หลังจาก Tesla ทำตลาดในประเทศไทยมาได้เกือบ 2 ปี แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จักเทคโนโลยีของ Tesla มากนัก เพราะ Tesla เป็นมากกว่าผู้ผลิตรถ EV แต่ยังผลิตแบตเตอรี่สำหรับโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ Tesla ลงทุนกับ AI ไปมากกว่า 130,000 ล้านบาท เราจึงได้เห็น CyberCap รถโดยสารอัตโนมัติที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุด พร้อม ๆ กับ Robovan รถโดยสารสาธารณะขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไปจนถึง Optimus หุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น กว่าจะมีวันนี้ได้ Tesla ลงทุนลงแรง พร้อมใส่ใจกับรายละเอียดต่าง ๆ ของตัวรถ จนทำให้รถ Tesla โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ดีไซน์

พูดถึงเรื่องการดีไซน์ตัวรถของ Tesla หลายคนอาจคิดว่า Tesla ก็ไม่ได้แตกต่างจากรถ EV จีนค่ายอื่น ๆ ที่ดูสวยขึ้นทุกวี่ทุกวันมากนัก แต่หากพิจารณาลึกลงไปแล้ว Tesla ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการออกแบบชิ้นส่วนแต่ละจุดอย่างมาก Tesla ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรกเสมอในทุกขั้นตอนออกแบบ ตั้งแต่ก่อนจะร่างแบบยันรถออกจากสายพานผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดการออกแบบสไตล์มินิมัล เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากชิ้นส่วนตกแต่งต่าง ๆ ในยามที่เกิดอุบัติเหตุ แถมยังได้ประโยชน์ในการเพิ่มพื้นที่ห้องโดยสารมากขึ้นด้วย เรียกได้ว่า Tesla ใช้พื้นที่ห้องโดยสารได้คุ้มค่าทุกตารางเมตร ภายในห้องโดยสารยังผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้ โดยการลดปุ่มกดแล้วย้ายทุกอย่างเข้าไปไว้ในจอดิจิทัลกลางแทน อีกทั้งยังออกแบบให้การกดฟีเจอร์ต่าง ๆ ไม่ควรเกิน 3 ครั้งเพื่อเข้าถึงฟังก์ชันนั้น ๆ ทำให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องละสายตามาที่จอนานเกินไปนั่นเอง

การออกแบบยังสอดแทรกเทคโนโลยีไว้ภายในสะท้อนผ่านช่องแอร์ ที่มาพร้อม Coanda Effect ระบบเป่าลม 2 ทิศทางจากช่องแอร์ ให้ทิศทางลมหักล้างกันและผสานไปในทิศทางเดียว ทำหน้าที่คล้าย ๆ แรงลมของไดร์เป่าผมไดสัน ช่วยทำให้แรงลมของรถ Tesla ไม่หนักและเบาจนเกินไป หลายคนชอบนะสิ่งนี้

ระบบความปลอดภัย

อย่างที่บอกว่า Tesla คำนึงถึงความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้นความปลอดภัยจึงสะท้อนให้เห็นตั้งแต่การใช้วัสดุตัวถัง โดย Tesla เลือกวัสดุเหล็กที่แข็งแรงระดับ Ultra High Strength Steel (สีแดง) ครอบคลุมพื้นที่ห้องโดยสารแแถวหน้า เพื่อป้องกันการกระแทกรุนแรงจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีเคสตัวอย่างให้เห็นแล้วหลายครั้งว่าตัวถังนี้สามารถรักษาชีวิตผู้ขับขี่มาแล้วหลายราย

ถัดมาวัสดุเหล็กระดับ Ultra Strength Steel (สีเหลือง) ครอบคลุมอีกชั้นทั้งบริเวณกระโปรงหน้าจนถึงที่นั่งแถวหลัง ช่วยรองรับแรงกระแทกจากช่วงล่างและโช้กได้อีกระดับ ส่วนสุดท้ายคือตัวถังด้านนอก (สีน้ำเงิน) ที่เป็นวัสดุเหล็กเหมือนกัน แต่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เหมาะสำหรับการขึ้นรูปทรงตัวรถ

ชิ้นส่วนสุดท้ายคือวัสดุอะลูมิเนียม (สีเงิน) หรือก็คือวัสดุที่ขึ้นรูปด้วย Gigamachine ในโรงงาน Gigafactory ที่หลายคนน่าจะเคยเห็นการปั๊มรูปตัวถังภายในเวลาไม่กี่วินาทีไปแล้วในรุ่น Model Y (ภาพด้านบนเป็นรุ่น Model 3 ที่ไม่ใช่ Gigacasting ทั้งหมด) กระบวนการนี้ลดชิ้นส่วนวัสดุจาก 70 กว่าชิ้นให้เหลือเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น ทั้งยังลดน้ำหนักตัวถังไปได้มากโข

สุดท้ายเรื่องระบบความปลอดภัยของ Tesla ที่มีทั้งแบบ Active และ Passive แต่ระบบความปลอดภัยทุกอย่างก็ยังอยู่ใต้การควบคุมของมนุษย์อีกชั้นหนึ่ง หมายความว่าผู้ขับขี่ยังสามารถขัดขืนการทำงานของระบบได้ ไม่ว่าในกรณีไหนก็ตาม เพราะ Tesla เชื่อว่าไม่มีระบบเซฟตีไหนจะปลอดภัยไปกว่ามือของผู้ขับขี่เอง

ระบบขับขี่อัตโนมัติ

หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ HW 4.0 หรือ Hardware 4.0 ซึ่งเป็นแผงวงจรที่ใช้ประมวลผลและสั่งการระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติหรือ FSD ของ Tesla เราก็เพิ่งมีโอกาสได้จับแผงวงจรจริง ๆ ก็วันนี้แหละ ซึ่งเป็นบอร์ดที่ใช้ชิปจากผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่อย่าง TSMC ที่ Tesla ออกแบบเองจำนวน 2 ตัว นอกจากนี้ Tesla ยังใช้ชิป AMD Ryzen สุดแรง มาช่วยประมวลผลฝั่งความบันเทิงให้แก่ MCU ภายในรถด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยให้รถทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

แบตเตอรี่

สาเหตุที่ทำให้ Tesla ขึ้นชื่อเรื่องการจัดการพลังงานได้ดีที่สุด หรือพูดง่าย ๆ ว่าประหยัดพลังงานสุด ๆ ได้มากแค่ไหนอยู่ที่ระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System) ซึ่ง Tesla เป็นแบรนด์ที่ออกแบบระบบ BMS ได้ดีที่สุดในเวลานี้ ทำให้รถ Tesla สามารถจัดการพลังงานได้อย่างน่าทึ่ง ทำงานควบคู่กับระบบจัดการแบตเตอรี่แบบแอนะล็อก BMB (Battery Monitoring Board) เมื่อรถจอดอยู่กับที่ พร้อมทั้งช่วยตรวจสอบการทำงานของแบตฯ ทุก ๆ 10 นาที

แบตเตอรี่ของ Tesla มีให้เลือก 2 ประเภท คือ LFP หรือแบตลิเทียมไอออนฟอสเฟต ขนาด 60 kWh ที่ใช้ในรุ่นเริ่มต้นของ Tesla Model 3 และ Model Y ส่วนแบตเตอรี่ NMC หรือแบตเตอรี่ลิเทียมแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ ขนาด 74 kWh ใช้ในรุ่น Long Range และ Performance

Road to Motor Expo 2024

ปัจจุบัน Tesla ได้มีการพัฒนาการให้บริการเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้รถ Tesla มากขึ้น เช่น การเปิดระบบ Self-Scheduling Test Drive ให้ผู้ที่สนใจทดสอบขับขี่รถเลือกวันเวลาผ่านระบบได้เอง การเปิดระบบ Pre-Owned หรือรถ Tesla มือสอง นอกจากนี้ยังมีการปรับอัตราค่าชาร์จไฟพิเศษราคา 7.17 บาท/kWh ทุกจุด 24 แห่งทั่วไทย พร้อมเตรียมขยายเป็น 28 แห่งภายในปีนี้ (กทม. มี 12 แห่ง) ไปจนถึงแคมเปญพิเศษ One Charge Challenge สำหรับการแข่งขันทำระยะขับขี่ให้มากที่สุดต่อการชาร์จ 1 ครั้งให้ชาว Tesla ได้ร่วมสนุกกันอีกด้วย

ส่วนในงาน Motor Expo 2024 ที่จะถึงนี้เราจะได้เห็นอะไรจาก Tesla บ้าง อย่างแรกคือตัวถังหลายสีที่โชว์ความแข็งแกร่งของวัสดุตัวถังจะถูกนำไปจัดแสดงด้วย พร้อมทั้งอุปกรณ์ในตัวรถอื่น ๆ ที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก อย่างมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า Model 3 และ Model Y รุ่น HW 4.0 ก็จะได้เห็นพร้อมกันที่ Motor Expo 2024 อย่างแน่นอน