ช่วงนี้ถือว่าเป็นเวลาแห่งการเปิดโรงงานประกอบรถ EV ในไทย เพื่อตอบรับกับมาตราการ EV 3.0 และ 3.5 ด้วยการผลิตคืน 1-2 คันเป็นอย่างน้อย หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการลดราคาอย่างบริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) หรือ GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะระดับโลกสัญชาติจีน ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกนอกประเทศจีน ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC บนพื้นที่ 85,000 ตารางเมตร

คุณ เจิง ชิ่งหง (Zeng Qinghong) ประธานบริษัท GAC กรุ๊ป

การเปิดโรงงานของ GAC AION ได้รับเกียรติจากประธานบริษัท GAC กรุ๊ป รวมถึงเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพของโรงงาน ที่ขนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงตามมาตรฐานระดับโลกจากประเทศจีน เข้ามาใช้ในโรงงานแห่งนี้ด้วย ใครยังจำกันได้ว่าเราเคยไปเยี่ยมชมโรงงานของ GAC AION ที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนมาแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้เขาจะบอกว่านำเทคโนโลยีมาจากจีนมาใช้ แต่โรงงานที่ระยองกลับห่างชั้นจากจีนหลายเท่าตัวเลย ทั้งขนาด กำลังการผลิตรวมกว่า 500,000 คันต่อปี (จาก 2 โรงงานในจีน) ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ประกอบรถหลายร้อยตัว แต่สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเป้าหมายในการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องจริง เพราะนี่คือโรงงานประกอบรถแห่งแรกนอกประเทศจีนของ GAC AION นั่นเอง

GAC ได้มีการลงทุนกว่า 223,000 ล้านบาทในปี 2017 เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตรถ Guangzhou Automobile Group (GAC) และลงทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 223,000 ล้านบาทในการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ GAC Zhilian New Energy Automobile Industrial Park สำหรับผลิตรถพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะ ทั้งนี้บริษัทมียอดขายรถรวมทุกบริษัทในเครือจำนวน 2.5 ล้านคันในปี 2023 จากตลาดรถ 30 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก ต้องบอกว่าเทคโนโลยีของ GAC AION ไม่ธรรมดา นอกจากจะผลิตรถได้ไวแล้ว ยังมียอดขายรถ EV ครบ 1 ล้านคันเร็วที่สุดในโลกที่เวลาเพียง 4 ปี 8 เดือน และบริษัทยังถือว่าเป็น TOP3 ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศจีนอีกด้วย

กลับมาที่โรงงานในนิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง บนพื้นที่กว่า 85,000 ตร.ม. เป็นกลยุทธ์ของบริษัท GAC AION ที่ต้องการขยายตลาดและสร้างแบรนด์ในระดับสากล พร้อมทั้งกระจายความรู้ทางด้านการผลิตและเทคโนโลยีของบริษัทมาสู่ประเทศไทยอย่างครบวงจร โดยใช้เวลาก่อตั้งโรงงานแห่งนี้เพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้น (เร็วกว่า BYD ที่ 11 เดือน) ประกอบด้วยโรงงาน 3 ส่วนคือ โรง A ทำหน้าที่เก็บอะไหล่ พาร์ท IQC ต่าง ๆ และโรง B ทำหน้าที่ไลน์ประกอบตัวรถ จุดนี้จะมีหุ่นยนต์จากจีนที่เข้ามาช่วยประกอบล้อและกระจกแบบ 100% รวมถึงพื้นที่ทดสอบสมรรถภาพรถ ระบบช่วงล่าง และโรง C ที่ใช้เก็บตัวถังนำเข้าจากจีน

โรงงาน GAC AION ที่ไทย ชูการใช้เทคโนโลยี Data ในการเก็บข้อมูลแบบ 100% รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจสอบการทำงานของมนุษย์อีกขั้นตอนหนึ่ง พร้อมทั้งยังตรวจสอบคุณภาพของการผลิตด้วย ทั้งนี้ในระยะแรกของโรงงานยังเป็นการนำเข้าอะไหล่จากประเทศจีนกว่า 80% อยู่ โดยเฉพาะตัวถังและแบตเตอรี่ ส่วนที่เหลือสามารถใช้อะไหล่ท้องถิ่น จำพวกคอนโซลกลาง จอดิจิทัล รวมถึงเบาะที่นั่ง ทดแทนได้อยู่ (ปัจจุบันมีซับพลายเออร์ในไทยประมาณ 14 เจ้า) เช่นเดียวกับคนงานในโรงงานแห่งนี้มีประมาณ 200 คน แบ่งเป็นคนไทย 70% และที่เหลือยังเป็นคนงานจีนที่เข้ามาช่วยดูงานในระยะแรกนั่นเอง

โรงงาน GAC AION เดินสานการประกอบในรุ่น AION Y Plus (ปัจจุบันมียอดจดทะเบียนในปี 2024 ถึงเดือนมิถุนายนที่ 2,208 คัน) และ AION ES (ปัจจุบันมียอดจดทะเบียนในปี 2024 ถึงเดือนมิถุนายนที่ 666 คัน) ก่อน ซึ่งช่วงปลายปีจะมีการนำรุ่น AION V เอสยูวีไฟฟ้าเจเนอเรชันที่ 2 เข้ามาประกอบในไทยเช่นเดียวกัน โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ห้องโดยสารกว้างขวาง พร้อมพกพาตู้เย็นขนาดเล็ก และระบบขับขี่อัจฉริยะ ADAS รวมถึงรองรับ Fast Charge ด้วย สามารถขับขี่ระยะสูงสุดกว่า 750 km เลยทีเดียว