ปี 2024 แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น จนเริ่มไล่นิ้วไม่ครบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำตลาดรถ EV ในเวลานี้คือ BYD โดยผู้จัดจำหน่ายอย่างบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดรถ EV ในไทยได้มากกว่า 40% ล่าสุด BYD ก้าวไปอีกขั้นกับการเปิดโรงงานผลิตรถ EV นอกประเทศจีนที่จังหวัดระยองของไทย ถือเป็นโรงงานแรกในภูมิภาคอาเซียน พร้อมตั้งเป้าการผลิต 150,000 คันปี

นายหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด

โรงงาน BYD ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสําหกรรมดับบลิวเอชเอ จังหวัดระยอง โรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พร้อมตั้งเป้ากำลังผลิต 150,000 คันต่อปี โดยในเดือนแรกจะเริ่มต้นเดินสายการผลิตที่ประมาณ 800 คันในเดือนกรกฎาคม

โรงงานแห่งนี้มีพื้นที่กว่า 948,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 2 โรงงานคือ โรงงานประกอบขนาด 65,000 ตร.ม. และโรงงานสายการผลิต ซึ่งทั้งสองโรงใช้เวลาสร้างแค่ 16 เดือนเท่านั้น เบื้องต้นเน้นการผลิตและประกอบรถ BYD Dolphin ในช่วงแรก ก่อนจะขยายไปสู่รุ่น Atto 3 และ Seal ต่อไป และอาจจะเพิ่มสายการผลิตในรถประเภทอื่น ๆ รวมถึงรถ PHEV อย่าง Sealion 6 ในอนาคต

หวัง ชวนฟู่ ประธานกรรมการและประธานบริษัท บีวายดี กรุ๊ป (ขวา) และหม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ซ้าย) ตัวแทนผู้รับมอบรถ BYD คันที่ 8 ล้าน

กระแส EV เบ่งบานอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขรถ EV ในไทยกกระโดดจากไม่ถึง 1% ในปี 2021 สู่ 10% ในปี 2023 บริษัท BYD ถือเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ดำเนินธุรกิจใน 400 กว่าเมือง 88 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย พร้อมสร้างยอดขายอันดับ 1 ในไทยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 18 เดือน ปัจจุบัน BYD มีโชว์รูม 115 แห่งทั่วไทย และกำลังขยายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดต่อไป

นับตั้งแต่ BYD ก่อตั้งแบรนด์เมื่อปี 1995 สามารถสร้างยอดขายครบ 1,000,000 คัน ในปี 2021 โดยใช้เวลากว่า 26 ปี แต่ล่าสุดสามารถสร้างยอดขายจาก 1 ล้านคัน ไปสู่ 8,000,000 คันในเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น รวมถึงยอดขายรถ BYD ที่ต่างประเทศสูงถึง 243,000 คันในปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้นถึง 334% เมื่อเทียบกับปี 2022) ถือเป็นตัวเลขสูงสุดที่ BYD เคยทำได้อีกด้วย

นอกจากโรงงานผลิต BYD ที่ประเทศไทยแล้ว ยังมีฐานการผลิตที่ประเทศบราซิล ฮังการีและอุซเบกิสถานอีกด้วย ที่น่าสังเกตหลังได้ไปเยี่ยมชมโรงงานพบว่า ใช้แรงงานคนเป็นหลัก (ถ้าเทียบกับโรงงานผลิตรถที่จีนหลายแห่งจะเห็นหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ) แต่ก็มีเครื่องจักรและหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเสริมการทำงานประมาณ 50% ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยสร้างอาชีพให้คนไทยกว่า 10,000 ตำแหน่งในอนาคต (ปัจจุบันพนักงานไทย 2,000 กว่าคน และพนักงานจีน 400 กว่าคน)

ความสำเร็จครั้งนี้ยังสะท้อนผ่านการที่บริษัทแม่ BYD เข้ามาถือหุ้น 20% ของบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD อย่างเป็นทางการในประเทศไทย จากยอดขายรถ BYD ในไทยกว่า 50,000 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดรถ EV ในไทยกว่า 40% ซึ่งการร่วมหุ้นของ BYD และเรเว่ ออโตโมทีฟ ในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไทยมากขึ้นนั่นเอง

คุณประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเรเว่ และ คุณประธานพร พรประภา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเรเว่ ยังกล่าวเสริมถึงประเด็นเรื่องการลดราคาของ BYD อย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาว่า “เรายังคงยึดเป้าหมายเดิมคือ มอบสินค้าประสิทธิภาพ เทคโนโลยีสูง และราคาจับต้องได้มากขึ้น

BYD ไม่ลืมลูกค้ากลุ่มแรก แต่หากพิจารณา Rever Care ที่แถมให้จะมีรายละเอียดค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ได้รับ เพื่อให้ทำราคาเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น นอกจากนี้การเปิดโรงงานผลิตในไทย ทำให้ต้องเคลียร์รถในสตอก โดยนำออกมาจัดโปรโมชั่นได้บางส่วน จึงเป็นสาเหตุให้เราสามารถทำราคาลงมาได้”

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงการเยียวยาลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการลดราคาอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสมที่สุด เนื่องจาก BYD เป็นแบรนด์ที่ประกาศราคาแบบ one price policy เวลาลดราคาทีจะประกาศราคากลางแจ้ง เพื่อให้ทุกคนทราบในราคาเดียวกัน แตกต่างจากแบรนด์อื่นที่ลดราคาผ่านดีลเลอร์ ต่างกันไปตามสาขา

ทาง BYD ขอบคุณความคิดเห็นของผู้ใช้ เพราะเรายินดีที่ได้รู้ว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร เราจึงตกลงที่จะเยียวยาผู้ใช้ BYD ขอเวลาในการคิดเพื่อประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน BYD จะเร่งออกมาตราการเยียวยาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ BYD มองว่าจะยังตั้งราคาที่เหมาะสมกับตลาด ณ เวลานั้นต่อไป แต่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความถี่ในการลดราคาให้เหมาะสมมากขึ้น