บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาประจำปีครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “Everlasting Battery แบตเตอรี่: ปฏิวัติพลังงานอนาคต” เพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงานซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเชื่อมต่อรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่จะช่วยตอบโจทย์เชื่อมรอยต่อยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนของกลุ่มบริษัทฯ



นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ บรรยายหัวข้อ “แบตเตอรี่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” พร้อมได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการพลังงานและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ บรรยายและเสวนาถึงแนวโน้มการใช้และนโยบายเกี่ยวกับแบตเตอรี่ในระดับโลกและประเทศไทยเทรนด์แบตเตอรี่ของโลก ฯลฯ


นอกจากนี้บางจากร่วมลงทุนใน Startup ด้านพลังงานอย่าง Enevate®️ ที่ประกาศทำเทคโนโลยีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเต็ม 100% ใช้เวลา 5 นาที ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ไทยในจำนวนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากบางจากกับโพรเจกต์โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม เหตุเพราะแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion สามารถ Recycle ได้ 100% ทุกชิ้นส่วน ฉะนั้นการสร้างโรงงานแยกชิ้นส่วนแบตเตอรี่ใช้แล้ว จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากและมีมูลค่ามหาศาล
ด้านงานสัมมนาบนเวที หนุ่ย-พงศ์สุข เล่าว่า “ผมฟังแล้วรู้สึกตาสว่างที่สุดในงานคือช่วงที่อธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ขึ้นบรรยายแบบไม่ใช้สไลด์ ซึ่งท่านได้กล่าวขอโทษบนเวทีว่าได้ใช้ลูกน้องทำแล้วข้อมูลเก่าเกินไป ขอพูดเล่าไปสด ๆ เลย ผมจับอาการเอ่อ ๆ อ่า ๆ ของท่าน บวกคำที่ท่านพูดย้ำท้ายว่า “ผมมีอะไรอยากจะพูดอีกเยอะมาก” ทำให้ผม (คนเดียวนะ) เข้าใจไปเองในทันทีว่า รัฐบาลเกรงใจผู้ผลิตรถยนต์สันดาปรายใหญ่ในประเทศไทย และกลัวเขาจะย้ายฐานการผลิตออกไปประเทศอื่น ท่านอธิบดีระบุว่าจะส่งผลกระทบกับ SMEs และ Suppliers จำนวนมาก ประเทศไทยเลยเข้าสู่ยุคสมัยพลังงานไฟฟ้าช้า เพราะความกังวลตรงนี้ พลังงานสะอาดเลยยังเข้าไม่ถึงสังคม (จมูกและปอดของชาวไทยก็ต้องทนกันต่อไป) ผมได้มีโอกาสสอบถาม CEO คุณชัยวัฒน์นอกรอบว่า ในเชิงธุรกิจคิดว่าสัดส่วนการขายน้ำมันกับรายได้ใหม่จากสินค้าส่งเสริมสังคมรถไฟฟ้าจะมาบรรจบกันได้ ณ ปีไหน … คุณชัยวัฒน์สนใจคำถามนี้และตอบอย่างไตร่ตรองว่าปี “2025” … ก็ถือว่าไม่นานเกินรอครับ”
นอกจากนี้ หนุ่ย-พงศ์สุข ยังได้เยี่ยมบูธ Winnonie บริษัท Start Up ที่อยู่ภายใต้การดูแลของบางจาก เล่าว่า “สำหรับ “Winnonie” แพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อวินมอเตอร์ไซค์ จากปัญหาเดิมคือ “ชีวิตพี่วินมีแต่หนี้” พวกเขาทำกินเท่าไหร่ก็จ่ายหนี้รถ จ่ายค่าน้ำมัน จ่ายค่าซ่อมหมด! (ยังไม่รวมหนี้อื่น ๆ นะ) ฉะนั้น Winnonie®️ (วิน-โน-หนี้) คือให้เปลี่ยนวิธีคิดจากการเป็นเจ้าของรถแล้วเกิดภาระให้การเป็น “การเช่า” สร้างสรรค์วงจรใหม่นี้โดย 5 พนักงานรุ่นใหม่ของบางจาก ที่ทำจากเวลางานปกติ แล้วคิดโมเดลการเช่ากับพี่วิน ฯ เดือนละ 4,500 บาท แต่ถ้าทำสัญญา 6 เดือนขึ้นไป จะเหลือเดือนละ 3,000 บาท ข้อดีคือขี่ให้ตายยังไงก็ไม่ต้องเติมน้ำมัน …ขับรับเงินไปเรื่อยจนแบตใกล้หมด แล้วนำแบตเตอรี่มาสลับที่ตู้ชาร์จฟรี ไม่ต้องจ่ายอะไร…พอรถเสียก็ไม่ต้องซ่อม หากรถเริ่มเก่า ก็ไปเปลี่ยนคันใหม่”
“รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Winnonie®️ บางจากได้ร่วมมือกับกรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมเป็นที่เรียบร้อย สามารถออกป้ายทะเบียนเหลือง สำหรับขนส่งสาธารณะได้และกำลังจะออกมา 30 คันแรกภายในสิ้นปีนี้ ผมสอบถามเรื่องประกันภัย เขาบอกว่า “ทำเพิ่มได้” แต่ผมมองว่า “ราคาเช่า” ควรรวมค่าเบี้ยประกันภัยไปเลย จะได้โปรโมตให้พี่วินเขาคิดได้ง่าย ๆ ว่า “ขับพังไม่ต้องซ่อม ขับชนไม่ต้องจ่าย” ให้ง่ายต่อความคิดพวกเขา ไม่งั้นพวกเขาก็จะประมาทไม่ทำประกัน พอขับชนก็ยืนงงอีก ปัญหามันไม่จบ จะยกระดับคุณภาพชีวิตต้องอุดรอยรั่วทั้งหมดของปัญหาพวกเขาได้”
และยังมีการจัดแสดงต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า 100% ทั้งเทสล่า EV Bus และตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า รวมทั้ง Power Wall สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจากฯ อาคารเอ็ม ทาวเวอร์ มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมทั้งในห้องประชุมและออนไลน์ประมาณ 1,000 คน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส