เทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ได้รายงานผลประกอบการทางการเงินประจำไตรมาสที่ 2 โดยมีกำไรขั้นต้น 4,500 ล้านเหรียญ (161,874 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (YoY) ซึ่งมีรายได้โดยรวม 25,500 ล้านเหรียญ (917,413 ล้านบาท) เติบโตขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เมื่อดูลึกลงไปพบว่าบริษัทมียอดการผลิตรถยนต์ลดลง 14.4% และยอดขายลดลง 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้จากรถยนต์ 19,900 ล้านเหรียญ (716,101 ล้านบาท) ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เทสลามีรายได้จากรถยนต์ลดลงมากกว่ายอดส่งมอบเล็กน้อย เนื่องจากการปรับลดราคามาตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงแสดงว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากรายได้ในส่วนอื่น นั่นก็คือ ยอดขายแบตเตอรี่และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 3,000 ล้านเหรียญ (107,985 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการติดตั้งแบตเตอรี่ 9.4 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) และยังมีรายได้จากการขายเครดิตกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ที่ 890 ล้านเหรียญ (32,034 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ เทสลามีกำไรสุทธิ 1,500 ล้านเหรียญ (53,994 ล้านบาท) ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน 6.3% ลดลง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 3,000 ล้านเหรียญ (107,998 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายจ่ายด้านทุนเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน แต่ยังดีที่มีเงินสดสุทธิและกระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม เทสลาได้ปรับโครงสร้างปลดพนักงานมากกว่า 10% เพื่อลดต้นทุน
ส่วนทิศทางของผลิตภัณฑ์ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลามีแผนจะเปิดตัวแท็กซี่ไร้คนขับใน 8 สิงหาคม ซึ่งล่าสุดได้อัปเดตว่าจะเปิดตัว 10 ตุลาคม ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นราคาไม่แพง ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าถูกยกเลิกไปแล้ว ก็ได้อัปเดตว่าอาจเริ่มการผลิตในครึ่งปีแรกของ 2025 โดยจะใช้สายการผลิตเดียวกันกับรถยนต์รุ่นปัจจุบัน และสุดท้ายคือ หุ่นยนต์ Optimus จะเริ่มนำมาใช้ในโรงงานของเทสลาในปี 2025 และจะขายให้กับโรงงานอื่น ๆ ในปี 2026
เทสลามียอดขายและรายได้จากรถยนต์ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้ทางด้านราคา ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ต่อสู้ด้านราคากับคู่แข่งในประเทศจีนด้วยการปล่อยบริการ FSD (ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อัจฉริยะ) เมื่อผนวกกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตคือ แท็กซี่ไร้คนขับและหุ่นยนต์ Optimus ทั้งหมดล้วนต้องขับเคลื่อนด้วยเอไอ ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา มัสก์กำลังมีแผนที่จะทุ่มงบ 5,000 ล้านเหรียญ (180,150 ล้านบาท) ให้กับ xAI เพื่อพัฒนา FSD และสร้างดาตาเซนเตอร์ใหม่ของเทสลา