แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะเบ่งบาน มีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดหลากหลายเจ้า โดยเฉพาะแบรนด์สัญชาติจีน แต่เพื่อนบ้านบางประเทศ รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ทีมแบไต๋มีโอกาสได้นั่งสัมภาษณ์หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาดและผลักดัน Ecosystem พลังงานไฟฟ้าให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริงที่ประเทศลาว

สุลิโย วงดาลา CEO ของบริษัท LOCA

เขาคือ คุณสุลิโย วงดาลา CEO ของบริษัท LOCA ที่เป็นทั้งแอปพลิเคชันเรียกรถ ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึง QR สแกนจ่ายเงิน ครอบคลุม Ecosystem จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลักดันให้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงในประเทศลาว แต่ก่อนที่จะรู้จักคุณสุลิโยในฐานะ CEO ของ LOCA คนลาวกลับคุ้นเคยคุณสุลิโย ในฐานะผู้พัฒนาแป้นพิมพ์ภาษาลาวบนสมาร์ตโฟน ในวันที่ iPhone ยังไม่รองรับ

จากหนุ่มไอทีสู่คีย์บอร์ดภาษาลาว

คุณสุลิโย เล่าว่าตนเองสนใจด้านไอทีมาตั้งแต่เด็ก เขาชอบเขียนบล็อกผ่านเว็บไซต์ของตัวเองชื่อ souliyo.com ตั้งแต่ปี 2009 “สมัยนั้นผมเขียนโค้ดได้ ติดตามข่าวสารไอทีอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นก็มีแบไต๋ด้วย พอเข้ามหาลัยได้ย้ายไปเรียนต่อเกี่ยวกับ Electrical Engineer ที่ประเทศอเมริกา จึงยิ่งทำให้สนใจเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น”

“แต่ก่อนลาวประสบปัญหาเรื่องการคุยกันมาก เพราะแป้นพิมพ์ยังไม่รองรับภาษาลาว จนกระทั่งประมาณปี 2013 ที่ iPhone เปิดตัว iOS 8 ให้ผู้ใช้สามารถคัสตอมคีย์บอร์ดเองได้ ผมเลยลองเขียนแอปพลิเคชันจนเป็นคีย์บอร์ดภาษาลาวขึ้นมา ก่อนหน้านี้ผมเคยลองทำเล่น ๆ ในระบบ Android มาบ้าง แต่มาทำจริงจังกับระบบ iOS จนคีย์บอร์ดภาษาลาวสำเร็จ

“ตอนแรกผมกะจะทำคีย์บอร์ดภาษาลาวไว้ใช้เอง แต่บังเอิญเห็นว่าทางรัฐบาลลาวกำลังหาคนที่มาทำเรื่องนี้พอดี ก็เลยตัดสินใจเปิดให้คนโหลดใช้ฟรีในชื่อ Souliyo Keyboard เรื่องนี้สร้างอิมแพกต์ให้คนลาวเยอะมากแบบที่ผมไม่คาดคิด ปัจจุบันคีย์บอร์ดของผมมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 500,000 ครั้ง ถือว่าเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่จุดประกายให้อยากกลับมาสร้างอะไรให้กับคนลาว”

แอปพลิเคชัน Souliyo Keyboard

หลังจากนั้นคุณสุลิโยก็กลับมาที่ลาวเพื่อพัฒนาประเทศตามที่ตั้งใจไว้ เขาฟอร์มทีม Start up เล็ก ๆ ขึ้นมาทำแอปช่วยเสิร์ชโลเคชันให้กับนักท่องเที่ยว “แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่ผมจะทำอะไรสำเร็จ ครั้งนั้นผมพลาดตรงที่ทำของให้นักท่องเที่ยวใช้ แต่ดันทำเป็นภาษลาว สรุปก็เจ๊งสิครับ”

“จากนั้นผมและเพื่อนในทีมเลยเปลี่ยนมาลองทำบริษัทเอเจนซี่ด้าน Digital Marketing ช่วยสร้างแบรนดิงให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ช่วงนั้นใครเก่งโซเชียลและการตลาดนี่ถือว่ามือทอง ทำเงินได้สักพักก็เป็นอันต้องพับไป จนกระทั่งได้มาจับธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์นี่แหละครับ”

จุดเริ่มต้นพลังงานสะอาด

คุณสุลิโยเริ่มแพลนธุรกิจ LOCA ตั้งแต่ปี 2017 โดยเริ่มจากการพัฒนาแอปเรียกรถก่อน จนกระทั่งแล้วเสร็จในปี 2019 ธุรกิจนี้จึงเริ่มหมุนไปได้ หลังจากธุรกิจดำเนินไปได้สักพักพบว่าปัญหาของคนขับขี่ LOCA คือหมดเงินไปกับค่าน้ำมันกว่า 40% ของรายได้ สอดรับกับปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เลยทำให้เขาเห็นว่าทางออกของเรื่องนี้คือต้องหันไปหารถยนต์ไฟฟ้า

“ผมเริ่มจากการนำรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ BYD เข้ามาให้บริการใน LOCA ช่วงปี 2021 หลังจากทดสอบการใช้งานกว่า 3 เดือนจึงพบว่า ค่าน้ำมันผู้ขับขี่จากหลักหมื่นตกลงมาเหลือหลักพัน (ค่าน้ำมันที่ลาวอยู่ประมาณลิตรละ 1 เหรียญ)”

“ในปีแรกของ LOCA มีคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ถึง 100 คันจากผู้ขับขี่กว่า 600 คน ต่อมาก็กลายมาเป็น 230 คันจากผู้ขับขี่กว่า 800 คนในปี 2023 และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพวกเขาเห็นแล้วว่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วประหยัดขึ้นจริง”

แม้ BYD จะเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์แรกที่เข้ามาทำตลาด และมียอดขายรถมากที่สุดในประเทศลาว แต่ถ้าเจาะจงไปที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นไหนที่ขายดีที่สุดกลับเป็น Volkswagen ID4 ที่น่าตกใจคือแม้ลาวจะเริ่มต้นเทคโนโลยีช้ากว่าไทย แต่กลับมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 100 แบรนด์ เราอาจได้เห็น Zeekr ซึ่งเป็นแบรนด์จีนที่ออกแบบมาทำตลาดยุโรป หรือ Hongqi รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนระดับลักชัวรี่ ขับขี่บนท้องถนนที่ลาวก็เป็นได้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะลาวมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นแหล่งทำเงินของกลุ่มทุนจีน คนจีนเองก็ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการเดินทางสัญจรเป็นหลัก จึงทำให้คนจีนมีส่วนในการขับเคลื่อน Ecosystem พลังงานไฟฟ้าในลาวไม่น้อย ทั้งการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนหรือแบรนด์จีนที่เข้ามาทำการตลาดในประเทศลาวด้วย อย่างไรก็ตาม Ecosystem นี้ยังขาดสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ศูนย์ซ่อมเฉพาะทาง ซึ่งคนที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ

การเปลี่ยนมาขับรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เรื่องค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้โดยสารที่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากรถสันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า คนใช้บริการสนใจมากขึ้นว่าเป็นรถอะไร รวมถึงปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศลาว ซึ่งในปีแรกที่เราเริ่มทำมีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าแค่ 100 กว่าคัน แต่พอสิ้นปี 2022 กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 1400 คัน รวมถึงครึ่งปีแรกของ 2023 มีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ากว่า 800 คันแล้ว ยิ่งตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมนี้จะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

นักแก้ปัญหาสู่ผู้พัฒนา Ecosystem

ทุกธุรกิจย่อมมีอุปสรรคเสมอ คุณสุลิโยเล่าว่าตอนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า LOCA เริ่มประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายจากแผนที่ เนื่องจากรายได้ 40% กลับไปตกอยู่ที่ Google Map เขาเลยพยายามพัฒนาแผนที่สำหรับใช้งานในแอปของตัวเองขึ้นมา

ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า LOCA

เมื่อมีผู้ขับขี่ของ LOCA มากขึ้น ปัญหาต่อมาคือสถานีชาร์จกลับไม่เพียงพอ คนขับรถยนต์ไฟฟ้าไม่รู้จะไปชาร์จไฟที่ไหน เลยยังไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า LOCA จึงเริ่มพัฒนาตู้ชาร์จของตัวเอง “โชคดีของ LOCA คือผมพัฒนาเทคโนโลยีซอฟต์แวร์เอง รวมถึงเรามีโรงงานที่ OEM ชิ้นส่วนตู้ชาร์จให้ จึงช่วยลดต้นทุนการผลิต ไปจนถึงลดระยะเวลาในการซ่อมแซมได้ด้วย บางเขตมีคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เช่น เวียงจันทน์และหลวงพระบาง สามารถคืนทุนตู้ชาร์จได้ในเวลาไม่ถึงปี

ปัจจุบัน LOCA มีตู้ชาร์จทั้งหมด 14 จุด กระจายตัวตามเขตต่าง ๆ ในประเทศลาว ส่วนนครหลวงเวียงจันทน์มีตู้ชาร์จ LOCA ถึง 5 จุดด้วยกัน และกำลังจะติดตั้งเพิ่มอีก 5 จุด เรายังถามแผนในอนาคต LOCA มองว่าจะเข้ามาทำตลาดที่ไทยไหม

เครดิตภาพจาก Laotiantimes.com

“ผมมีแผนไปทำตู้ชาร์จที่ไทย แต่ไม่ใช่กับสถานีชาร์จสาธารณะ ผมมองว่าอีก 5 ปีข้างหน้าระบบขนส่งของไทย เช่น Kerry หรือ Flash จะถูกบังคับให้หันไปหาพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ลองคิดดูว่าถ้าในอนาคตยุโรปหรืออเมริกาออกกฎหมายบังคับใช้ว่าประเทศไหนที่จะค้าขายได้ต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะปลอดไอเสีย มิฉะนั้นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตคืน คิดว่าบริษัทขนส่งเหล่านี้จะยอมซื้อคาร์บอนเครดิต หรือเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากกว่ากัน”

จิ๊วซอว์ชิ้นสุดท้ายของ Ecosystem

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่จะทำให้ Ecosystem นี้ขับเคลื่อนไปได้คือ การมุ่งไปสู่อิสระทางการเงิน (Financial) เนื่องจากที่ลาวประสบปัญหาเรื่องเงินกู้ เนื่องจากธนาคารไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้คนที่อยากขับรถยนต์ไฟฟ้า เพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา ทางออกเรื่องนี้คือ LOCA อาสาเป็นคนแบกหนี้แล้วปล่อยเงินกู้ให้กับคนขับเอง

LOCA แก้ปัญหาเงินกู้ด้วยการให้คุณสุลิโยรับภาระหนี้จากธนาคาร เพื่อให้คนลาวหันมาขับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยข้อเสนอเงินดาวน์ต่ำจาก LOCA เพียง 10% ในขณะที่ธนาคารทั่วไปปล่อยเงินดาวน์รถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 40% และรถยนต์สันดาปอยู่ที่ 20% เพราะธนาคารมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่มีมูลค่าและราคาจะตกในอีก 2 – 3 ปี ซึ่งจะเห็นว่าสวนทางกลับทิศทางของโลกที่หันไปหาพลังงานสะอาดมากขึ้น

“ที่ LOCA ทำเช่นนั้นได้เป็นเพราะมี Ecosystem ที่แบกรับความเสี่ยงในกรณีลูกค้าผ่อนต่อไม่ไหวก็สามารถนำรถปล่อยเช่าหรือหาคนขับมาผ่อนต่อได้ทันที ซึ่งธนาคารไม่สามารถทำแบบนี้ได้เพราะมีระยะเวลาในการดำเนินการ แต่วิธีการนี้ทำให้ธนาคารไม่ต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดเองด้วย”

นอกจากนี้ LOCA ยังมีบริการทางด้านการเงินคือ LOCA Pay หรือ QR Code ให้นักท่องเที่ยวสามารถสแกนจ่ายเงินได้ทุกธนาคาร (LOCA คิดค่าธรรมเนียม 1.5% และค่าบริการ 5,000 กีบ) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็ม Ecosystem ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น

เป้าหมายสูงสุดของ LOCA มองไปถึงการเป็นตัวเลือกทางการเงินที่คนทั่วไปเข้ามาใช้บริการ เพื่อก้าวข้ามไปสู่ Ecosystem ใหม่ เช่น ใครที่อยากเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบบที่ไม่ต้องมาขับกับ LOCA หรือใครอยากติดโซลาร์เซลล์ที่บ้าน คุณสุลิโยมองว่า “ตอนนี้ผมมี Ecosystem ครบแล้ว ถึงแม้เค้กจะเป็นเค้กก้อนเดิม แต่เราต้องทำเค้กก้อนที่ใหญ่ขึ้น เพราะผมอยากเข้า IPO ภายในปี 2030 ดังนั้นแผน Financial ต้องเสร็จภายในปี 2026”

“ผมเป็นคนชอบแชร์ไอเดีย บางคนบอกว่าคุณไม่ต้องพูดเยอะก็ได้ ไม่กลัวคนอื่นมาแย่งไอเดียเหรอ ผมบอกเลยว่าที่ผมพูดเพราะอยากให้คนอื่นเอาไปทำ ที่ยังไม่ใครทำเพราะบางอย่างมันยาก อย่างตอนทำตู้ชาร์จ ทุกคนบอกเสียงเดียวกันว่า “อย่าทำ ๆ มันไม่คุ้ม” แต่ผมมองว่า ถ้าเรามองมันเป็น Asset เราก็คงขาดทุน แต่ถ้าเรามองมันเป็น Experience เราขาดทุนแค่วันแรก ที่เหลือคือกำไร”

“ผมชอบทำเรื่องยาก ๆ เพราะว่ามันไม่ค่อยมีคู่แข่ง ถ้ามันยากแล้วต้องมีคู่แข่งมันจะยิ่งยากขึ้นไปอีกเท่าตัว อีก 2 – 3 ปี ถ้าตอนนั้นยังไม่มีใครทำ เดี๋ยวผมไปทำเอง”

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส