อย่างที่ทราบกันดีอุปสรรคใหญ่ของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมอเตอร์และแบตเตอรี่ เรื่องแบตเราคุ้นเคยกับธาตุลิเธียม (Li-Lithium) กันดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ไม่มีธาตุหายากเป็นส่วนผสม แต่มักจะไปตกอยู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ส่วนมากจะใช้ธาตุนีโอไดเมียม (Nd-Neodymium), ดิสโพรเซียม (Dy-Dysprosium) และเทอเบียม (Tb-Terbium) เป็นหลัก ที่นับวันยิ่งหายากขึ้นไปทุกที

ธาตุนีโอไดเมียม เป็นธาตุที่มีคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กสูง ใช้ในการผลิตลำโพง, ฮาร์ดไดรฟ์และมอเตอร์ไฟฟ้า ส่วนธาตุดิสโพรเซียมและเทอเบียมมักใช้เป็นสารเติมแต่งในแม่เหล็กนีโอไดเมียม ทั้งนี้ทาง Tesla ตั้งเป้าที่จะลดการใช้ธาตุหายากเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของมอเตอร์ไฟฟ้า โดยประกาศเป้าหมายในงาน Investor Day เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่เดิม Tesla ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าชนิดเหนี่ยวนำ AC ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นแม่เหล็กถาวร DC (PMDC) ในรุ่น Model 3 ทำให้สามารถลดการใช้ธาตุหายากลงได้กว่า 25% และภายในงาน Investor Day เป็นอีกครั้งที่ Tesla พยายามนำเสนอมอเตอร์แม่เหล็กถาวรใหม่ ที่ปราศจากการใช้ธาตุหายากในการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า


อย่างไรก็ตามทาง Tesla ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดชัดเจนว่าจะหันไปพึ่งพาธาตุตัวไหนในการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามหาส่วนประกอบที่สามารถทดแทนนีโอไดเมียมได้ ถึงแม้ในวันนี้ Tesla จะยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ปราศจากธาตุหายากกับรถรุ่นใด แต่ก็แสดงให้เห็นความพยายามหาโซลูชันที่ดีกว่าเพื่ออนาคตแห่งยานยนต์ไฟฟ้าอันใกล้นี้