จากกรณีของรถ Neta V ที่ได้รับคะแนนผลการทดสอบมาตรฐานจาก ASEAN NCAP 0 ดาว จากคะแนนเต็ม 5 ดาว ทำให้หลายคนที่อาจไม่ได้อยู่ในวงการรถสงสัยว่า มาตรฐาน NCAP ดังกล่าวคืออะไร? จะซื้อรถใหม่จำเป็นต้องรู้จักไหม และรู้ว่าเบาใจได้จริงหรือ เดี๋ยวเราเล่าให้ฟัง
สำหรับมาตรฐานความปลอดภัย NCAP (New Car Assessment Program) เป็นมาตรฐานที่ใช้ทดสอบความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ที่ขายในตลาดภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งมีหลากหลายโปรแกรมอย่างมาก ที่เราคุ้น ๆ หูกันก็จำพวก ภูมิภาคยุโรปที่ใช้มาตรฐาน EURO NCAP หรือภูมิภาคออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ใช้มาตรฐาน AUSTRALASIAN NCAP หรือบ้านเราภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซียและประเทศไทย ที่ใช้มาตรฐาน ASEAN NCAP เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2011 ด้วยเช่นกัน
การทดสอบ NCAP
แล้วการทดสอบ NCAP มีเกณฑ์อะไรบ้าง โดยการทดสอบชนจาก NCAP จะทำงานร่วมกับหุ่นจำลองรูปร่างคล้ายมนุษย์ (Crash Test Dummy) แทนที่ผู้โดยสารผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อทดสอบการป้องการเมื่อเกิดการชน แบ่งเป็น
- การปกป้องผู้โดยสารผู้ใหญ่หรือ AOP (Adult Occupant Protection) สัดส่วน 40%
- การปกป้องผู้โดยสารเด็ก หรือ COP (Child Occupant Protection) สัดส่วน 20%
- การปกป้องผู้เดินถนน (Vulnerable Road Users Protection) สัดส่วน 20%
- ระบบความปลอดภัยขั้นสูง (Advanced Safety Assistance) สัดส่วน 20%
โดยวิธีการทดสอบของทาง NCAP จะมีทั้งรูปแบบสุ่มซื้อรถตามโชว์รูมมาใช้ในการทดสอบ รวมถึงผู้ผลิตรถบางแบรนด์สนับสนุนรถที่จะเปิดตัวใหม่ในตลาดมาใช้ทดสอบ (แต่ NCAP ยังคงสุ่มรหัสตัวถังอยู่ดี) เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นก่อนขายจริงหรือระหว่างการขายนั่นเอง
ผลการทดสอบ
คะแนนที่ได้จากการทดสอบของมาตรฐาน NCAP จะแบ่งเป็น 5 ระดับ ตามประเภทดาวที่ได้รับ ได้แก่
- คะแนน ⭐⭐ หมายถึง รถยนต์มีความปลอดภัยต่ำ
- คะแนน ⭐⭐⭐ หมายถึง รถยนต์มีความปลอดภัยปานกลาง
- คะแนน ⭐⭐⭐⭐ หมายถึง รถยนต์มีความปลอดภัยดี
- คะแนน ⭐⭐⭐⭐⭐ หมายถึง รถยนต์มีความปลอดภัยสูง
คะแนนที่ได้อ้างอิงมาจากการป้องกันการชนของตัวรถ รวมถึงอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการชน ที่แทนด้วยระดับสี (เขียวคือปลอดภัย เหลืองคือดี ส้มคือพอใช้ น้ำตาลคือต่ำ แดงคือต่ำมาก) ทั้งนี้ รถยนต์ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยระดับ 4 ดาวขึ้นไปจะต้องผ่านการทดสอบชนทางด้านข้างมาแล้ว ซึ่งถือว่าเพียงพอสำหรับความปลอดภัยพื้นฐานในรถยนต์
ตัวอย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านมาตรฐาน EURO NCAP ระดับ 5 ดาว ได้แก่ Porsche Macan, Volvo EX30, Deepal S07, Leapmotor C10, XPENG G6, Zeekr X, BYD Seal, , BYD Dolphin, BYD Atto 3, ORA Good Cat, MG4 และ MG ZS EV
ตัวอย่างรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐาน ASEAN NCAP ระดับ 5 ดาว ได้แก่ OMODA 5 (2024), Toyota Yaris ATIV (2023), Honda Accord (2024), Honda CR-V (2023), Mitsubishi Triton (2023) และ Nissan Kicks (2020)
ส่วนที่ว่าทำไมรถ EV ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย NCAP เป็นพิเศษ นั่นก็เพราะ รถ EV มาพร้อมกับแบตเตอรี่ ที่มีมูลค่าเกินครึ่งของราคารถ แม้ว่าตัวรถจะผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารระดับดีแค่ไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวแบตเตอรี่ด้วยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน หรือหากการซื้อรถใหม่ครั้งต่อไปจะคำนึงถึงปัจจัยเรื่อง NCAP เข้ามาด้วยก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว