Wuling เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยบริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด แต่รู้หรือไม่ว่า Wuling ที่เข้ามาทำตลาดในไทยเป็นบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ SGMW (SAIC-GM-WULING Automobile Company Limited) ประกอบด้วย SAIC ผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่ของจีนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ MG นั่นเอง ถือหุ้น 50.1% ร่วมกับ GM หรือ General Motors ผู้ผลิตรถยักษ์ใหญ่จากฝั่งอเมริกา ถือหุ้น 44% และ Wuling บริษัทแม่ ถือหุ้น 5.9%
สิ่งที่ทำให้ Wuling มีชื่อขึ้นมาคือการที่เข้ามาช่วยชีวิต GM ได้ถูกที่ถูกเวลา หลังจากบริษัทแม่ฝั่งตะวันตกเริ่มประสบปัญหายอดขาย แต่ได้รถตู้ Mini Van ของ Wuling หรือใครจำภาพรถตู้ส่งของออก หน้าตาประมาณนั้นเลย ทำให้ยอดขายของ GM พุ่งขึ้นมาเป็นแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2010 ขายดีจนถึงขนาดลงนิตยสาร Forbes เลยทีเดียว
Wuling มีโรงงานผลิตรถชื่อ LIM (Link intelligence Manufacturing) ในเมืองกวางซี ใกล้กับเมืองกุ้ยหลินที่คนไทยคุ้นเคยกัน ซึ่ง Wuling โดย SGMW เองยังใหม่ในฐานะของการเป็นผู้ส่งออก ปัจจุบันมีตลาดครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน และมีโรงงานเป็นฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย ฐานผลิตพวงมาลัยขวา คือ อินโดนีเซีย (อันดับ 1), ไทย (อันดับ 2) และมาเลเซีย (กำลังดีลอยู่) รวมถึงฐานผลิตพวงมาลัยซ้าย คือ เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะมีทั้งฐานผลิตจากจีนและอินโดนีเซียนั่นเอง
โมเดลใหม่
นับตั้งแต่ Wuling เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2023 ปัจจุบันมียอดขายรวมประมาณ 2,000 คัน แบ่งเป็นรุ่น Air EV ยอดรวม 1,104 คัน (ขายดีในจังหวัดเชียงใหม่ 200 กว่าคัน) และรุ่นใหม่ล่าสุด Bingo ยอดรวม 648 คัน และมียอดจองรอส่งมอบอีกกว่า 176 คัน ทั้งนี้ Wuling ตั้งเป้ายอดขายในปี 2025 ไว้ที่ 3,000 คัน (ตั้งเป้า 10,000 คันในปี 2026) ด้วยการนำรถ EV รุ่นใหม่กว่า 3 รุ่นเข้ามาทำตลาดเพิ่มเติมในเซกเมนต์ใหม่ ๆ
แล้วจะมี Wuling รุ่นไหนบ้างที่จะเข้ามาทำตลาดในปี 2025 ต้องบอกว่าทำไม Wuling บริษัทแม่ถึงเพิ่งจะลงมาดูแลตลาดไทยด้วยตัวเอง เพราะว่าก่อนหน้านี้ Wuling เป็นแบรนด์ที่ผลิตเพื่อคนจีนใช้และขายในจีนเท่านั้น ยังไม่สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศที่บริษัท GM ทำตลาดในประเทศนั้น ๆ อยู่ จนล่าสุดที่ GM ถอนตัวและถอนแบรนด์ Chevrolet ในไทยไปเมื่อปี 2020 ทำให้เป็นการเปิดทางให้กับ Wuling ได้ก้าวเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้นนั่นเอง
ส่วนในปี 2025 รุ่นแรกสุดน่าจะเป็น Cloud EV เป็นรุ่นที่จะมาแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่าง BYD Dolphin เต็มตัว เตรียมเปิดตัวในช่วงก่อน Motor Show 2025 นอกจากนี้ยังมีรุ่น Starlight ที่มีให้เลือกทั้งขุมพลังปลั๊กอินไฮบริดและพลังงานไฟฟ้า ราคาขายที่จีนประมาณ 4 แสนกว่าบาท ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเป็นการนำเข้า CBU มาจากอินโดนีเซียก่อน
อีกรุ่นจาก Wuling ที่อาจจะมาทำตลาดรถ EV สำหรับพาณิชย์ในรูปแบบสไตล์ K-Car รถขนส่งตัวเล็กของญี่ปุ่น มีชื่อที่เรียกในจีนว่าซื่อกวง รวมถึง Wuling Macaron เป็นรถเล็ก Entry level รองรับผู้โดยสาร 1-2 ที่นั่ง ก็อาจเป็นตัวเลือกที่นำมาทำตลาดรุ่นเริ่มต้น โดยตั้งราคาในช่วง 2 แสนบาทก็เป็นได้
เทคโนโลยี
ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีของ Wuling กันหน่อย แม้จะเป็นรถ EV ขนาดเล็ก แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งเทคโนโลยี เพราะอย่าลืมว่าเบื้องหลังการจับมือของบริษัทนี้มี General Motor พี่ใหญ่จากฝั่งตะวันตกกุมบังเหียนอยู่ด้วย ทำให้ Wuling ได้เทคโนโลยีหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วงล่างจาก GM มาโดยตรง
Wuling มีปณิธานในการสร้างรถให้เป็น ‘รถของประชาชน’ คนอยากได้อะไร Wuling ก็ผลิตอย่างนั้น Wuling จึงเป็นรถคันแรกที่ใครก็สามารถซื้อได้ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีของ GM ทำให้เกิดรถที่ต้นทุนต่ำและเป็นเจ้าของได้ง่าย (รถบางรุ่นของ Wuling ราคาประมาณ 60,000 บาทเท่านั้น) และสามารถสร้างยอดขายทั่วโลกได้มากกว่า 25 ล้านคันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังถือว่า Wuling เป็นผู้ที่มีส่วนผลักดันให้คนจีนเปลี่ยนมาใช้รถ EV มากขึ้น (เช่นเดียวกับกฎหมายป้ายทะเบียน EV และอื่น ๆ) เพราะรถ EV รุ่นแรก ๆ ของ Wuling คือ Mini EV ซึ่งมีราคาขายที่จีนประมาณ 150,000 บาท ทำให้เข้าถึงคนได้มาก เหมาะแก่การทดลองเปลี่ยนผ่านพลังงาน จนมียอดขายรวมได้มากกว่า 1.6 ล้านคันในปัจจุบัน
นอกจากความง่ายของการเป็นเจ้าของรถ Wuling แล้ว ยังคิดค้นเกียร์ไฟฟ้าสำหรับรถไฮบริด DHT ที่ต่อมาได้ขายให้แก่ BYD ด้วยเช่นกัน รวมถึงเทคโนโลยีของเครื่องยนต์สำหรับรถไฮบริด ที่สามารถปั่นไฟด้วยน้ำมันและมีความเสถียร 43.6% สูงสุดในอุตสาหกรรมรถก็ว่าได้
หัวใจสำคัญของรถ EV คือแบตเตอรี่ ซึ่ง Wuling มีความภูมิใจอย่างมากในการออกแบบโมดูลสำหรับแบตเตอรี่ให้มีช่องว่าง และคั่นด้วยแผ่นระหว่างโมดูล เพื่อลดแรงกระแทกเวลาเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตัวแบตเตอรี่ไม่เกิดการเบียดจนเกิดประกายไฟ และยังสามารถซ่อมแยกเป็นโมดูลได้ด้วย Wuling เคลมว่าแบตเตอรี่ของเขาที่ขายออกไป 2 ล้านลูกไม่เคยเกิดไฟไหม้สักเคสเดียว นอกจากนี้ยังเสริมด้วยวัสดุเคสด้านนอกที่แข็งแกร่งระดับ High Strength Steel (วัสดุเกรดตัวถังของ Tesla) ทำให้ตัวแบตฯ มีความแข็งแรงกว่าคู่แข่งประมาณ 60% เลยทีเดียว
กลยุทธ์ปี 2025
หลังจากการทำตลาดในไทยของ Wuling ประมาณ 2 ปี มียอดขายรวมเกือบ 2,000 คัน แม้จะค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ แต่ด้วยสงครามราคาที่ดุเดือดขึ้นทุกวัน ทำให้บริษัท SGMW จะเข้ามาช่วยดูแลตลาดไทยมากขึ้น พร้อมการตั้งราคาให้เหมาะสมสำหรับรถ EV รุ่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยต่อไป พร้อมคาดหวังว่า Wuling Bingo ที่มียอดขายกว่า 400,000 คันในจีน จะสามารถสร้างยอดขายในไทยได้มากขึ้น จากการปรับออปชันหรือเพิ่มรุ่นย่อยให้เหมาะสม (เราอาจได้เห็น Bingo+ ในปี 2025)
ปัจจุบันการทำตลาดของ Wuling ในประเทศจีนเน้นการขายด้วยปริมาณ ทำให้ Wuling สามารถผลิตรุ่น Minor Change ได้ทุก ๆ 8 เดือน รวมถึง Major Change ได้ทุก ๆ 1 ปีครึ่ง นอกจากนี้จะมีเพิ่มการผลิตรถพวงมาลัยซ้ายและพวงมาขวาให้มีปริมาณเท่า ๆ กัน เพราะทุกวันนี้ราคารถในจีนและตลาดไทยแทบไม่หนีกันมาก ต่างกันอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้นเอง
ส่วนในตลาดไทยจะพยายามลดต้นทุนและตั้งราคารถให้เหมาะสมยิ่งขึ้น รถรุ่นใหม่ ๆ อาจใช้การนำเข้าแบบ CBU ก่อน เพราะต้นทุนแทบไม่ต่างจากการประกอบที่โรงงานในไทย ส่วนรุ่นที่ยังประกอบอยู่ ได้แก่ Mini EV, Air EV และ Cloud EV ที่จะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2025
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้กับผู้จัดจำหน่ายและดีลเลอร์ในไทยด้วยเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นงบสำหรับการทำแบรนดิง 50 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการตลาดออนไลน์มากขึ้น Wuling ให้ความสำคัญกับการบอกปากต่อปาก เพื่อเป็นรถขวัญใจมหาชน อีกส่วนหนึ่งใช้ในการซัปพอร์ตโชว์รูมจำนวน 50 ล้านบาท แบ่งเป็นโชว์รูมในหัวเมืองใหญ่ 10 แห่ง 2.5 ล้านบาท โชว์รูมเมืองรอง 8 แห่ง 1.5 ล้านบาท และโชว์รูมในจังหวัดเล็ก 32 แห่ง จำนวน 5 แสน – 1 ล้านบาท
ในส่วนของโรงงานผลิตที่ไทย ปัจจุบันรองรับการผลิตได้ 4,000 กว่าคัน หรือผลิตได้ 1.5 คัน/ชั่วโมง ซึ่งได้พนักงานชาวจีนมาช่วยปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และรองรับการผลิตที่มากขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องรออะไหล่ จะเห็นได้ว่าบริษัทรถ EV จีนมีปัญหาเรื่องรออะไหล่นาน 2 เดือน ทาง Wuling และอีวี ไพรมัส ได้มีการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มการสต๊อกของให้มากขึ้น เน้นอะไหล่ประเภทบอดี้พาร์ตที่มีการเฉี่ยวชน เสียหายจากภายนอก ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อย เพื่อลดเวลาในการรออะไหล่นั่นเอง ปัจจุบันโรงงานผลิตในไทยใช้อะไหล่ท้องถิ่นกว่า 46% ซึ่งจะมีการพัฒนาไปใช้มอเตอร์ แบตฯ และสายไฟแรงสูงจากท้องถิ่นในปี 2025 ด้วย
Wuling เน้นย้ำว่าจะไม่มีการปรับโครงสร้างราคาของรถ EV รุ่นที่ขายอยู่ในปัจจุบัน แต่จะเน้นแคมเปญขายเป็นช่วง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายตลอดทั้งปี และให้ความสำคัญกับการตั้งราคารถ EV รุ่นใหม่ 3 รุ่นที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยปี 2025 โดยรุ่นเริ่มต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2 แสนบาท ไปจนถึงรุ่นไฮไลต์จะมีพยายามตั้งราคาให้อยู่ในช่วง 5-6 แสนบาท หวังว่า Wuling จะยังเป็นรถของทุกคน และทุกคนเป็นเจ้าของได้ง่ายเช่นเดิม