เทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV ที่จีนมียอดขายรวมกว่า 3.6 ล้านคันในปี 2023 แต่สถิติที่น่าสนใจคือปลั๊กอินไฮบริด 3 คันที่ขายได้ในจีน 1 ในนั้นคือรถของ BYD

ความนิยมในรถปลั๊กอินไฮบริดที่จีนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนหลายโรงงานของ BYD จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสายพานการผลิตจากรถยนต์ไฟฟ้ามาเป็นปลั๊กอินไฮบริดแบบฉับพลัน และน่าจะเป็นทางออกของคนที่ยังไม่กล้าก้าวข้ามไปเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าเต็มตัว อย่างคนไทยในเวลานี้

ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรก

รู้หรือไม่ว่า BYD เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริดเจ้าแรกของตลาดรถยนต์ โดยนำเสนอเทคโนโลยี DM-i ที่ย่อมาจาก Dual Mode รวมกับคำว่า Intelligent ซึ่งหมายถึงระบบขับเคลื่อนปลั๊กอินไฮบริดรูปแบบใหม่ที่มีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน แต่ต่างจากรถไฮบริดทั่วไปตรงที่แบตเตอรี่สำหรับขับเคลื่อนมีขนาดใหญ่กว่า และยังสามารถชาร์จไฟจากภายนอกเข้าไปที่แบตฯ ได้ด้วย

BYD F3DM

รถปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของ BYD และเป็นรุ่นแรกของโลกคือ BYD F3DM ที่มาพร้อมเทคโนโลยี DM-i 1.0 เปิดตัวในปี 2008 ผลิตขึ้นที่โรงงานในเมืองซีอาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่เราได้มาเยือนในทริปนี้ เพียงแต่ไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรก

แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสได้ทดสอบสมรรถนะของเทคโนโลยี DM-i ที่พัฒนาต่อเนื่องมาตลอด 16 ปี นั่นคือ DM-i Super Hybrid 4.0 ที่เพิ่งเปิดตัวในปี 2024 โดยมีตัวเลขยอดขายรวมกว่า 3.6 ล้านคัน นับตั้งแต่เทคโนโลยีนี้คิดค้นขึ้นมา คิดเป็นส่วนแบ่งของตลาดรถปลั๊กอินไฮบริดในตลาดจีนกว่า 50% และบรรจุอยู่ในรถรุ่นใหม่ 4 รุ่น ที่เราได้ทดสอบในวันนี้ด้วย

Yangwang U8

ปัจจุบันแบรนด์ BYD ประกอบด้วยแบรนด์ย่อย 4 แบรนด์ ได้แก่ BYD ที่มีทั้งธุรกิจรถยนต์และแบตเตอรี่ (Blade Battery) Denza บริษัทร่วมทุนผลิตระหว่าง BYD และ Mercedes-Benz นอกจากนี้ยังมี Yangwang (อ่านว่า หยางว่าง) ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมของ BYD ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงสุดยอดสมรรถนะของรถยนต์ ไปจนถึงแบรนด์น้องใหม่อย่าง Formula Bao (อ่านว่า เป้า) ที่เน้นความไลฟ์สไตล์มากขึ้น ขับขี่ได้ทั้งเส้นทางออฟโรดและในเมือง

DM-i Super Hybrid 4.0

BYD นำเสนอเทคโนโลยีปลั๊กอินไฮบริด DM-i Super Hybrid (4.0) ที่มีจุดเด่นในเรื่องประสิทธิภาพของการรักษาความร้อนของเครื่องยนต์ได้ดีถึง 43.04% และรองรับการขับขี่ได้ไกลถึง 1,245 กม. รวมถึงแพลตฟอร์ม e4 Platform ที่มาพร้อมเทคโนโลยีมอเตอร์ควบคุมแรงบิดของแต่ละล้อโดยตรง ซึ่งช่วยมอบกำลังสูงสุด 1,100 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายในไม่ถึง 2 วินาที สำหรับรถสมรรถนะสูงอย่าง Yangwang U9

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยี DMO สำหรับรถประเภทออฟโรด ที่มอบกำลังสูงสุด 505 แรงม้า อัตราเร่งภายใน 4.8 วินาที ด้วยระยะการขับขี่ไกลกว่า 1,200 กม. เช่นกัน

Formula Bao 5

จุดเด่นของ DM-i Super Hybrid 4.0 จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร ที่มีอัตราคงประสิทธิภาพความร้อนอยู่ที่ 43.04% และมอเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง กำลัง 145 kW ช่วยส่งกำลังขับเคลื่อนมากกว่า 97.5% เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ใช้กำลังจากเครื่องยนต์เลย ทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้น นอกจากนี้ยังลดเสียงรบกวนลงได้ดีขึ้น 15% พร้อมด้วยแบตเตอรี่ Blade Battery ของ BYD ที่มีขนาดใหญ่ 18.3 kWh

โหมดการทำงานของ DM-i Super Hybrid 4.0 จะประกอบด้วย

  • EV Mode ทำงานเมื่อขับด้วยความเร็วต่ำ
  • HEV เมื่อขับในเมือง ระบบจะส่งกำลังเพิ่มขึ้น
  • HEV Serie มีเครื่องยนต์เข้ามาช่วยเสริม แต่สิ้นเปลืองพลังงานต่ำ
  • HEV Parallel เครื่องยนต์ช่วยเสริมกำลัง
Yangwang U9

DM-i ต่างจาก HEV อย่างไร

เมื่อเทียบการทำงานของ DM-i Super Hybrid 4.0 กับรถไฮบริดทั่วไป แม้จะมีหลายจุดคล้ายกัน อย่างการทำงานช่วงออกตัว การขับขี่ในเมือง หรือการเสริมกำลังด้วยเครื่องยนต์เมื่อต้องการเร่งแซงหรือขึ้นเขา ไปจนถึงการรีเจเนอเรชันยามเบรกหรือถอนคันเร่ง

แต่จุดที่ทำให้ DM-i Super Hybrid ต่างออกไปคือการลดอัตราสิ้นเปลืองของพลังงาน ทำให้ขับขี่ได้ไกลยิ่งขึ้น และมีขนาดมอเตอร์ที่ค่อนข้างใหญ่กว่ารถไฮบริดทั่วไป จึงทำความเร็วในเมืองได้แบบปลอดไอเสียและมีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานต่ำ (เมื่อขับขี่โหมด EV) เพราะตัวรถจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเป็นหลัก

อีกทั้งยังสามารถชาร์จไฟจากภายนอกได้ด้วย จึงยิ่งขับได้ไกลขึ้น พร้อมกับปล่อยไอเสียได้น้อยลง โดยมีตัวเลขของอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ 21.28 กม./ลิตร หรือ ประมาณ 5.03 กม./kWh อีกทั้งเมื่อขับขี่มากกว่า 150,000 กม. ทาง BYD ได้ลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของรถ PHEV ที่ใช้เทคโนโลยี DM-i Super Hybrid ให้ความประหยัดกว่ารถไฮบริดทั่วไปอย่างน้อย 103,500 บาท และอย่างมากถึง 330,000 บาทเลยทีเดียว (ตัวเลขนี้เป็นเพียงการคำนวณคร่าว ๆ เท่านั้น)

BYD Sealion 6

BYD Sealion 6 ออกแบบด้วยดีไซน์ Ocean Aesthetics รอบคัน มาพร้อมไฟหน้ารูปตัว C และไฟท้ายลายหยดน้ำ ภายในห้องโดยสารมาพร้อมพวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน หน้าจอผู้ขับขี่ 12.3 นิ้ว และหน้าจอดิจิทัลขนาด 15.6 นิ้ว รองรับการสั่งการด้วยเสียง และการเชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto รองรับที่ชาร์จไร้สาย 15W เบาะขับขี่ปรับได้ 8 ทิศทาง หลังคาพาโนรามิก

ตัวรถรองรับการเชื่อมต่อผ่านแอปฯ BYD ที่สั่งการสตาร์ตรถและเปิดแอร์รอล่วงหน้าได้ พร้อมด้วยระบบความปลอดภัยของเรดาร์ 5 ตัว (หน้า 3 ตัว หลัง 2 ตัว) ทำงานร่วมกับกล้องหน้า 1 ตัว พื้นที่สัมภาระ 425 ลิตร ปรับได้สูงสุด 1,440 ลิตร เมื่อพับเบาะลง

BYD Sealion 6

BYD Sealion 6 ใช้ระบบขับเคลื่อน DM-i Super Hybrid 4.0 ที่มอบอัตราเร่งใน 8.3 วินาที มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 18.3 kWh รองรับการขับขี่ในโหมดไฟฟ้าสูงสุด 95 กม. (รุ่น Superior หรือรุ่นท็อป ขับขี่ไฟฟ้าได้ 92 กม.) โดยมีอัตราสิ้นเปลืองอยู่ที่ประมาณ 4.72 ลิตร/100 กม.

BYD Sealion 6

ทั้งนี้ BYD Sealion 6 มีแผนจะประกอบที่ไทย ที่โรงงานในจังหวัดระยองด้วย พร้อมเปิดตัวรถรุ่นประกอบไทยภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 (ก่อนหน้านั้นจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ BYD Dolphin รุ่นประกอบไทยในเดือนสิงหาคม) ซึ่งน่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มตัวเลือกให้ตลาดรถปลั๊กอินไฮบริดในไทยมากขึ้น ด้วยจุดเด่นของการใช้งานคล้ายคลึงกับรถ EV ที่สามารถชาร์จไฟที่บ้านได้ทุกวันหลังกลับจากการทำงาน พร้อมทั้งรองรับการขับขี่ทางไกลในวันหยุดได้นั่นเอง

BYD เชื่อมั่นว่าตัวเลขยอดขาย BYD Sealion 6 ในจีนทะลุ 1 ล้านคันภายในเวลาแค่ 3 ปี และในปี 2023 สามารถขายได้มากกว่า 3 ล้านคันเลยทีเดียว ซึ่งในปี 2024 ทาง BYD ก็ตั้งเป้าไว้ที่ 4 ล้านคัน และปัจจุบันโรงงานที่จีนหลายแห่งต่างเพิ่มสายพานการผลิตของ BYD Sealion 6 มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีกำลังผลิตรวมไม่น้อยกว่า 5 ล้านคันเลยทีเดียว

และนี่คืออาจเป็นทิศทางใหม่ที่ช่วยแบ่งเบาความเดือดดาลของสงครามราคารถ EV ลงได้บ้าง ทั้งนี้เราต้องมาลุ้นว่าบริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BYD จะตั้งราคาขายของ BYD Sealion 6 ไว้ที่เท่าไหร่ ถึงจะไม่ทำตลาดแตกไปมากกว่านี้