จากเคส รถบัสไฟไหม้ ที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสาร ที่พบว่ามีอายุการใช้งาน (54 ปี) มากกว่าอายุหลายคนเสียอีก หลายคนถามต่อไปถึงที่มาของรถบัสคันดังกล่าว พบว่ามีการดัดแปลงเครื่องยนต์และช่วงล่าง จนตั้งคำถามถึงมาตรฐานในการประกอบรถในไทย รวมถึงมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ ทำไมจึงมีรถอายุกว่า 50 ปี ขับขี่อยู่บนถนน

ทีมงาน bt มีโอกาสสัมภาษณ์คุณอัศวิน อานามนารถ กรรมการ บริษัท GRP Hightech (9999) จำกัด ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ให้ค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Honda รวมถึงมีแบรนด์ AZZY ชุดแต่งรถ Tesla ของตัวเองด้วย ปีหน้าคุณอัศวินเล่าว่าจะมีชิ้นส่วนสำหรับรถแข่งตามมาด้วย ในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมประกอบรถมองเห็นปัญหาเรื่องนี้และร่วมกันหาทางออกมาฝากกัน

ทำไมรถบัสต้องประกอบเอง ?

ปัญหาเรื่องรถบัสประกอบเองในไทย เป็นปัญหาที่หยั่งรากและฝังลึกมานาน สะท้อนการดิ้นรนของผู้ประกอบการไทยไม่น้อย เนื่องจากรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ มีต้นทุนและต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง รวมถึงการนำเข้ารถยนต์อย่างที่หลายคนรู้กันว่าต้องจ่ายภาษีนำเข้าหลาย 100% (ราคารถบัสในเอเชียมูลค่ารวมภาษีนำเข้า อยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านบาท และหากเป็นแบรนด์ยุโรปอาจพุ่งขึ้นไปถึง 8-9 ล้านบาท) ทำให้การนำเข้ารถบัสอาจไม่คุ้มทุนกับราคาที่ต้องจ่าย และไม่คุ้มค่าที่จะนำเข้ามาขายนั่นเอง

การที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ได้จำเป็นต้องหาทางออก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือการลดต้นทุน หรือพูดให้ชัดคือจำใจลดมาตรฐานบางประเภท เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไปได้ คุณอัศวินเล่าว่า ผู้ประกอบรถบัสหลายเจ้าริเริ่มมาจากการซ่อมรถบัส และอาศัยความรู้ความเข้าใจจากการซ่อมมาสู่การดัดแปลง ตั้งแต่ซ่อมแซมและต่อเติมตัวถัง ยกเครื่องยนต์ใหม่ ขยายซ่อมแซมช่วงล่าง ไปจนถึงเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิง ผสานกับช่องโหว่ของกฎหมาย จนกลายเป็นธุรกิจต่อรถบัสขึ้นมา ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่บนความเข้าใจเรื่องของมาตรฐาน (ที่ควรจะมี) ตั้งแต่แรก

รถบัสดัดแปลงอะไรบ้าง ?

คุณอัศวินเล่าว่าวิธีการดัดแปลงรถบัสโดยสารในไทยมีอยู่ไม่กี่วิธี ปัจจุบันนิยมใช้วิธีการซื้อโครงรถบัสเก่าอายุ 30-50 ปี ในราคาไม่กี่แสนบาท (ราคาโครงรถบัสประมาณ 250,000 – 600,000 บาท แล้วแต่อายุการใช้งาน) นำตัวถังมาซ่อมแซมและยกเครื่องใหม่ เนื่องจากเครื่องยนต์เดิมที่ติดมากับตัวรถ เป็นเครื่องยนต์สมัยพระเจ้าเหา กำลังเครื่องไม่เกิน 200 แรงม้า แถมกินน้ำมันค่อนข้างมาก

เมื่อมีการยกเครื่องและต่อเติมตัวถังใหม่ จึงต้องมีการดัดแปลงช่วงล่างหรือแชสซีให้สามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ รถบัสบางคันอาจมีการดัดแปลงเพื่อเพิ่มที่นั่งผู้โดยสาร โดยการต่อเติมโครงใหม่ จากเหล็กกล่องและหล่อไฟเบอร์ พร้อมปูพื้นใหม่ ให้กลายเป็นรถบัส 2 ชั้น บางคันผ่านการดัดแปลงมาแล้ว 2-3 ครั้ง ปรับปรุงระบบเกียร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น เห็นได้จากเคสรถบัสไฟไหม้ มีการดัดแปลงจากตัวรถแบรนด์ Isuzu มาใส่เครื่องยนต์ Mercedes-Benz ที่เหมาะกับการขับขี่ทางไกลมากกว่าในภายหลัง

นอกจาการดัดแปลงตัวรถแล้ว ยังรวมไปถึงการดัดแปลงเชื้อเพลิง จากเดิมรถบัสรุ่นเก่า ๆ ส่วนใหญ่มักขับเคลื่อนด้วยเชื้องเพลิงดีเซล แต่ภายหลังเชื้อเพลิงแบบก๊าซได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรถูกกว่าเชื้อเพลิงประเภทดีเซลชัดเจน เราจึงได้เห็นรถบัสโดยสารติดก๊าซออกมาขับขี่ให้เกลื่อนถนน รวมถึงการติดตั้งส่วนประกอบด้านความปลอดภัย (ที่ต้องมี) เช่น ถังดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน ค้อนทุบกระจก เข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ไปจนถึงอุปกรณ์สะท้อนแสง ก็ติดตั้งมาให้พอผ่านมาตรฐาน

อีกวิธีการที่ค่อนข้างได้รับความนิยม คือการเอารถบัสรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อย หรือรถที่สิ้นอายุจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว (ช่วงปี 2000 เป็นต้นมา) มารีโนเวตใหม่ ข้อดีคือคุณอาจได้รถที่มีเครื่องยนต์และเทคโนโลยีติดรถดีกว่ารุ่นเก่าแก่หน่อย หรือวิธีการสุดท้ายที่อาจจะได้รับความนิยมน้อยกว่า เพราะมีราคาต้นทุนที่สูงขึ้นคือการนำเข้าอะไหล่ แชสซีจากต่างประเทศมาประกอบเองในไทย ซึ่งทำให้ตัวรถมีมาตรฐานค่อนข้างสูง แลกมาด้วยราคาบริการที่สูงตามไปด้วย

มาตรฐานอยู่ตรงไหน ?

ปัญหาหนึ่งคือมาตรฐานของไทยอ่อนแอเกินไปและบังคับใช้ได้ไม่จริง คุณอัศวินเล่าว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความชำนาญและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์เหมือนกับประเทศเยอรมันหรือญี่ปุ่น ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและคิดค้นกฎหมายบังคับใช้ด้วยตัวเอง อย่างมาตรฐาน Euro NCAP ที่ใช้กับรถยนต์ใช้งานทั่วไปในตลาด ทำให้มีความเข้าใจในการออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่มีมาตรฐาน รวมถึงมีการอัปเดตมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เท่าทันอยู่เสมอ

ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศรับจ้างผลิต ซึ่งอาจไม่ได้เข้าใจมาตรฐาน (ที่ควรจะเป็น) เทียบเท่ากับประเทศผู้ผลิตโดยตรง กฎเกณฑ์บางข้ออาจยังไม่ครอบคลุม รวมถึงไม่ได้อัปเดตมานานแล้ว จึงเรียกได้ว่ายังมีช่องโหว่ในกฎระเบียบอีกมาก ยกตัวอย่างมาตรฐานรถบัสโดยสารปรับอากาศ 2 ชั้น ที่กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศข้อกำหนดให้รถที่มีความสูงเกินกว่า 3.60 เมตร ไม่เกิน 4 เมตร จะต้องเข้าทดสอบการวิ่งบนพื้นลาดเอียง 30 องศา ทว่าในกรณีที่ไม่ผ่านมาตรฐานก็ยังสามารถขับขี่ได้ โดยใช้วิธีการติด GPS ที่รถแทนและหลีกเลี่ยงเส้นทางอันตราย หากรถบัสขับเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง GPS ก็จะแจ้งเตือนมาที่ขนส่งทันที ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่าช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง

ทางออกของปัญหา

อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมประกอบรถในไทย ที่มักเกิดขึ้นแถวบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในฐานะเป็นเจ้าใหญ่ในการประกอบรถบัสและรถยนต์ ทำให้พื้นที่เหล่านั้นเติบโตขึ้นอย่างมาก และมีชื่อเสียงในการต่อรถบัส รวมถึงชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ชนิดอื่น ๆ ถึงแม้ว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นก็ยังคลุมเครืออยู่ก็ตาม คุณอัศวินได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เขาในฐานะเป็นผู้ประกอบรถยนต์ใช้งานทั่วไป ก็อยู่ในจุดเดียวกับผู้ประกอบการรถบัสโดยสาร

ทั้งนี้การแก้ปัญหาระยะสั้นทำได้โดยภาครัฐต้องเข้ามาช่วยด้วยการลดภาษีนำเข้า อย่างน้อยเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของรถคันใหม่แทนที่รถรุ่นเก่าที่กำลังใช้กันอยู่บนถนน ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางคือต้องให้ความรู้กับผู้ผลิต เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ พร้อม ๆ กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและตามจริง รวมถึงทุกภาคส่วนต้องปฏิบัติตามพร้อมกัน จึงจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยยกระดับตัวเองขึ้นมาได้และมีศักยภาพมากขึ้น สุดท้ายเมื่อมีรถรุ่นใหม่ มาตรฐานใหม่ ในระยะยาวเราอาจจะเป็นผู้ผลิตตัวถังเบอร์หนึ่งในอาเซียนก็เป็นได้