ระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบหรือ FSD (Full Self-Driving) เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2020 ซึ่งติดตั้งมาพร้อมกับรถ Tesla ทุกรุ่น โดยสามารถเปิดระบบนี้เพิ่มเติมจากรถ Tesla ทั่วไปได้ 2 ระดับ คือ EAP (Enhance Auto Pilot) ที่เพิ่มความสามารถของระบบ Autopilot ในการนำทาง เช่น เปลี่ยนเลนอัตโนมัติ จอดรถอัตโนมัติ หรือเรียกรถ Smart Summon มาที่ผู้ขับขี่ผ่านแอปฯ โดยจ่ายเงินเพิ่ม 122,000 บาท

ส่วนระบบ FSD เป็นระบบควบคุมรถอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เพิ่มออปชันตามสัญญาณไฟจราจรและป้ายหยุด พร้อมควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ที่ 244,000 บาท ทั้งสองระบบนี้ยังเป็นระบบขับขี่อัตโนมัติ Level 2 อยู่ คือต้องมีผู้ขับขี่นั่งอยู่ในรถด้วย ทั้งนี้ระบบ FSD ในประเทศไทยยังไม่สามารถทำงานได้ 100% หรือเทียบเท่ากับการใช้งานบนท้องถนนที่อเมริกา และหากไทยใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นกว่านี้อาจมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาของ FSD

ก่อนหน้านี้เราเห็นข่าว Tesla เรียกคืน (recall) รถหลักแสนคันจากปัญหาเรื่องระบบ FSD ที่ใช้กับรถรุ่นต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Model S, Model X, Model 3 และ Model Y แต่ล่าสุดได้มีการเปิดเผยฟุตเทจวิดีโอและข้อมูลที่ Wall Street Journal รวบรวมเคสอุบัติเหตุจากระบบ Autopilot ของ Tesla กว่า 200 กรณี แสดงให้เห็นความกังวลเกี่ยวกับการทำงานของระบบขับขี่อัตโนมัติที่พึ่งพากล้องของ Tesla อาจทำให้ประชาชนบนท้องถนนตกอยู่ในความเสี่ยง

ข้อมูลนี้ของ Tesla ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ กล่าวถึงความผิดปกติของการทำงานระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบหรือ FSD จนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า 222 ครั้ง จากเคสทั้งหมด 1,000 เคส แบ่งเป็น 44 เคสมาจากการที่รถ Tesla เปลี่ยนเลนกะทันหันระหว่างใช้ระบบ FSD จนไปชนกับรถคันอื่น และ 31 เคส มาจากการที่รถ Tesla ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน เมื่อเจอสิ่งกีดขวางด้านหน้า

จากการวิเคราะห์พบว่า เมื่อ Tesla เปลี่ยนมาใช้กล้องจับภาพหลายตัวแทนที่ Lidar หรือเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุที่มีต้นทุนสูง แต่กลายเป็นว่าเมื่อกล้องจับภาพวัตถุด้านหน้าได้ แต่ดันไม่รู้ว่าสิ่งนั้น (รถบรรทุกพลิกคว่ำอยู่ด้านหน้า ไม่เห็นตำแหน่งของไฟหน้าหรือไฟท้าย) คืออะไร ในขณะที่ผู้ผลิตบางค่ายเลือกใช้เทคโนโลยี Lidar ไม่น้อยกว่า 1 ตัว ช่วยตรวจจับวัตถุแทนนี่จะใช้กล้องจับภาพ (จากภาพด้านบน) แม้จะยอมให้ต้นทุนสูงขึ้นก็ตาม

FSD ในปัจจุบัน

หากใครจำกันได้ เราได้มีโอกาสไปอัปเดตข้อมูลกับ Tesla ประเทศไทยที่ Tesla Center แถมมีโอกาสได้จับแผงวงจรที่ใช้ควบคุมระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ FSD โดยเฉพาะ ที่ช่วยบังคับเลี้ยว เร่งความเร็ว และเบรกได้โดยอัตโนมัติภายในช่องจราจร (ประเทศไทยยังไม่สามารถทำงานระบบ FSD ได้ 100% และต้องมีผู้ขับขี่นั่งประจำที่อยู่ด้วย) ซึ่งตัวบอร์ดมีชิปผลิตโดย TSMC ที่ Tesla ออกแบบเองจำนวน 2 ตัว อยู่บนแผงวงจรด้วย

แผงวงจร HW 4.0

ระบบ FSD ในรุ่น HW 4.0 ใหม่ของ Tesla ปรับชิปให้เร็วขึ้น 4-5 เท่า ทำงานภายใต้ระบบที่เรียกว่า Tesla Vision โครงข่ายประสาทเทียมส่วนลึก ที่ทำงานร่วมกันหลายส่วน ตั้งแต่การเปลี่ยนมาใช้ระบบกล้องจำนวน 8 ตัว ปรับความละเอียดสูงสุด 5 ล้านพิกเซล (HW 3.0 ความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล) และสามารถจับระยะวัตถุได้ไกลขึ้นสูงสุด 424 เมตร แทนที่ Lidar ที่เคยใส่มาในรุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งจุดเด่นของซอฟต์แวร์ Tesla คือรองรับการอัปเดตแบบ over-the-air ได้ตลอดเวลา ทำให้เทคโนโลยีสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ

FSD ในอนาคต

ในอนาคตระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ FSD จะทำงานได้ฉลาดขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา พร้อมการอัปเกรด HW 4.0 ไปเป็น HW 5.0 ที่พัฒนาจากชิป Samsung Exynos 7 nm ไปเป็น 4 nm ซึ่งอาจใช้ TSMC จากไต้หวันเป็นผู้ผลิต หรือให้ Samsung ทำเองก็เป็นได้

สำหรับ HW 5.0 เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2023 ใช้เวลาพัฒนากว่า 3 ปี จนเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งการใช้ AI 5 เข้ามายกระดับการประมวลผลมากขึ้น แรงขึ้นกว่าชิปตัวเดิมเกือบ 10 เท่า รวมถึงการใช้พลังงานที่สูงขึ้นตามไปด้วย (อัตรากินไฟของ HW 5.0 สูงสุด 800W ขณะที่ HW 4.0 อยู่ระดับ 300W)

สุดท้ายแล้วระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบจะยิ่งฉลาดขึ้น เมื่อเจอสถานการณ์หรือความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งหาก Tesla ไม่มั่นใจในระบบ คงไม่กล้าเปิดตัวรถขับขี่อัตโนมัติ Cybercab หรือแท็กซี่ไร้คนขับ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และน่าจะเป็นบททดสอบใหม่ให้แก่ Tesla อีกหน รวมถึงการใช้งานบนถนนในประเทศไทย ที่ทำให้ผู้ใช้ Tesla ต้องขับขี่อย่างระมัดระวังมากขึ้น ตลอดจนให้เวลาที่ระบบ FSD พิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้