วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ผู้บริหารของโตโยต้า (Toyota) เผยมีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงแบบยุคใหม่ (Regenerative fuel cell technology) สำหรับขับเคลื่อนรถยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่มีมนุษย์ควบคุม ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีโอกาสใช้น้ำจากน้ำแข็งบนดวงจันทร์มาเป็นแหล่งพลังงาน
ประเทศญี่ปุ่นภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้เข้าร่วมในโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ของนาซา ซึ่งมีแผนที่จะส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศที่โคจรอยู่รอบดวงจันทร์ หรือเรียกว่า Lunar Gateway (หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เกตเวย์) ในกรอบเวลาไม่เกินปี 2030
โตโยต้าได้ร่วมมือกับจาซา (JAXA : องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น) ตั้งแต่ปี 2019 เพื่อพัฒนารถยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่มีมนุษย์ควบคุม หรือเรียกว่า “Lunar Cruiser” ซึ่งคาดว่าจะถูกส่งขึ้นไปบนดวงจันทร์ในปี 2029
รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ต่างกันตรงที่จะดึงพลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง โดยการแปลงพลังงานจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจนออกมาเป็นไฟฟ้า
โตโยต้ามีแผนจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์และน้ำเพื่อผลิตไฮโดรเจนและออกซิเจนผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิสในช่วงเวลากลางวัน และเซลล์เชื้อเพลิงจะนำไฮโดรเจนและออกซิเจนมาผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ในตอนกลางคืน
เนื่องจากดวงจันทร์ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองนานถึง 28 วันตามเวลาบนโลก จึงทำให้พื้นผิวของดวงจันทร์ไม่ได้สัมผัสกับแสงอาทิตย์หรือเป็นช่วงกลางคืนนานถึง 14 วันตามเวลาบนโลก ดังนั้นเซลล์เชื้อเพลิงจะสามารถช่วยให้รถยนต์สำรวจขับเคลื่อนในช่วงกลางคืนที่ยาวนานและอากาศที่เย็นจัดได้
โตโยต้าตั้งเป้าว่ารถยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่มีมนุษย์ควบคุมจะพร้อมใช้งานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2024 ซึ่งคาดว่ารถยนต์สำรวจจะสามารถบรรทุกนักบินอวกาศ 2 คน เดินทางบนดวงจันทร์ได้นานถึง 45 วันต่อปีและจะใช้งานได้นาน 10 ปี
นอกจากนี้โตโยต้าคิดว่าหากจะใช้งานรถยนต์สำรวจดวงจันทร์อย่างต่อเนื่องให้นานกว่า 10 ปี ก็จะต้องมีบริษัทหรือการจัดหาแหล่งน้ำ ซึ่งคิดว่าช่วงแรกจะต้องส่งน้ำสะอาดไปด้วย และไม่ได้คาดหวังว่าจะสามารถผลิตน้ำจากน้ำแข็งบนดวงจันทร์หรือขุดขึ้นมาได้เอง แต่น่าจะพึ่งพาบริษัทอื่นหรือมีการพัฒนาถึงเรื่องนี้ในอนาคต
ที่มา : reuters.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส