หากพูดถึง Ferrari หลายคนนึกถึงรถสปอร์ตสีแดง ตัดกับโลโก้รูปม้าสีเหลือง Ferrari เป็นรถในฝันที่คนรักรถทั่วโลกต่างหมายปอง ไม่ใช่แค่รูปทรงสปอร์ตเส้นสายโฉบเฉี่ยว หรือเสียงของเครื่องยนต์ V12 ที่ทำให้ต้องหันมองตามเวลาขับผ่าน แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวที่ทำให้สีแดงฉาบไปทั่วหน้าประวัติศาสตร์รถยนต์ ที่ใครเห็นสีแดงเป็นต้องนึกถึง Ferrari เท่านั้น
Ferrari is Red
เอ็นโซ เฟอร์รารี่ (Enzo Ferrari) ผู้ก่อตั้งรถสปอร์ตม้าลำพองสัญชาติอิตาลี เขาเกิดเมื่อปี 1898 เอ็นโซเติบโตมาในฐานะวิศวกรรถยนต์ให้กับทีม Alfa Romeo ที่คอยซ่อมเครื่องยนต์ ทดสอบรถ รวมถึงลงแข่งในสนามด้วย เรียกได้ว่าเขาถูกปลูกฝังจิตวิญญาณนักแข่งมาตั้งแต่เด็ก
แบรนด์รถ Ferrari กำเนิดขึ้นให้หลังในปี 1939 ที่เมืองโมเดนา ตอนบนของประเทศอิตาลี Ferrari สร้างภาพจำต่อแฟน ๆ ด้วยรถ ‘สีแดง’ ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหน เห็นสีแดงก็ต้องนึกถึงเฟอร์รารี่ สีแดงเป็นภาพแทนของความเร็ว ความร้อนแรง ความมุ่งมั่น และความปรารถนา ทำให้เมื่อมาอยู่บนรถสปอร์ตคันงาม กลับยิ่งกระตุ้นความหลงใหล อยากเป็นเจ้าของและลองสัมผัสความเร็วดูสักครั้ง แต่รู้ไหมว่า กว่าที่เฟอร์รารี่จะเริ่มใช้สีแดงบนรถของตัวเองก็ล่วงเลยมาถึงทศวรรษที่ 50s หลังจากผลิตมานานหลายปีแล้วก็ตาม
Formula 1
สีแดง เริ่มเป็นที่รู้จักพร้อม ๆ กับการแข่งขันรถสูตร 1 หรือฟอร์มูลาวัน เป็นการแข่งขันรถและหนึ่งในกีฬาที่มีมูลค่า (ความเสียหาย) สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังใช้เป็นสนามทดสอบและชี้วัดสมรรถนะของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการแข่งขันรถ 24 ชั่วโมงหรือที่รู้จักกันในนาม Le Mans
สำหรับ Formula 1 หรือ F1 มีที่มาจากรายการสำคัญในอดีตอย่าง World Manufacturers’ Championship (ปี 1925–1930) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นรายการ European Drivers’ Championship (ปี 1931–1939) และกลายมาเป็น F1 อย่างเป็นทางการในปี 1950 จุดเริ่มต้นที่สนาม Silverstone Circuit
Ferrari สร้างชื่อในฐานะตัวแทนทีม Scuderia Ferrari หนึ่งในทีมแข่งรถเก่าแก่ที่สุดและได้รับชัยชนะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ Formula 1 ด้วยผลงานคว้าแชมป์นักขับสูงสุด 15 สมัย และแชมป์ผู้ผลิตมากกว่า 16 สมัย โดยเฉพาะการมาถึงของมิชาเอล ชูมัคเกอร์ (Michael Schumacher) ชายผู้เป็นแชมป์โลกรถสูตรหนึ่งติดต่อกัน 7 สมัยกับ Scuderia Ferrari เทียบเท่าลูวิส แฮมิลตัน (Lewis Hamilton) จาก Mercedes-AMG PETRONAS
Ferrari ได้แชมป์โลกนักขับครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007 รวมถึงแชมป์โลกผู้ผลิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2008 ปัจจุบันถือว่า Ferrari ห่างหายจากการสัมผัสถ้วยแชมป์ไปนานกว่า 17 ปีเลยทีเดียว ซึ่งต้องมาดูกันต่อไปว่า หลังจาก Ferrari ไล่ล่านักขับเจ้าของสถิติโลก 7 สมัยอย่างแฮมิลตัน มาร่วมทีม Scuderia Ferrari ในปี 2025 จะสามารถเก็บเกี่ยวความสำเร็จที่หายไปนานได้หรือไม่ ถึงแม้จะไร้ถ้วยแชมป์นาน 10 กว่าปี แต่ก็ปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของทีม Scuderia Ferrari และเหล่า Tifosi (ติโฟซี่) บรรดากองเชียร์ของทีมม้าลำพอง ไปเสียมิได้
Less is More
สิ่งที่ทำให้ Ferrari ประสบความสำเร็จอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความจำกัด เพราะรถเฟอร์รารี่ที่มีขายในตลาดมีปริมาณน้อยกว่าความต้องการของคนทั่วโลก ตามกลไกการตลาด เมื่อมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน ทำให้รถสปอร์ตสีแดงนั้นขายเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เนื่องจากรถเฟอร์รารี่ทุกคันล้วนประกอบด้วยมือ ใช้ช่างเครื่องยนต์ 1 คน ต่อการประกอบรถ 1 คัน ปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ
Ferrari ผลิตและขายรถยนต์ได้เพียงปีละประมาณ 10,000 คัน ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ยิ่งสร้างความเย้ายวนใจให้แก่คนรักรถที่อยากเป็นเจ้าของม้าลำพองสีแดงมากขึ้น สอดรับกับแนวทางของแบรนด์ว่า ต้องการขายรถยนต์ให้น้อยกว่าความต้องการของตลาดเสมอ ทำให้ Ferrari สามารถทุ่มเทให้กับคุณภาพและสมรรถนะของตัวรถและการทำกำไรจากรถต่อคัน มากกว่าการผลิตออกมาจนล้นตลาด
ตัวอย่างการผลิตที่จำกัดและสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการอุตสาหกรรมรถยนต์มากที่สุดคือ Ferrari 250 GTO ที่มีจำนวนจำกัดเพียง 36 คันทั่วโลก และยังคงเป็นหนึ่งในรุ่นที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในตลาดรถยนต์ อีกทั้งเป็นรุ่นที่ขายได้ราคาสูงที่สุดของ Ferrari ในเวลานี้ด้วย จากการประมูลแบบไม่เป็นทางการของ Ferrari 250 GTO ปี 1963 (รหัสตัวถัง 4153GT) เครื่องยนต์ V12 กำลัง 296 แรงม้า ปิดไปที่ราคา 70 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 2,400 ล้านบาท) จากราคาขายในท้องตลาดเริ่มต้นแค่ 18,000 เหรียญฯ เท่านั้น คิดดูว่าราคาบวกไปกี่เท่า
Ferrari ใช้วิธีการปลุกปั้นรถสปอร์ตของตัวเองให้มีสมรรถนะสูงสุด พร้อม ๆ กับคุณภาพประดุจงานฝีมือ แม้ว่าจะสามารถผลิตรถได้ปีละ 10,000 กว่าคัน แต่ Ferrari ยังสามารถทำกำไรได้มากกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว คิดเป็นอัตราส่วนกำไรมากกว่า 20% ในปี 2023 ซึ่งถือว่ามากที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยกัน ซึ่งจะแตกต่างจากแนวคิดการผลิตรถยนต์รูปแบบแมสโปรดักต์ชันอย่างพวก Toyota หรือ Tesla ที่เน้นการผลิตรถในราคาจับต้องได้ และขายให้ได้จำนวนมาก ๆ แต่ทำกำไรในอัตราส่วนแค่ระดับ 10% (ไม่รวมมูลค่าบริษัทจากตลาดหุ้น) ของการดำเนินงานเท่านั้น
นอกจากนี้ Ferrari ยังสามารถหารายได้ทางอื่นนอกจากการทำรถขาย ที่เป็นรายได้หลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% แล้ว ยังมีรายได้จากสปอนเซอร์และขายสินค้าเมอร์ชานไดส์ที่นำโลโก้ Ferrari ไปใส่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งกระเป๋า, เสื้อผ้า, รองเท้า และน้ำหอม ยกระดับมูลค้าสินค้ามากขึ้นตามมูลค่าแบรนด์ มีสัดส่วนประมาณ 10% รวมถึงรายได้จากการผลิตเครื่องยนต์ อาทิ เครื่องยนต์สำหรับรถแข่ง F1 ให้แก่ทีม HAAS และ Kick Sauber สัดส่วนประมาณ 2% และรายได้อื่น ๆ อีกประมาณ 3%
Limited value
Ferrari ยังอาศัยกลยุทธ์ในการเป็นเจ้าของรถสปอร์ตให้ยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรุ่น Limited Edition ต่าง ๆ กล่าวคือ คุณต้องสร้างโปรไฟล์ที่ดี ที่เหมาะจะเป็นเจ้าของรถม้าลำพองก่อน จนเข้าตาและได้รับ ‘รับเชิญ’ จึงจะมีสิทธิในการซื้อรถคันดังกล่าวได้ รวมถึงหากต้องการซื้อรถรุ่น Limited Edition สักคัน แค่มีเงินถึงอาจยังไม่พอ เพราะ Ferrari เรียกร้องมากกว่านั้น
คุณอาจจำเป็นต้องมีรถ Ferrari ก่อน (มากกว่า 1 คัน) จึงจะสามารถมีสิทธิเป็นเจ้าของรถเฟอร์รารี่รุ่น Limited ได้นั่นเอง รวมถึงหากเจ้าของรถมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์แบรนด์ในทางไม่ดีก็สามารถถูกถอดถอนสิทธิในการเป็นเจ้าของรถได้เช่นกัน ซึ่งจะถูกแขวนชื่อไว้ใน Ferrari Blacklist ยกตัวอย่างกรณีของ จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ที่ดันไปเปลี่ยนสีแดงของรถเฟอร์รารี่ไปเป็นสีตามภาพที่เห็น ทำให้เจ้าตัวถูกริบสิทธิที่จะครอบครองรถสปอร์ตม้าลำพองออกไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ Ferrari ยังมีโปรแกรมเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับเจ้าของรถ Ferrari ต่าง ๆ ทั้งโปรแกรมการแข่งรถในสนามแข่ง การเข้าชม F1 ในที่นั่งพิเศษ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับสาวกม้าลำพองเท่านั้น ยิ่งกระตุ้นให้คนอยากเป็นครอบครัวเดียวกับ Ferrari มากขึ้นตามไปด้วย แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Ferrari จะเปิดรับคนในครอบครัวใหม่ เพราะยอดขาย 3 ใน 4 ของเฟอร์รารี่ล้วนมาจากเจ้าของเดิมทั้งนั้น
Ferrari ไม่ได้แต่ขายรถจนทำกำไรได้มหาศาลเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วโลก ผ่านการมีความฝัน ตั้งเป้าหมายพร้อมความมุ่งมั่นที่จะตามเดินรอยตามฝันจนประสบความสำเร็จ และได้ผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าของรถสีแดงคันโปรดสักครั้งในชีวิต แค่นี้ก็จุดประกายให้ใครหลายคนได้มากมายแล้ว จริงไหมล่ะครับ