Our score
7.7

รีวิว Denza D9 รถตู้ไฟฟ้าแบรนด์น้องใหม่ แค่รุ่นเริ่มต้นก็พอ ช่วงล่าง FSD นั่งสบายได้ออปชันพอกัน

จุดเด่น

  1. เน้นทำราคาขายต่ำ 2 ล้านบาท
  2. ออปชันมีให้เกือบครบ ครอบคลุมการใช้งาน
  3. ขับขี่สบาย นุ่มนวล มีโคลงเคลงบ้างตามสไตล์รถใหญ่

จุดสังเกต

  1. ส่วนต่าง 7 แสนบาท รู้สึกไม่คุ้มค่า จบได้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น
  2. ที่นั่งแถวสามพื้นที่น้อยไปหน่อย เมื่อเทียบกับรุ่นอื่น ๆ ในตลาด
  • รถตู้ไฟฟ้า ออปชันมีให้ ขายไม่ถึง 2 ล้านบาท

    7.7

หลังจาก Denza D9 เปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นอีกตัวเลือกของรถตู้ไฟฟ้า ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดอีกรุ่น ตามหลัง Zeekr 009 และ XPENG X9 รวมถึงเจ้าตลาดเดิมอย่าง Maxus 9 รวมถึง Alphard ด้วย แถมเปิดตัวมาแค่ 2 สัปดาห์กวาดยอดจองไปกว่า 1,000 คันเป็นที่เรียบร้อย วันนี้เรามีโอกาสได้ลองขับขี่และลองนั่งประสบการณ์แบบผู้บริหาร ที่เดินทางด้วยรถตู้เป็นหลัก ให้ความรู้สึกอย่างไร

ขนาดตัวรถ

ลองเทียบขนาดตัวรถกับคู่แข่งในตลาดดูก่อนว่า Denza D9 ได้เปรียบเสียเปรียบใครบ้าง

  • Denza D9 ขนาด 5,250 x 1,960 x 1,920 mm (ฐานล้อ 3,110 mm)
  • MG Maxus 9 ขนาด 5,270 x 2,000 x 1,840 mm (ฐานล้อ 3,200 mm)
  • XPENG X9 ขนาด 5,293 x 1,988 x 1,785 mm (ฐานล้อ 3,160 mm)
  • Zeekr 009 ขนาด 5,207 x 2,024 x 1,856 mm (ฐานล้อ 3,205 mm)
  • Toyota Alphard ขนาด 5,100 x 1,850 x 1,950 mm (ฐานล้อ 3,000 mm)

จากตัวเลขขนาดตัวถังของ Denza D9 ก็ไม่ได้ชนะใครขาด โดยเฉพาะความกว้างและฐานล้อ แทบจะเป็นรองรถตู้ไฟฟ้าทุกรุ่น แต่ได้ความยาวของตัวรถมาชดเชย เป็นรองแค่ Alphard เท่านั้น

รุ่นย่อย

Denza D9 สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม e-Platform 3.0 ที่พัฒนาสำหรับรถพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะจาก BYD พร้อมแบตเตอรี่ขนาดเดียวคือ 103.36 kWh แบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย ได้แก่ รุ่น Premium ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า มอเตอร์เดี่ยว 230 kW ขับขี่ได้ระยะทางประมาณ 600 km และรุ่น Performance AWD มอเตอร์คู่ 275 kW ขับเคลื่อน 4 ล้อ ระยะทาง 580 km (มาตรฐาน NEDC) ซึ่งวันนี้เราได้เทสต์ทั้งสองรุ่นย่อย

ส่วนที่แตกต่างระหว่างรุ่น Premium และ Performance

  • จำนวนมอเตอร์ 1 ตัวในรุ่น Premium และ 2 ตัวในรุ่น Performance
  • เบาะวัสดุหนัง Nappa และหนังกลับที่เพดานในรุ่น Performance (รุ่นเริ่มต้นใช้หนัง PU)
  • ช่วงล่าง Disus-C ในรุ่น Performance ขณะที่รุ่นเริ่มต้นได้ระบบกันสะเทือน FSD
  • Head up display ในรุ่น Performance
  • กล้องมองภาพที่กระจกมองหลัง ในรุ่น Performance
  • ระบบความปลอดภัยบางอย่างไม่มีรุ่นเริ่มต้น เช่น Lane Keep Warning

ห้องโดยสาร

แน่นอนว่ารถตู้แบบนี้ ห้องโดยสารถือเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ใช้พิจารณา ซึ่ง Denza D9 ให้เบาะกัปตัน 2 ตำแหน่ง รองรับ memory seat ทั้งสองตำแหน่ง มาพร้อมฟังก์ชันเป่าลมและนวด (ฟีเจอร์เยอะขึ้นในรุ่น Performance) สามารถควบคุมฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น เปิดปิดกระจก ม่านหลังคาไฟฟ้า ไปจนถึงควบคุมอุณหภูมิตู้เย็นผ่านจอดิจิทัลขนาดเล็ก 5.5 นิ้ว ทำความเย็นได้ระดับ -5 องศา สูงสุด 50 องศา เรียกได้ว่าเครื่องดื่มพอเป็นวุ้นได้เลย ด้านข้างตัวเบาะมีช่องเสียบชาร์จโทรศัพท์ไร้สายกำลังสูงสุด 50W รวมถึงช่องเสียบ USB-C ฝั่งละ 1 ตำแหน่ง ครบองค์ที่ควรจะมี

การขับขี่

เราเคยลองขับขี่ Denza D9 ในสนามพีระ เซอร์กิตไปแล้วครั้งหนึ่งที่ยังเป็นพวงมาลัยซ้ายอยู่ แต่รอบนี้ได้ขับขี่ทั้งสองรุ่นย่อยในพวงมาลัยขวา ประเดิมด้วยรุ่น Premium ขับสองที่นุ่มสบายทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร ในรุ่นเริ่มต้นเราสามารถปรับได้แค่พวงมาลัยและการตอบสนอง (มีให้เลือกแบบ สบาย และ สปอร์ต) ขณะที่รุ่น Performance เราสามารถปรับช่วงล่าง DiSus-C ในโหมดสบายและสปอร์ตได้เช่นกัน ซึ่งช่วงล่าง Disus-C ทำได้นิ่งแน่นกว่าและขับขี่ได้มั่นใจกว่า

แต่หากไม่ได้ใช้ความเร็วสูงมาก ช่วงล่าง FSD ในรุ่นเริ่มต้นก็ถือว่าเพียงพอ มีอาการโคลงเคลงบ้างตามน้ำหนักตัวรถกว่า 2,800 kg (รุ่น Performance) โดยรวมฟิลลิ่งยังคงเน้นไปทางความนุ่มสบายแบบที่รถตู้พรีเมียมควรจะมี

ส่วนเรื่องการประหยัดพลังงาน เราขับขี่แต่ละรุ่นในเส้นทางกรุงเทพฯ – อยุธยา ระยะประมาณ 60 km ซึ่งแต่ละรุ่นกินไฟต่างกันนิดหน่อย ในรุ่น Premium ขับเคลื่อนสองล้อกินไฟประมาณ 20 kWh/100 km คิดเป็นระยะขับขี่ได้ประมาณ 510 km ก็ถือว่าใกล้เคียงกับระยะที่เคลมไว้ 600 km ส่วนรุ่น Performance เราไม่ได้ขับเท้าหนักมากนัก พบว่ากินไฟอยู่ที่ประมาณ 22 kWh/100 km ขับขี่จริงได้ประมาณ 470-480 km จากระยะเคลม 580 km ก็น่าจะเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว

โดยรวม Denza D9 ดูจะเป็นรถตู้ไฟฟ้าสำหรับการใช้งานทั่วไป ขับขี่ในเมือง มีออปชันเพียงพอกับความต้องการ ทั้งความสบายของเบาะที่นั่ง ฟีเจอร์นวดและปรับเอนนอนในโหมดพักผ่อน หลังคากระจกทำให้ห้องโดยสารดูโปร่งโล่ง ตู้เย็นแช่ได้จริง (ช่วงหลังๆ รถเอสยูวีจีนขนาดใหญ่หรือรถ MPV เริ่มใส่จุดนี้มาเกือบทุกรุ่น) โต๊ะทำงานขนาดกำลังดี ขาดก็แต่จอทีวีกลาง ที่บางรุ่นก็มีให้ แต่บางคนก็ไม่ได้ใช้จึงถือว่าไม่มีก็ได้ ทดแทนด้วย W-HUD ที่มีไว้ แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดเยอะมากนัก ส่วนอัตราประหยัดพลังงานก็อยู่ในระดับกลาง ๆ

ที่โดดเด่นก็คงเป็นเรื่องการทำราคาที่กดลงมาต่ำ 2 ล้านบาทได้ในรุ่นเริ่มต้น ส่วนเพิ่มมาในรุ่นท็อปกว่า 7 แสนก็ยังดูไม่ค่อยคุ้มค่ากับส่วนต่างที่เสียไปเท่าไหร่ ถ้าได้แบตเตอรี่เทคโนโลยี 800V เพิ่มมาในรุ่นท็อปคงน่าสนใจขึ้น เพราะปัจจุบันรถตู้ที่ใช้แบตฯ 800V ยังมีแค่ XPENG X9 เท่านั้น เราชอบอีกอย่างคือความง่ายในการใช้งาน ไม่ต้องปรับอะไรเยอะ โหมดก็มีแค่ 3 โหมด (Eco, Standard และ Sport) ช่วงล่างพวงมาลัยก็มีให้เลือกเอาแค่สบายหรือสปอร์ต ความต่างพอสัมผัสได้ แต่ถ้าไม่คิดอะไรจบได้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นเลย

Denza D9 เปิดตัวรุ่น Premium ราคา 1,999,900 บาท และรุ่น Performance AWD ราคา 2,699,900 บาท มาพร้อม Rever Care ในการรับประกันคุณภาพรถยนต์ 8 ปี หรือ 160,000 km รับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือ 160,000 km เช่นกัน ฟรีประกันภัยชั้น 1 พร้อม พ.ร.บ. 1 ปี อุปกรณ์ต่อ V2L และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง