จากเหตุการณ์รถยนต์ไฟฟ้าจอดในหมู่บ้านปาล์มสปริง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะกำลังประสบเหตุน้ำท่วม จนทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ทั้งคัน สร้างความเสียหายต่อรถยนต์คันอื่นในบ้านทั้ง 4 คัน โดยในจำนวนนั้นมีรถ EV 1 คัน (คาดว่าจะเป็นรุ่น Neta X) ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าไปดับเพลิงได้ทัน จึงไม่มีผู้บาดเจ็บและความเสียหายไปถึงบ้านหลังอื่น คำถามจึงเกิดขึ้นว่าไฟไหม้ได้อย่างไร และต้นกำเนิดเพลิงมาจากรถ EV จริงหรือ ?

ไฟไหม้ได้ยังไง ?

ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวคล้ายเหตุการณ์นี้เช่นกัน เกิดขึ้นกับ Tesla Model X ในประเทศอเมริกา ที่จอดในบ้านที่โดนน้ำท่วมจากพายุเฮอริเคน อยู่ดี ๆ เกิดไฟลุกพรึ่บขึ้นมาบริเวณใต้ท้องรถ ก่อนที่จะลุกไหม้ลามไปทั้งคัน จากข้อมูลของคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ (NTSB) ของอเมริกา ระบุสาเหตุคาดว่ามาจากการที่พายุพัดพาน้ำทะลเข้ามาท่วมพื้นที่ในบ้าน ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร

ทาง NTSB อธิบายเพิ่มเติมว่า รถ EV ไม่ถูกกับน้ำทะเล เพราะน้ำทะเลมีความเป็นกรดที่สามารถกัดเซาะซีลยางและเหล็กได้ และยังนำไฟฟ้าได้ดีกว่าน้ำจืด จึงทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้ง่าย ซึ่งมีการสำรวจเพิ่มเติมอีกว่า พายุเฮอริเคนสร้างความเสียหายจากน้ำท่วมแก่รถยนต์ทั้งหมด 600 คัน และมีรถ 36 คันที่เกิดเพลิงไหม้ คิดเป็นประมาณ 6% จากปริมาณรถทั้งหมดที่จอดน้ำท่วม

แม้ว่าในช่วงเวลานั้นรถคันดังกล่าวที่จอดแช่น้ำทะเลยังไม่เกิดไฟไหม้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดไฟไหม้ในอนาคตได้ เนื่องจากตัวรถโดนน้ำทะเลกัดกร่อนไปแล้ว และข้อควรระวังคือไม่ควรเสียบสายชาร์จและสาย V2L ทิ้งไว้ในช่วงน้ำท่วมเด็ดขาด เพราะเสี่ยงกับการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างมาก

กลับมาที่เหตุการณ์ จ. เชียงใหม่ แม้จะไม่ใช่น้ำทะเลที่มีฤทธิ์เป็นกรด คำถามคือเกิดไฟไหม้ได้อย่างไร ? ปัจจัยที่มีผลทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดเพลิงลุกไหม้ได้ ส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากปฏิกิริยา Thermal Runaway หรือการเกิดความร้อนอย่างฉับพลันในแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้งานในรถ EV ส่วนใหญ่ในตลาด

Thermal Runaway เป็นกระบวนการที่อุณหภูมิของแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินกว่ามาตรฐานที่ตัวแบตฯ กำหนดไว้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของแบตเตอรี่ไม่ได้มาตรฐาน การชาร์จไฟผิดวิธี หรือชาร์จไฟในสภาวะไม่พึ่งประสงค์

ทั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผยสาเหตุของเพลิงไหม้ที่ทำให้รถยนต์ทั้ง 4 คันเสียหาย รวมถึงต้นเพลิงจะมาจากรถ EV จริงหรือไม่ ซึ่งหากเป็นที่รถรุ่นดังกล่าวจริง (Neta X) ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการทดสอบจอดแช่น้ำกว่า 48 ชั่วโมงมาแล้ว ทำไมครั้งนี้ถึงกลายเป็นต้นเพลิงได้ เราคงต้องมาติดตามกันอย่างใกล้ชิด