ปัจจุบันข้อจำกัดของรถยนต์ไฟฟ้าคือเรื่องแบตเตอรี่ ที่ส่งผลไปถึงระยะทางการขับขี่ที่จำกัด อยู่ที่ประมาณ 500 – 600 km ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ทำให้ผู้ผลิตรถและแบตเตอรี่หลายเจ้าให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ ที่สามารถกักเก็บพลังงานไปยาวนานยิ่งขึ้น ในขณะที่ตัวแบตฯ ไม่ใหญ่โตเกินไปกว่านี้ จึงเป็นที่มาของแบตฯ ประเภทต่าง ๆ เช่น แบตฯ เกลือ และแบตฯ โซลิดสเตต หนึ่งในผู้พัฒนาแบตฯ โซลิดสเตตอย่าง TDK ดูเหมือนว่าจะใกล้ความจริงเข้าไปอีกขั้นแล้ว
TDK หรือทีดีเค คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้นำระดับโลกในด้านโซลูชันอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสังคมอัจฉริยะ ตั้งอยู่ที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้จำหน่ายเฟอร์ไรต์ (ferrite) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแม่เหล็ก และมียอดขายทั่วโลกกว่า 14,600 ล้านเหรียญ
สิ่งที่ TDK ทำได้คือการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า CeraCharge เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่โซลิดสเตตเจเนอเรชันใหม่ เจ้าชิ้นเล็ก ๆ นี้มีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่า 1,000 Wh/L หรือ 1kWh/L นั่นเอง ซึ่งมากกว่าความหนาแน่นของพลังงานในแบตเตอรี่โซลิดสเตตเดิมของ TDK ประมาณ 100 เท่า โดยกระบวนการผลิต CeraCharge นี้จะใช้วิธีการ Electrolyte แบบ Oxide-based เข้ากับขั้ว Anode แบบ Lithium alloy จึงทำให้แบตเตอรี่มีความปลอดภัยสูง
ทั้งนี้แม้ว่าแบตเตอรี่โซลิดสเตตอาจจะเป็นทางออกของอุตสาหกรรมรถ EV แต่ทว่า CeraCharge ของ TDK ก็ยังไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ตรงนั้น โดยเขาจะเริ่มจากอุปกรณ์อะไรที่มีขนาดเล็กก่อน เช่น หูฟังบลูทูท, เครื่องช่วยฟัง หรือสมาร์ตวอตช์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนเซลล์แบตเตอรี่เดิมที่เป็นรูปวงกลมคล้ายเหรียญได้นั่นเอง
หลังจากนั้น TDK จึงค่อยพุ่งเป้าไปที่แบตเตอรี่โซลิดสเตตสำหรับรถ EV ที่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของตัวแบตเตอรี่ให้เพียงพอสำหรับการใช้งานในรถ การเคลือบพื้นผิวหลายชั้น รวมถึงขีดจำกัดของอุณหภูมิที่ตัวแบตฯ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เมื่อแบตเตอรี่ใหญ่ขึ้นทำให้ความร้อนสูงขึ้นตามไปด้วย)