5 ส.ค. Mercedes-Benz ประกาศร่วมมือกับ CATL ในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรีสำหรับ Mercedes-Benz EQS รถยนต์ซีดานไฟฟ้าสุดหรูที่จะเปิดตัวในปีหน้าโดยให้ระยะวิ่งมากกว่า 700 กม. ซึ่งจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาแบตเตอรีเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในเทคโนโลยีแบตเตอรีและยังช่วยเร่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์

การพัฒนาในครั้งนี้จะใช้การออกแบบแบตเตอรีของ CATL ที่เรียกว่า cell-to-pack (CTP) เพื่อนำเซลล์แบตเตอรีมาประกอบกันเป็นแพ็กโดยตรง ซึ่งจะข้ามขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูล เพื่อใช้สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถตู้ของ Mercedes-Benz

การร่วมมือระหว่าง Mercedes-Benz และ CATL จะพัฒนาแบตเตอรีลิเธียมไอออนที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมาย คือ มีกระบวนการพัฒนาที่สั้นลง เพิ่มระยะในการวิ่งด้วยการเก็บพลังงานได้หนาแน่นขึ้นและลดเวลาในการชาร์จ ซึ่งจะเน้นเจาะตลาดรถหรู เริ่มจากรถยนต์ซีดาน EQS วิ่งได้ไกลกว่า 700 กม. และชาร์จได้เร็วเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ EQS รุ่นปัจจุบัน

ปกติรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจะใช้เซลล์แบตเตอรี หรือ ส่วนย่อยที่สุดของแบตเตอรีมาประกอบกันเป็นโมดูล จากนั้นจึงนำโมดูลมารวมกันเป็นแพ็กเพื่อติดตั้งเข้ากับรถยนต์ เช่น รถยนต์ BMW i3 จะใช้แบตเตอรี 96 เซลล์ โดยจะประกอบ 12 เซลล์รวมกันเป็น 1 โมดูล และนำ 8 โมดูลมารวมกันเป็น 1 แพ็ก

Mercedes-Benz เป็นแบรนด์รถยนต์ภายใต้บริษัท Daimler AG ซึ่งมีบริษัทที่ช่วยจัดหาแบตเตอรี ได้แก่ 3 บริษัทในเกาหลีใต้ คือ SK Innovation, LG Chem และ Farasis รวมอีกหนึ่งบริษัทของจีน คือ CATL นอกจากนี้ Daimle ยังมีเครือข่ายผลิตแบตเบอรีอยู่ถึง 9 แห่ง คือ 5 แห่งในเยอรมนี, ปักกิ่งประเทศจีน, กรุงเทพฯ ประเทศไทย, Tuscaloosa สหรัฐฯ และ Jawor โปแลนด์

ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายอันดับ 1 ของปี 2018 และ 2019 ก็คือ Tesla โดยเตรียมจะเปิดตัวเทคโนโลยีแบตเตอรีในงาน Baterry Day เดือนกันยายนนี้ ก็อยากจะรู้เหมือนกันแบตเตอรีของ Mercedes-Benz ที่นำเสนอสำหรับรถหรูกับแบตเตอรีของ Tesla จะแตกต่างกันอย่างไร

ที่มา : reuters และ media.daimler.com ขอบคุณภาพจาก Pixabay

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส