ในพื้นที่สภาพอากาศสุดโต่งซึ่งฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำจะส่งผลให้การเกิดปฏิกิริยาเคมีในแบตเตอรี่รถ EV ช้าลง ส่งผลให้ระยะเวลาการชาร์จนานขึ้น ปริมาณเซลล์ลิเธียม-ไอออนที่แบตเตอรี่สามารถจุได้ก็ลดลง ส่วนสภาพอากาศที่ร้อนจนเกินทนก็ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของรถ EV เช่นกัน เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินไปจะทำให้ระยะการขับขี่ลดลง แต่นักวิจัยก็พยายามคิดค้นกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศสุดโต่งเหล่านี้
หนึ่งในกลยุทธ์เหล่านั้นคือการปรับปรุงอิเล็กโทรไลต์ให้มีการนำไอออนสูง (high ionic conductivity), จุดหลอมเหลวต่ำ (low melting point), พลังงานโซลเวชันต่ำ (low solvation energy) พร้อมกับสร้างชั้นฟิลม์อินเตอร์เฟสที่เกิดจากส่วนประกอบที่เป็นประจุลบ (anion-derived inorganic interphase) ซึ่งจะมาแก้ปัญหาให้รถ EV สามารถใช้งานในสภาพอากาศที่สุดโต่งได้ดีขึ้น
อ้างอิงจากงานวิจัยของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature พบว่า หนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดคือการพัฒนาคุณภาพของอิเล็กโทรไลต์โดยใช้น้ำยาที่เป็นตัวทำละลายขนาดเล็กที่มีพลังงานโซลเวชันต่ำ ไปเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนตัวของลิเธียมไอออนในอิเล็กโทรไลต์ ช่วยเพิ่มการนำไฟฟ้าและทำให้แบตเตอรี่ชาร์จได้เร็วขึ้น โดยตัวทำละลายตัวนั้น ได้แก่ ฟลูออโรอะซีโตนิไตรล์ (FAN) ซึ่งทำให้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนมีความจุพลังงานมากขึ้น ชาร์จได้เร็วขึ้น และใช้งานได้ในช่วงอุณหภูมิที่กว้างมากขึ้น
แม้ว่าการวิจัยข้างต้นเกี่ยวกับอิเล็กโทรไลต์แบบใหม่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม EV แต่การที่บริษัทผู้ผลิตจะนำสิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัยไปใช้ก็ต้องมั่นใจก่อนว่า วิธีการดังกล่าวนำไปใช้ได้จริงและมีความเหมาะสมสำหรับใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV จำนวนมากในโลกความเป็นจริงได้ก่อน