โตโยต้า (Toyota) บริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฮบริด (HEV) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่เคยผลิตมา และไม่กี่ปีมานี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) เริ่มมาแรงส่งผลให้เทสลากลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก (จากราคาหุ้น) ในขณะที่โตโยต้ายังเห็นโอกาสในรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) และติดอยู่กับความสำเร็จในรถยนต์ไฮบริด
นอกจากนี้โตโยต้ายังมั่นใจในฐานลูกค้าที่สร้างมาอย่างยาวนานจึงเปรียบตัวเองเหมือน “ร้านที่มีลูกค้ามากแล้ว” ส่วนเทสลาเป็นแค่ “ร้านอาหารโปรโมตสูตร” และอ้างว่าการมุ่งเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดมลพิษมากกว่ารถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน แต่จริง ๆ โตโยต้าก็ไม่ได้ประมาท ปี 2019 ได้ประกาศร่วมทุนกับ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน
โตโยต้าได้มุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ โดยเดือนเมษายน 2021 ได้เปิดตัวแนวคิดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่รุ่นแรกในแบบ SUV คือ bZ4X แล้วต่อมาได้เปิดตัวสเปกอย่างละเอียดในตุลาคม 2021 พร้อมประกาศแผนส่งมอบกลางปี 2022 และในเดือนเดียวกันได้ประกาศทุ่มทุน 3,400 ล้านเหรียญ (113,458 ล้านบาท) ในการผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ (แบบนี้แสดงท่าทีว่าเอาจริงแล้วสินะ)
เดือนเมษายน 2022 โตโยต้าประกาศเปิดตัวรถยนต์ SUV ไฟฟ้า All-New bZ4X BEV ที่ญี่ปุ่นในวันที่ 12 พฤษภาคม พร้อมด้วยการเปิดจอง และมีแผนออกจำหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือช่วงกลางปี 2022 และในยุโรปช่วงฤดูร้อน (ประมาณไตรมาสที่ 3) แต่ต่อมาเดือนมิถุนายน โตโยต้าได้ประกาศเรียกคืนรถยนต์ EV รุ่น bZ4X ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่คืน 2,700 คัน เนื่องจากอะไหล่ล้อหลวม และมีความเสี่ยงที่ล้อจะหลุดขณะขับรถ เช่นเดียวกับซูบารุได้เรียกคืนรถยนต์รุ่นซอลเทอร์ราที่ร่วมพัฒนามาด้วยกัน (ดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์เข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่ไม่ค่อยดีนัก)
นิสสัน (Nissan) จัดว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่รายแรกที่กล้าตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ ได้ปล่อย Nissan Leaf รถยนต์ 5 ประตูแบบแฮตช์แบ็กที่สร้างยอดขายถล่มทลายสูงสุดตลอดกาลจนถึงธันวาคม 2019 (แต่ต่อมาต้องเสียแชมป์ให้กับ Tesla Model 3) ซึ่งเมื่อเทียบกับโตโยต้าที่ยังห่วงกับความสำเร็จเดิมในรถยนต์ไฮบริดและรักในเซลล์เชื้อเพลิง จึงดูเหมือนว่าโตโยต้าจะเข้าสู่ตลาดช้าเกินไป
สหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยให้เครดิตคืนภาษี 7,500 เหรียญ (272,925 บาท) แต่ในเดือนสิงหาคม สหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายลดเงินเฟ้อที่สั่งห้ามการคืนภาษีให้กับรถยนต์ที่ไม่ได้ประกอบ / ใช้แร่สำหรับแบตเตอรี่และส่วนประกอบแบตเตอรี่ในอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ 70% ของรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิ์รับเครดิตคืนภาษี ซึ่ง Chevy Bolt 2023 ได้หั่นราคาลงจาก 31,500 เหรียญ (1,146,285 บาท) เหลือ 25,600 เหรียญ (931,584 บาท) และ วินฟาสท์ประกาศจะให้ส่วนลด 7,500 เหรียญ แก่ลูกค้าที่จองรถแล้วคืนภาษีไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ค่ายรถยนต์ที่จะบุกตลาดสหรัฐๆ จึงต้องตั้งโรงงานประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ ล่าสุด 31 สิงหาคม โตโยต้าได้ประกาศเพิ่มการลงทุน 2,500 ล้านเหรียญ (91,266 ล้านบาท) สำหรับสร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ในนอร์ทแคโรไลนา รวมทั้งหมดเป็น 3,800 ล้านเหรียญ (138,724 ล้านบาท) ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ได้เปิดแผนการลงทุนสร้างโรงงานแห่งนี้โดยเริ่มต้นไว้ที่ 1,290 ล้านเหรียญ (47,097 ล้านบาท) และสัปดาห์ที่แล้วโตโยต้าเผยว่าได้ลงทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั้งในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นรวมกันมูลค่า 5,600 ล้านเหรียญ (203,786 ล้านบาท)
เดือนกรกฎาคม VinFast ได้ประกาศเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในนอร์ทแคโรไลนา และเดือนที่แล้ว ฮอนด้าและแอลจีเอเนอร์จีโซลูชันได้ร่วมลงทุน 4,400 ล้านเหรียญ (160,117 ล้านบาท) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่ในสหรัฐฯ ทั้งนี้พานาโซนิกกำลังเพิ่มการผลิตแบตเตอรี่ให้กับเทสลาที่โรงงานในเนวาดาด้วยเช่นกัน
สรุปง่าย ๆ ว่า การทุ่มทุนในการสร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นของโตโยต้าเป็นเหมือนสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกกำลังเบนเข็มทิศเข้าสู่การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ และอาจจะถึงคราวหมดยุคไฮบริดแล้วก็ได้
ที่มา : nikkei
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส