เรามีโอกาสได้มาเยี่ยมชมงาน Chery Global International Conference 2024 (CGIC 2024) ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของ Chery Automobile บริษัทแม่ของ OMODA & JAECOO ประเทศไทย 1 ใน 4 ผู้ผลิตรถรายใหญ่ของประเทศจีน มีสำนักงานใหญ่และโรงงานประกอบรถหลักอยู่ที่เมืองวู้หู (Wuhu) เป็นเมืองของ Chery เลยก็ว่าได้ ถึงขนาดรถทดสอบทุกคันของ Chery จะขึ้นทางด่วนฟรีด้วย คิดดูสิ !

ก่อนอื่นไปทำความรู้จักแบรนด์ Chery ให้มากขึ้นสักหน่อย บริษัท Chery ก่อตั้งในปี 1997 ซึ่งถือว่าไม่นานมากนัก แต่สามารถก้าวขึ้นมาเป็น Big 4 ผู้ผลิตรถของจีนได้ ทำยอดขายได้มากกว่า 1.8 ล้านคันในปี 2023 ภายใต้แบรนด์ Chery จะประกอบด้วยแบรนด์ย่อยอีกมากมาย ได้แก่ Chery รถภายใต้แบรนด์เดียวกับชื่อบริษัท มีรุ่นย่อยอย่าง TIGGO หรือ ARIZZO สำหรับใช้งานในจีน, OMODA & JAECOO ทั้งสองแบรนด์นี้แยกกันในจีน แต่ทำตลาดในไทยรวมเป็นแบรนด์เดียว OMODA จะเป็นรถเอสยูวีใช้งาน ส่วน JAECOO จะมีความออฟโรดและพรีเมียมขึ้นหน่อย, iCAR อีกแบรนด์ที่เน้นไลฟ์สไตล์ออฟโรด ใช้พื้นฐานเดียวกับ JAECOO แต่ราคาจับต้องได้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Jetour ซึ่งเป็นรถกึ่ง ๆ ออฟโรฟและเอสยูวี เน้นความพรีเมียมเช่นกัน ส่วนรถที่อยู่ท็อปเทียร์จะเป็นแบรนด์ Exeed และ Exlantix (สำหรับส่งออกต่างประเทศ) รวมถึงยังมีร่วมกิจการค้ากับ Jaguar และ Land Rover ด้วย และขาดไม่ได้กับ Luxeed ที่ไปจับมือกับ Huawei ร่วมกับผลิตรถออกมาอีกด้วย ยังไม่หมดนะครับ เพราะงานนี้เขาเพิ่งเปิดตัวแบรนด์ใหม่ชื่อว่า Lepas พร้อมนำเสนอรถเอสยูวีรุ่นแรกที่ได้แรงบันดาลใจมากจากเสือดาวอีกด้วย พี่จะเยอะไปไหนเนี่ย สรุปง่าย ๆ ว่าบ้านเรามีแค่ OMODA & JAECOO เท่านั้น

OMODA & JAECOO

หลังจาก OMODA & JAECOO ประเทศไทย เปิดตัวด้วยรถเอสยูวี OMODA C5 EV และ JAECOO 6 EV ไปเมื่อช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 และเตรียมนำรถรุ่นใหม่มาโชว์ตัวในงาน Motor Expo 2024 ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งเรามีโอกาสได้มาสัมผัสคันจริงเวอร์ชันขายที่จีนก่อน เลยนำมาฝากกันว่ามีรุ่นไหนบ้าง แต่วันนี้เราขอหยิบมานำเสนอเพียงแค่ 3 รุ่นก่อน ซึ่งอาจจะมีการอัปเดตเพิ่มอีกภายหลังก็เป็นได้

OMODA C9

เริ่มต้นที่ OMODA C9 ที่ดัดแปลงมาจากรถ EXEED 09 ในประเทศจีน ทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ จะดูพรีเมียมมากกว่า OMODA C5 เดิมอย่างชัดเจน ซึ่งที่จีนมีให้เลือกทั้งรถปลั๊กอินไฮบริดและ EV แต่เวอร์ชันที่นำไปขายที่ไทยน่าจะเป็น EV สอดรับกับนโยบายส่วนลดด้านภาษี

OMODA C9 ขนาดตัวรถ 4,781 x 1,920 x 1,671 mm ฐานล้อยาว 2,815 mm (4,400 x 1,830 x 1,588 mm ฐานล้อ 2,630 mm) ใหญ่กว่า C5 EV เดิมในทุกมิติ เวอร์ชันที่เราได้ลองคือขับเคลื่อนสองล้อ แต่ยังขับเคลื่อน 4 ล้อ (1 เครื่องยนต์ 3 มอเตอร์) ด้วย มาพร้อมแบตเตอรี่ CATL ขนาด 35.4 kWh ขับขี่ไฟฟ้าได้ไกล 160 (มาตรฐาน WLTC) ระยะทางขับขี่รวมได้มากกว่า 1,300 km

อย่างที่บอกว่า OMODA C9 มาพร้อมความหรูหรามากขึ้น โดยเฉพาะภายในห้องโดยสารให้ความรู้สึกเหมือนรถยุโรป ตั้งแต่จอโค้งยาวขนาด 24.6 นิ้ว สีภายในเลือกได้มากกว่า 64 เฉด ลำโพงจาก Sony 14 ตัวรอบคัน รวมถึงมีระบบน้ำหอมในตัวรถให้ใส่ได้ 3 ช่อง กล้อง 540 องศารอบคันรวมภาพใต้รถ ระบบสั่งการด้วยเสียงรองรับ 4 ตำแหน่ง ระบบ ADAS กว่า 20 ระบบ มีแอร์ด้านหลังพร้อมปรับเบาะ ไปจนถึง AR HUD หลังคาซันรูฟพร้อมม่าน เปิดปิด 3 จังหวะ ด้านนอกก็ดีไซน์ประตูเปิดราบไปกับตัวรถ ช่องชาร์จย้ายจากด้านหน้ามาไว้ฝั่งซ้ายด้านหลังรถแล้ว ค่อยดูเข้ายุคตรงสมัยใหม่

เราได้ลองขับขี่ในเมืองวู้หูระยะสั้น ๆ ทดสอบการขับเคลื่อนและช่วงล่าง ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่า C5 EV อย่างมาก พวงมาลัยตอบสนองโอเค ไม่มีอาการโยนให้เห็น (ขับความเร็วไม่เกิน 60 km/h) และช่วงล่างค่อนข้างเฟิร์มกว่ารุ่น C5 EV เขาเคลมว่ามีอัตราสิ้นเปลืองพลังงาน 22.6 kWh/ 100km พร้อมด้วยถังน้ำมัน 70 ลิตร จึงทำให้ขับได้ไกลกว่า 1,300 km แม้ตัวรถจะใหญ่ขึ้นแค่ควบคุมง่าย และขับสบายกว่าที่คิด

JAECOO 7 PHEV

สานต่อความสำเร็จของ JAECOO 6 EV ด้วยรถพลังงานปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของ JAECOO 7 PHEV (เข้าไทยน่าจะใช้ชื่อเดียวกัน) รถปลั๊กอินไฮบริดทรงกล่อง แม้จะไม่เหลี่ยมเท่ากับ JAECOO 6 แต่ขนาดตัวรถยาวกว่าที่ 4,500 x 1,865 x 1,670 mm ฐานล้อยาว 2,672 mm (เทียบกับ J6 4,406 x 1,910 x 1,715 mm ฐานล้อ 2,715 mm)

JAECOO 7 PHEV มาพร้อมเครื่องยนต์ +DHT 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 255 kW ประมาณ 340 Ps ทำความเร็วสูงสุด 180 km/h และแบตเตอรี่ขนาด 18.3 ​kWh ขับขี่ไฟฟ้าได้ประมาณ 106 km (มาตรฐาน NEDC) ระยะทางรวมมากกว่า 1,200 km ซึ่งช่วงที่เราไปเขามีจัดกิจกรรมทดสอบรถ JAECOO 7 PHEV จากเมืองกวางโจวมาที่เมืองวู้หูเป็นระยะทาง 1,353 km โดยใช้น้ำมันแค่ถังเดียว ซึ่งถือว่าเอาอยู่นะ

JAECOO 7 PHEV รองรับการชาร์จ DC สูงสุด 45kW ชาร์จเพียง 20 นาที (30-80%) ซึ่งสเปกนี้ยังเป็นเวอร์ชันที่ขายในจีนอยู่ เมื่อเปิดตัวในไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

เราได้ลองขับ JAECOO 7 PHEV เช่นกัน และคาดว่าน่าจะเป็นรุ่นที่เปิดตัวถัดไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 โดยเน้นขนาดตัวรถที่ยาวกว่า J6 เดิม พร้อมนำเสนอความพรีเมียมมากขึ้น ภายในห้องโดยสารมีความหรูหราเหมือนรถยุโรปเข้าไปอีก มาพร้อมจอแนวตั้ง ที่ชาร์จไร้สาย แอร์เบาะหลัง รองรับระบบ ADAS กว่า 19 ระบบ กล้อง 540 องศา รองรับ V2L 3.3 kW ด้วย

ส่วนตัวเราชอบ JAECOO 6 EV อยู่แล้วที่มีความเฟิร์มระดับหนึ่ง ขณะที่ JAECOO 7 PHEV จะรู้สึกช่วงล่างนุ่มขึ้นเล็กน้อย ขับขี่สบายขึ้น ไม่ดูเป็นรถออฟโรดจ๋าเท่ากับ J6 เขาเคลมว่า อัตรากินน้ำมัน 5.99 L/100 km สามารถเลือกปรับโหมดขับขี่ได้ 3 แบบ Eco, Normal และ Sport ที่ค่อนข้างพุ่งเลยทีเดียว การตอบสนองถือว่าทำได้ดีกว่า OMODA C9 ที่ลองขับด้วยกัน

ระบบปฏิบัติการที่หน้าจอค่อนข้างใช้งานง่าย ทำความคุ้นเคยสักพักก็มีอะไรให้ปรับไม่เยอะ หรือปัดหน้าจอเพื่อเลือกฟังก์ชันลัดต่าง ๆ เช่น เปิดปิดประตู หรือ Auto Hold ส่วนปุ่มกดก็มีให้ปรับโหมดขับขี่ ควบคุมแอร์และปลกล็อกประตูเช่นกัน ใช้งานสะดวกดี ไม่ถึงขนาดไร้ปุ่มกดแบบใน J6 ส่วนเรื่องระบบรีเจนที่ติดมากับรถถือว่าทำได้ค่อนข้างโอเค ไม่ดึงแรงจนปวดหัว แต่ก็อาจจะเบาไปนิดหน่อย ไม่ถึงขั้นความเร็วรถตกแบบรู้สึกได้ น่าจะเพิ่มแรงดึงมากกว่านี้หน่อย คนที่ชอบรถเอสยูวีลุยได้ หน้าตาไม่ออฟโรดเท่า J6 คันนี้น่าจะตอบโจทย์

iCAR V23

อีกหนึ่งแบรนด์ที่คาดว่าน่าจะเข้าไทยเช่นกันคือ iCAR ซึ่งใช้แพลตฟอร์มเดียวกับ JAECOO ในสไตล์ออฟโรดเช่นกัน แต่ออกแบบมาให้เป็นรถใช้งานเริ่มต้น ปลดฟีเจอร์บางอย่างออกไป ให้ราคาจับต้องได้มากขึ้น ซึ่งตัวรถมีขนาดเล็กกว่า JAECOO 6 EV ชัดเจน (ในจีนใช้ชื่อว่า iCAR V03 เข้าไทยอาจจะใช้ชื่อ JAECOO 3) ที่ 4,220 x 1,915 x1,845 mm ฐานล้อยาว 2,735 mm มีทั้งตัวเลือกขับสองล้อหลังและขับสี่ล้อ

iCAR V23 (อ่านว่า ไอคาร์ วีสองสาม) ดีไซน์ทรงกล่องคล้าย JAECOO แต่หน้าตาสุดโต่งไปทางออฟโรดมากกว่า จัดเต็มออฟโรดกว่าด้วยการให้ล้อชิดขอบตัวรถ ทำระยะมุมเอียงจากล้อได้มากกว่า J6 จึงสามารถไต่ที่ชันได้ดีว่านั่นเอง ภายในห้องโดยสารแม้จะมีความใกล้เคียงกับ J6 แต่จะมีความเรโทรด้วยการใช้ปุ่มกดและไดอัลแบบหมุน เสริมเทคโนโลยีด้วยที่ชาร์จไร้สาย ในรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อมาพร้อมแบตเตอรี่ 70 kWh ขับขี่ไฟฟ้าไกล 500 km กำลัง 155 kW ทำความเร็วสูงสุด 140 km/h ส่วนรุ่นขับเคลื่อนล้อหลังจะให้กำลังสูงสุด 100 kW และขับได้ไกลประมาณ 400 km เท่านั้น

โดยรวม iCAR V23 ให้ความรู้สึกแข็งจากวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ภายในตัวรถ ทั้งวัสดุบุผนัง พวงมาลัย คอนโซลต่าง ๆ เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับ OMODA C9 หรือ JAECOO J7 PHEV ที่มีความนุ่มและพรีเมียมกว่าเยอะ อย่างไรก็ตาม iCAR V23 ได้เปรียบเรื่องดีไซน์ภายนอกที่ไปทางออฟโรดสุดทาง ตอบโจทย์สำหรับใครที่ชอบรถเล็กแนวนี้ แต่ยังไม่มีตัวเลือกนอกจาก Jimny โดยเฉพาะการตัดพื้นที่ด้านล่างคอนโซลหน้าออกให้โล่ง ๆ ผู้โดยสารข้างคนขับสามารถเดินออกทางฝั่งคนขับได้เลย เอาไว้ในกรณีเข้าป่าหรือที่จอดแคบ ๆ ในเมืองน่าจะสะดวกดี

ส่วนเรื่องการขับขี่ก็ไม่ต่างจากวัสดุที่เห็นเท่าไหร่ มีความแข็ง ๆ ดิบ ๆ สไตล์ออฟโรด โดยตัดออปชันหลายอย่างทิ้ง ทั้งไม่มีแอร์สำหรับที่นั่งหลัง และระบบความปลอดภัยหลาย ๆ อย่าง รวมถึงซันรูฟที่ขาลุยน่าจะชอบกันก็ไม่มี ถือว่าเป็นรถที่ได้ดีไซน์แต่งานไม่ได้ประณีตและสะดวกสบายเหมือนรถใช้งานทุกวัน แต่เน้นการเข้าถึงได้ เป็นรถของเล่นให้คนชอบคัสตอมรถได้สนุกสนานในวันหยุด ซึ่งหากดูจากความต้องการของ JAECOO 6 EV ในตลาดแล้ว ไม่น่าผิดคาดที่ iCAR V23 จะทำได้ดีในตลาดไทยเช่นกัน หากตั้งราคาถูก

นี่คือบางส่วนของรถยนต์จากบริษัท Chery Automobile ที่น่าจะนำเข้ามาทำตลาดในไทยโดยบริษัท OMODA & JAECOO ประเทศไทยในปี 2025 หรืออย่างเร็วเราน่าจะได้ชมตัวอย่างคันจริงในงาน Motor Expo 2024 ช่วงเดือนธันวาคมนี้ ส่วนรถจาก Chery ที่เราไปเยือนถิ่นฐานบ้านเกิดของเขามายังมีอีกหลายคัน เดี๋ยวจะทยอยนำมาลงให้ชมกันเรื่อย ๆ ว่า Chery มีดีมากกว่าแค่รถ และให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ไม่น้อยกว่าพัฒนาเทคโนโลยีเลยทีเดียว