ก่อนหน้านี้เราเคยพรีวิว Ora 07 กันไปครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากคนอ่านที่ดีพอควร รอบนี้ทีมงานแบไต๋ได้มีโอกาสพาน้องเหมียวไฟฟ้าไปขับใช้งานบนท้องถนน ประสบการณ์ใช้งานจากเส้นทางกรุงเทพฯ – บางแสนร่วม 200 กิโล จะพบอะไรพิเศษขึ้นบ้าง?

ก่อนอื่นต้องเล่าว่า Ora 07 ซีดานไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทย 2 รุ่นย่อยด้วยกัน ได้แก่ รุ่น Long Range และรุ่น Performance (เขาตัดรุ่นเริ่มต้นออกไปนั่นเอง) ซึ่งในรอบนี้เราได้มีโอกาสลองรุ่น Performance ที่มาพร้อมมอเตอร์คู่และออปชันจัดเต็ม
ดีไซน์ภายนอก
สำหรับ Ora 07 มาพร้อมดีไซน์เรโทรฟิวเจอริสติกเช่นเดิม เพิ่มเติมก็คือการดีไซน์ให้มีความสปอร์ตมากขึ้น ด้วยเส้นสายพลิ้วไหวตามหยดน้ำ ท้ายลาดสไตล์คู่เป้ และสปอยเลอร์ไฟฟ้าที่ทำงานอัตโนมัติเมื่อปลดล็อกรีโมตหรือขับขี่ความเร็วเกิน 70 กม./ชม. สามารถสั่งให้ระบบช่วยปรับให้อัตโนมัติตามการขับขี่ได้หรือปิดไว้ตลอดก็ได้เช่นกัน โดยรวมภายนอกดูสปอร์ตและพรีเมียมขึ้นกว่ารุ่นเดิมเยอะเลย

ดีไซน์ภายใน
ภายในห้องโดยสารเช่นเดิมกับที่เราเคยเอารูปมาให้ชมกัน รอบนี้ก็ได้มีโอกาสลองเล่นระบบปฏิบัติการของ Ora 07 หลังจากเชื่อมต่อ Apple CarPlay ที่รองรับทั้งแบบต่อสายชาร์จหรือแบบไร้สายแล้ว ก็แทบไม่ต้องยุ่งกับหน้าจอโทรศัพท์ สามารถวางไว้ในช่องชาร์จโทรศัพท์ไร้สายได้เลย
บริเวณคอนโซลกลางรูปตัวที ประกอบด้วยหน้าจอหลักแบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว อันนี้ยอมรับว่าให้มาน้อยกว่าคู่แข่งในตลาดที่ให้มาเกิน 15 นิ้วกันหมดแล้ว รวมถึงหน้าจอผู้ขับขี่ขนาด 10.25 นิ้วก็สร้างปัญหาพอควร เนื่องจากตัวอักษรเล็กและยังโดนแบ่งเป็น 3 จออีก ทำให้ยิ่งดูยากเข้าไปใหญ่ แต่ในรุ่น Performance แถม Head-up display มาให้ด้วย

การควบคุมตัวรถสามารถปรับแต่งผ่านหน้าจอหรือกดผ่านพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันก็ได้ ความพิเศษของ Ora 07 คือเขายกแป้นปรับเกียร์มาไว้ที่คันโยกด้านขวา (อารมณ์คล้าย ๆ รถยุโรป) ให้สอดคล้องกับระบบสตาร์ทรถด้วยการเหยียบเบรก และปรับเกียร์ที่แป้นด้านขวาต่อเนื่อง รวมถึงระบบ Intelligent Adaptive Criuse Control ที่ใส่มาไว้บนแป้นเกียร์ที่เดียว (เลื่อนลงสุดจะเริ่มโหมด Intelligent ACC) ส่วนฝั่งซ้ายเป็นไฟเลี้ยวและที่ปัดน้ำฝนในก้านเดียวกัน แถมมีปุ่มโหมด Sport+ แยกออกมาตรงสีแดง ๆ ให้ได้ฟีลของรถแข่ง ด้วยการจำลองเสียงมอเตอร์บูสต์ขึ้นมา เพิ่มความเร้าใจขึ้นมาชั่วขณะ
ที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือปุ่นปรับเพิ่มลดเสียงบนพวงมาลัย สามารถเลือกปรับแยกเสียงได้เช่นกัน อย่างเราใช้งานทั้ง GPS ใน Google Map และฟังเพลงใน Spotify พร้อมกัน ก็สามารถปรับเลือกได้ว่าจะให้เพลงดังและเสียง GPS เบาก็ทำได้ แต่เวลาต้องการจะสลับความดังเบาก็แอบยุ่งยากไปนิด

สิ่งที่หลายคนอาจกังวลคือเรื่องความร้อนและความสูงของหลังคาพาโนรามิก 2 ตอน (แถวหน้าแถวหลัง) เนื่องจากเป็นรถสไตล์คูเป้ที่ท้ายลาดหน่อย แต่พอเวลานั่งจริงแล้วก็หัวไม่ค่อยติดเท่าไหร่ รวมถึงการกันแสงแดดก็ทำได้ดีกว่าที่คิด เพราะหลังคาแทบไม่ร้อนเลย แม้จะขับฝ่าแดดช่วงเที่ยงมาตลอดทางก็ตาม
ทั้งนี้ความร้อนกลับไปอยู่ที่กระจกด้านข้าง 2 ชั้น ที่พอไม่ได้ติดฟิล์มแล้วรู้สึกถึงความร้อนจากแดดได้มากทีเดียว แต่กระจก 2 ชั้นนี้ค่อนข้างเก็บเสียงภายนอกได้ดีมาก ๆ อีกทั้งด้านหลังมีแอร์ปรับอากาศแยกมาให้ รวมถึงช่องเสียบ UCB-C และ USB-A อย่างละ 1 ช่อง

อีกเรื่องคือความสบายของคนที่นั่งด้านหลัง แม้จะมีพื้นที่ Leg room ค่อนข้างกว้าง แต่ head room ก็เกือบชิดเพดาน ทั้งนี้ส่วนที่น่าจะเป็นปัญหาจริง ๆ อยู่ที่พื้นที่วางเท้า เพราะมันดันสูงขึ้นจากการวางแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ด้านล่าง ทำให้ท่านั่งของผู้โดยสารเหมือนจะขาลอย ๆ นิดหน่อย

สมรรถนะ
Ora 07 ในรุ่น Long Range รุ่นมอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหลัง ให้กำลังสูงสุด 204 แรงม้า แรงบิด 340 นิวตันเมตร ขับขี่ได้ระยะสูงสุด 640 กม. (NEDC) ในขณะที่รุ่นท็อป Performance ที่เราขับขี่ในวันนี้ มาพร้อมมอเตอร์คู่ขับเคลื่อน 4 ล้อ ให้กำลังสูงสุด 408 แรงม้า แรงบิด 680 นิวตันเมตร ขับขี่ได้ระยะสูงสุด 550 กม. (NEDC)
ส่วนที่รู้สึกชอบใน Ora 07 คือระบบ Intelligent ACC ที่ทำงานได้สมูธเหมือนกับรุ่นก่อน ปรับความเร็วและระยะห่างระหว่างคันหน้าได้ไกล แต่ยังจับได้ยันเข้าโค้ง แต่ก็มีขัดใจเวลาทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น lane keeping ที่ทำให้การดึงพวงมาลัยหนักหน่วงไปหน่อย นอกจากนี้ตัวรถยังให้ระบบ One Pedal ที่ควบคุมรถได้เพียงแป้นคันเร่งอย่างเดียว ซึ่งถ้าใครถนัดใช้การรีเจนเนอเรทีฟ เบรกกิงก็แล้วแต่ถนัด เพราะระบบให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หากปรับการรีเจนสูงสุดจะช่วยเบรกเวลาถอดเท้าจากคันเร่งค่อนข้างหนักเลยทีเดียว
เราได้ทดสอบปริมาณการใช้งานพลังงานจากแบตเตอรี่ของรุ่น Performance ด้วย ซึ่งมีการขับขี่ในโหมด Sport และ Normal สลับ ๆ กันไป ผลปรากฏว่าตัวรถใช้พลังงานอยู่ที่ประมาณ 18.7 kWh/100 km เมื่อลองเทียบกับขนาดแบตเตอรี่ 83.5 kWh ด้วยการขับขี่แบบนี้สามารถขับขี่ได้ประมาณ 440 กม. ถือว่าใกล้เคียงกับระดับที่ควรจะเป็น ถ้าไม่เท้าหนักไปหน่อยล่ะนะ

สมรรถนะโดยรวมถือว่าทำได้ดีขึ้นจาก Ora 03 หรือ Ora Good Cat แทบทุกเรื่องเลยทีเดียว ทั้งช่วงล่างที่แน่นขึ้น อัตราเร่งก็มีพอตัว รวมถึงหน้าตาที่ดูสปอร์ตขึ้นทันตา แต่ก็มีปัญหาเรื่องวัสดุภายในที่แอบติดรอยนิ้วมือง่ายไปหน่อย รวมถึงส่วนของออปชันที่ขาด ๆ เกิน ๆ ยังไงไม่รู้
Ora 07 เปิดราคารุ่น Long Range 1,299,000 บาท และรุ่น Performance 1,499,000 บาท มีให้เลือก 3 สีคือ สีขาว, สีเทาและสีม่วง (เฉพาะรุ่น Performance) รวมถึงสีตกแต่งภายใน มีให้เลือกสีดำและสีน้ำตาล (เฉพาะสีเทาและสีม่วงในรุ่น Performance)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส