตูฉุกเฉิน โดยเฉพาะการบอกถึงตำแหน่งและวิธีเปิดประตู กรณีมีเด็กเล็ก ควรมีผู้ใหญ่ที่นั่งใกล้ประตูฉุกเฉินเพื่อคอยช่วยเหลือ ในรถบัสทั่วไปจะมีค้อนทุบกระจกติดตั้งตามเสาข้าง ๆ ที่นั่ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กระจกด้านข้างเป็นแบบเทมเปอร์ (Tempered Glass) ซึ่งออกแบบให้แตกออกเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน ผู้โดยสารสามารถใช้ค้อนทุบกระจกเพื่อออกจากรถได้อย่างรวดเร็ว ควรมีเครื่องขยายเสียงแยกสำหรับแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
ปัญหาอุบัติเหตุรถบัสสองชั้นยังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทางออกหลักของรถมักอยู่ด้านหน้าและกลางรถ ซึ่งทำให้การอพยพคนออกจากรถช้ากว่า หากเป็นรถชั้นเดียว การอพยพจะรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น กฎหมายไทยเองก็มีกฎควบคุมการใช้งานรถบัสสองชั้นอย่างละเอียด แต่ยังคงมีการละเลยตรวจสภาพอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นผลจากความไร้ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง สุดท้ายเหตุการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ
พร้อมกล่าวทิ้งท้าย ถ้าคนขับมีสติมากกว่านี้ ความเสียหายอาจจะลดน้อยลง ซึ่งคนอาจจะไปโทษที่ก๊าซ NGV ซึ่งหากมองจากความเป็นจริงไม่ว่าคุณจะใช้รถแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นรถ EV เครื่องยนต์สันดาป ก๊าซธรรมชาติ หรืออะไรก็แล้วแต่ หากเกิดอุบัติเหตุรุนแรงมันก็มีโอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นหลัก ๆ ต้องดูที่พฤติกรรมการขับขี่ อย่างระบบก๊าซก็ต้องหมั่นตรวจเช็กอยู่บ่อย ๆ และต้องคอยสังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ