นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. …
โดยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 จะปรับลดค่าภาษีประจำปีลง 80% ของอัตราที่กำหนดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ. รถยนต์ (ฉ. 14) พ.ศ. 2550 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ ตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 128,736 คัน ที่จะได้รับส่วนลด 80% และคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประจำปีรถยนต์ไฟฟ้า ปีงบประมาณ 2565-2568 ประมาณ 18,974,572 บาท
นายธนกรยังกล่าวว่า การสูญเสียรายได้ดังกล่าว เป็นเพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บได้ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้จะไม่กระทบต่อรายได้ของกรุงเทพมหานคร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะนำไปจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน
ยกเว้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า จูงใจผู้ผลิตตั้งฐานในประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการผลิตหรือประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (ประเภท Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรีในปี 2565 – 2568
สาระสำคัญของร่างฯ ดังกล่าว คือ ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับ (1) รถยนต์นั่ง (2) รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และ (3) รถยนต์กระบะ แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่จากต่างประเทศ สำหรับการนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่ และนำไปผลิตหรือประกอบเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในเขตปลอดอากร หรือ Free Zone หรือเขตประกอบการเสรี รวมเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่ม ในประเทศได้ไม่เกิน 15% ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน
รวมถึงการยกเว้นอากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ดังกล่าว ต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบ ที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียน มูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่า 40% ของราคาหน้าโรงงาน โดยผู้ขอใช้สิทธิต้องเป็นผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากร หรือในเขตประกอบการเสรี ในปี พ.ศ. 2565 – 2568 คาดว่าจะมีการสูญเสียรายได้ประมาณ 36,128 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการภายในประเทศ แต่จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในประเทศ และช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (BEV)
ที่มา : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1, สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2