หลายคนน่าจะได้เห็นข่าวหรือโพสต์จากกลุ่ม TESLA THAILAND ของคุณ Koy Saranlapus ที่ออกมาเผยถึงอุบัติเหตุของรถ Tesla Model 3 Performance ปี 2023 ที่หักหลบรถจักรยานยนต์ ทำให้ตัวรถพุ่งชนเข้ากับเสาที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน เกิดความเสียหายแทบทั้งคัน โดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2024 นี่เอง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ยังไม่มีบทสรุปชัดเจนแต่อย่างใด

คุณ Koy Saranlapus เป็นเจ้าของรถ Tesla Model 3 Performance คันที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งตัวรถมีประกันของบริษัทสีส้ม ทุนประกันอยู่ที่ 1,550,000 บาท เบี้ยประกันอยู่ที่ปีละ 58,500 บาท โดยเมื่อวันเกิดเหตุทางประกันได้ประเมินค่าเสียหายของ Tesla Model 3 Performance ไว้เบื้องต้นประมาณ 600,000 บาท เนื่องจากแบตเตอรี่ยังอยู่ในสภาพดี ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวแบตฯ

แต่หลังจากนั้นทาง Tesla ได้ประเมินความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 1,300,000 บาท (ไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่) จากใบเสนอราคาที่ระบุรายการค่าแรง (ตัว L) และค่าอะไหล่ (ตัว P) กว่า 150 รายการ ทั้งนี้แต่ละรายการไม่ได้ระบุราคา (ได้รับการแจ้งว่าเป็นความลับของทางบริษัท) แต่ให้ดูได้เฉพาะรายการซ่อมและเปลี่ยนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทาง ACE Autoservice ได้เข้ามาตอบโพสต์ของคุณก้อยว่า สามารถขอใบเสนอราคาที่มีราคาของแต่ละรายการได้ แต่คาดว่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดเป็นขอดูรายการซ่อมจึงไม่มีราคาแนบมาด้วย โดยทาง ACE ได้ประเมินค่าเสียหาย 2 ส่วน ได้แก่ งานซ่อมตัวถังและสี ค่าแรงและค่าอะไหล่อยู่ที่ประมาณ 360,000 บาท และงานซ่อมระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ และช่วงล่าง Tesla ประเทศไทยประเมินราคาอยู่ที่ 765,000 บาท ราคารวมโดยประมาณ 1,125,000 บาท และอาจมีรายการอื่น ๆ ระหว่างการซ่อมเพิ่มเติม ทำให้อาจจะเกินทุนประกันที่มีอยู่

โดยทาง ACE แนะนำทางเลือกของคุณ Koy ไว้ดังนี้

  • ทางเลือกแรก ทำการซ่อมโดยรับส่วนต่างที่อาจจะเกิดขึ้น โดยถ้าลูกค้าเป็นฝ่ายถูก ส่วนต่างที่เกิดขึ้นให้ดำเนินการเรียกร้องจากคู่กรณี (ถ้าสามารถเรียกร้องได้)
  • ทางเลือกสอง ทำการคืนซากเพื่อรับทุนประกัน (Total Loss) ลูกค้าจะได้ค่าซากตามทุนประกัน โดยที่ซากรถจะตกเป็นของบริษัทประกันภัย
  • ทางเลือกสาม ทำการซื้อซากจาก บ. ประกันภัย (กรณี Total loss) เพื่อไปทำการซ่อมเอง ในกรณีที่ลูกค้ามีอู่ แต่ทาง ACE ไม่แนะนำ เนื่องจากอาจติดปัญหาเรื่องการจัดหาอะไหล่ ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงประกันของตัวรถได้
  • ทางเลือกสี่ ขอซ่อมแบบ Partial Loss คือ ขอทุนประกันคืนบางส่วน (โดยทั่วไปจะไม่ถึง 70% ของทุนประกัน) เพื่อนำรถไปทำการจัดซ่อมเองหรือสำรองจ่ายเองแล้วปิดกรมธรรม์ ซึ่งก็อาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกับทางเลือกสาม
  • ทางเลือกห้า หากคุณลูกค้าประสงค์ที่จะซ่อมเพียงบางส่วน แนะนำให้ลูกค้า ติดต่อกับทางศูนย์ ACE โดยตรง เพื่อร่วมกันตรวจสอบหน้างานกับตัวรถ ทางศูนย์จะต้องทำเรื่องแจ้งความประสงค์ของทางลูกค้ากับทาง Tesla ว่ารายการที่คุณลูกค้าเลือกจะทำการซ่อมนั้นจะไม่ส่งผลในเรื่องความปลอดภัยและสมรรถภาพของตัวรถ และยังอยู่ในประกันของทาง Tesla หรือไม่ (เช่น ถ้าเราเลือกที่จะไม่ซ่อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ตกแต่งและความสวยงาม) ถ้าทาง Tesla แจ้งว่ายังอยู่ในประกัน ทางศูนย์จะดำเนินการให้ลูกค้าเซ็นยินยอมและซ่อมได้ ทั้งนี้ส่วนที่ไม่ซ่อมจะต้องมีการแจ้งทางบริษัทประกันภัย เพื่อยกเลิกการรับประกันส่วนนั้นออกไป (เสมือนว่ารถมีรอยแผลเดิม ต้องมีการตรวจสภาพและระบุว่าไม่อยู่ในความคุ้มครอง) ก็จะสามารถดำเนินการซ่อมตามรายการและงบประมาณที่ลูกค้าต้องการได้

อย่างไรก็ตามทีมงาน bt ได้ติดต่อคุณ Koy ไปล่าสุด (วันที่ 18 มิถุนายน 2024 เวลา 12.00 น.) ทางศูนย์ซ่อม ACE ยังไม่มีการส่งใบเสนอราคาแบบละเอียดให้ทางผู้เสียหายแต่อย่างใด รวมถึงติดต่อทาง Tesla ประเทศไทย เรื่องใบเสนอราคาที่ไม่ระบุราคาไปเช่นกัน แต่ทาง Tesla ประเทศไทยแจ้งว่าการบริการเบิกอะไหล่จาก Tesla โดยตรง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับทางศูนย์ซ่อม ACE จึงไม่มีข้อมูลดังกล่าว

ล่าสุดทาง ACE ก็ได้ออกมาแจ้งว่ากำลังติดต่อให้ทางผู้จัดการศูนย์บริการนัดลูกค้าเข้ามาดูความเสียหายของตัวรถ แล้วดูในส่วนของใบประเมินราคาควบคู่กันไป ซึ่งเราต้องมาดูกันต่อไปว่าเคสนี้จะจบอย่างไร และราคาค่าซ่อมแต่ละรายการ (ที่ว่า ไม่เป็นความลับครับ) จะออกมาที่เท่าไหร่กัน