วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน ฟิสเกอร์ (Fisker) บริษัทเกิดใหม่ด้านรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ได้ยื่นขอล้มละลาย Chapter 11 เพื่อขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมืองเดลาแวร์ โดยหวังจะกอบกู้บริษัทด้วยการขายสินทรัพย์และปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากทุ่มเงินมากมายในการผลิตรถยนต์รุ่น Fisker Ocean SUV ทั้งนี้บริษัทได้ระบุทรัพย์สินที่ประเมินไว้ 500 – 1,000 ล้านเหรียญ (18,300 – 36,700 ล้านบาท) และหนี้สิน 100 – 500 ล้านเหรียญ (3,700 – 18,350 ล้านบาท) ซึ่งมีเจ้าหนี้รายใหญ่ 20 ราย เช่น Adobe และ Alphabet (Google)
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฟิสเกอร์ได้ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาส ซึ่งส่ออาการมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปอีกหนึ่งปี และเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม ต่อมาได้ถูกปฏิเสธการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 350 ล้านเหรียญ (12,846 ล้านบาท) ซึ่งคาดกันว่าเป็นบริษัทนิสสัน จึงส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงจนต้องระงับการซื้อขายหุ้น และเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนหุ้นออกจากตลาด
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและสงครามราคา แถมความต้องการของตลาดที่ลดลง รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และปัญหาในการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง จึงส่งผลให้ในช่วง 2 ปีมานี้มีผู้ผลิตรถยนต์ที่ไปต่อไม่ไหวจนต้องยื่นขอล้มละลาย ได้แก่ Proterra, Lordstown และ Electric Last Mile Solutions
Fisker Automotive ก่อตั้งขึ้นโดยเฮนริก ฟิสเกอร์ (Henrik Fisker) อดีตที่ปรึกษาด้านการออกแบบของเทสลา (Tesla) เมื่อปี 2007 ต่อมาได้เจอสถานการณ์วิกฤติทางการเงินในปี 2008 และเจอปัญหาแบตเตอรี่รั่วในรถยนต์ซีดานไฮบริด Fisker Karma จนต้องเรียกคืนครั้งใหญ่ และได้ยื่นขอล้มละลายในปี 2013 แต่ในปี 2016 เฮนริก ฟิสเกอร์ ได้กลับมาเริ่มผลิตบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าในชื่อบริษัท Fisker และได้เข้าสู่ตลาดหุ้น เริ่มการซื้อขายเมื่อ 30 ตุลาคม 2020 พร้อมเดินหน้าสู่การพัฒนารถยนต์ SUV ไฟฟ้า Fisker Ocean และได้เปิดตัวในปี 2023
Fisker Ocean มีปัญหามากมาย ทั้งในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ จนองค์กรผู้บริโภค Consumer Reports ถึงกับเรียกแบบจิกกัดรถยนต์รุ่นนี้ว่า “รถที่ยังผลิตไม่เสร็จ” แถมยังโดน MKBHD รีวิวแบบถล่มเละ อีกทั้งยังถูกตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาการเบรก การเข้าจอด และโหมดอื่น ๆ รวมถึงถูกร้องเรียนว่าบางครั้งประตูรถเปิดไม่ได้ และเนื่องจากรถยนต์ Fisker Ocean ที่ผลิตเมื่อปี 2023 มากกว่า 10,000 คัน ขายได้ไม่ถึงครึ่ง เดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทจึงเปลี่ยนรูปแบบการจัดจำหน่ายจากที่เคยขายให้กับลูกค้าโดยตรง ได้เปลี่ยนมาเป็นขายผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย 15 แห่งในสหรัฐฯ และ 12 แห่งในยุโรป แต่ก็ยังขายไม่ออกค้างสต็อกอยู่ประมาณ 5,000 คัน